เคยไหม? จู่ๆ ก็มีอาการปวดหัวไม่ทราบสาเหตุ บางครั้งก็ปวดหัวตื้อๆ หนักๆ หรือปวดหัวข้างเดียว บางรายก็อาจมีอาเจียนร่วมด้วย ทำให้เวลาที่มีอาการปวดหัว มักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน หรือการนอนหลับไปหมด
“ปวดหัว” เป็นอาการที่มีสาเหตุมาจากหลากหลายปัจจัย มีทั้งระดับที่ไม่รุนแรง และระดับรุนแรงที่เป็นสัญญาณอันตราย ควรเข้าพบแพทย์ด่วน แล้วแบบนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรหล่ะ?
BeDee จะพาคุณไปทำความรู้จักกับอาการปวดหัวแบบต่างๆ ตั้งแต่สาเหตุ ลักษณะการปวดหัวของแต่ละระดับ วิธีการรักษา การป้องกันไม่ให้ปวดหัว รวมไปจนถึงคำถามที่พบบ่อย
ปวดหัวแต่ละจุดบอกอะไรได้บ้าง
“ปวดหัวทำไงดี?” ก่อนที่จะหาวิธีบรรเทาอาการ เราควรต้องรู้ก่อนว่า ลักษณะการปวดหัวตรงไหนบอกอะไรได้บ้าง เพื่อที่จะได้รู้ถึงสาเหตุที่แท้จริงและวิธีการแก้ไขอย่างเหมาะสม โดยส่วนใหญ่มักจะมีลักษณะอาการปวดหัว ดังนี้
1. ปวดหัวจากไมเกรน
ปวดหัวจากไมเกรน ในช่วงเริ่มต้นจะมีลักษณะการปวดหัวแบบตื้อ ๆ จากนั้นเมื่อระดับอาการรุนแรงขึ้น จะเริ่มปวดหัวตุบๆ เป็นจังหวะ โดยอาจจะปวดศีรษะเพียงข้างใดข้างหนึ่ง มักปวดหัวบริเวณขมับ หรือปวดทั่วทั้งหัว อาจปวดร้าวมาที่กระบอกตา
ระยะเวลาของอาการปวดหัว อาจยาวนาน 4 ชั่วโมง หรือบางรายอาจมีอาการถึง 3 วัน ซึ่งการปวดหัวมาก ๆ อาจมาพร้อมกับอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง ความอยากอาหารลดลง คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ และไวต่อแสง เสียง กลิ่นมากขึ้น นอกจากนี้หากมีอาการปวดหัวไมเกรนมากกว่า 15 วันต่อเดือน ก็มีโอกาสที่จะพัฒนากลายเป็นไมเกรนเรื้อรังได้
2. ปวดหัวจากไซนัสอักเสบ
หากมีอาการปวดหัว และมีประวัติเคยเป็นไซนัสมาก่อน นี่อาจเป็นสัญญาณของอาการ “ไซนัสอักเสบ” โดยอาการที่สังเกตได้คือ รู้สึกปวดหน่วง ๆ บริเวณหน้าผาก รอบกระบอกตา สันจมูก หรือโหนกแก้ม
อีกทั้งยังมีโอกาสที่จะเกิดอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น น้ำมูกไหล หูอื้อ มีไข้ อ่อนเพลีย และหน้าบวม นอกจากนี้ ระดับความรุนแรงของอาการอาจเพิ่มขึ้นได้ เมื่อมีการเคลื่อนไหวร่างกายหรือศีรษะขณะที่มีอาการปวด
3. ปวดหัวจากความเครียด
“โรคเครียด” เป็นหนึ่งในตัวการที่สามารถทำให้เรารู้สึกปวดหัวได้ โดยอาการปวดหัวจากความเครียด มักจะมีลักษณะปวดหัวทั้งสองข้างอย่างต่อเนื่อง ให้ความรู้สึกเหมือนมีบางอย่างบีบรัดที่บริเวณหน้าผากหรือขมับ และอาจมีอาการร่วม ได้แก่ กล้ามเนื้อตึงตัว ปวดกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ มีความไวต่อแสง เสียง
นอกจากนี้ ระยะเวลาของอาการปวดหัวอยู่ที่ประมาณ 30 นาทีขึ้นไป มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว หากยังมีปัจจัยกระตุ้น เช่น ความเครียด ความกังวล ภาวะซึมเศร้า ฯลฯ ซึ่งถ้าหากเป็นติดต่อกันนานกว่า 1 – 3 เดือน จะส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวจากความเครียดเรื้อรังได้

4. ปวดหัวแบบคลัสเตอร์
การปวดหัวแบบคลัสเตอร์ จะมีระดับที่ค่อนข้างรุนแรงกว่าไมเกรน ตำแหน่งที่เกิดขึ้นบ่อยจะอยู่ในบริเวณรอบดวงตา หลังเบ้าตา หรือลามไปขมับ โดยเมื่อมีอาการ คุณจะรู้สึกแสบร้อนและกระสับกระส่ายไปพร้อม ๆ กับการปวด
การปวดหัวแบบคลัสเตอร์นี้ มักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดิมซ้ำ ๆ แต่ละครั้งมักจะมีระยะเวลาประมาณ 15 นาที ไปจนถึง 3 ชั่วโมง และอาจพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ตาบวม ตาแดง รูม่านตาเล็กลง เริ่มคัดจมูก น้ำมูกไหล และไวต่อแสง
5. ปวดหัวจากความผิดปกติของสมอง
บางครั้งอาการปวดหัวก็อาจมาจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณสมอง เช่น การเกิดเนื้องอก มีเลือดออกในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฯลฯ โดยเราสามารถสังเกตได้จากลักษณะการปวดหัวที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน มีระดับอาการรุนแรง
บางรายอาจมีอาการร่วมอื่น ๆ เช่น การทรงตัวแย่ลง เริ่มมองเห็นภาพซ้อน กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีความยากลำบากในการพูดสื่อสาร ปวดหัว อาเจียน ฯลฯ ถือว่าเริ่มมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุต่อไป
ปวดหัวแบบไหนที่ควรพบแพทย์?
“ต้องปวดหัวแบบไหน ถึงขั้นอันตราย ควรพบแพทย์ด่วน?” อาการปวดหัวที่ควรระวัง เพราะอาจมีความเสี่ยงต่อชีวิต มีดังนี้
- ปวดหัวเฉียบพลัน หรือมีอาการปวดหัวอย่างรุนแรงแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
- ปวดหัวร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาการชาบริเวณแขนขา ชักเกร็ง มีไข้ มองเห็นภาพซ้อน อาเจียน ฯลฯ
- ปวดหัวมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ทานยาแล้วอาการก็ยังไม่ดีขึ้น
- ปวดหัวอย่างรุนแรง กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน การนอนหลับ
- มีอาการปวดหัวหลังจากที่ประสบอุบัติเหตุ
ปรึกษาอาการปวดหัวกับคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก ไม่ต้องเดินทาง ไม่มีค่าจัดส่งยา
สาเหตุของอาการปวดหัว
อาการปวดหัวเกิดจากอะไร? สาเหตุของการปวดหัวมีหลากหลายปัจจัย ดังนี้
- ความเจ็บป่วยหรือความผิดปกติทางร่างกาย เช่น การติดเชื้อ ภาวะไซนัสอักเสบ การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ฯลฯ
- โรคประจำตัวผู้ป่วย เช่น ความดันโลหติสูง เนื่องจากผู้ป่วยความดันโลหิตสูงบางรายอาจมีอาการปวดหัวร่วมด้วย
- อารมณ์ คือ มีภาวะเครียด วิตกกังวล หรือซึมเศร้าบ่อยครั้ง
- สภาพแวดล้อม การมีปัจจัยกระตุ้นอยู่ใกล้ ๆ เช่น ควันบุหรี่ สารเคมี กลิ่นน้ำหอม สารที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ แสงสว่าง เสียง สภาพอากาศ อาหารบางประเภท
- พันธุกรรม บางโรคหรือบางภาวะอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม เช่น ไมเกรน หากสมาชิกภายในครอบครัวเคยมีประวัติภาวะดังกล่าว ก็จะมีโอกาสที่คุณอาจจะเป็นด้วยเช่นกัน
- ลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ อดอาหาร ท่าทางหรือพฤติกรรมการนั่ง ยืน เดิน ที่ไม่เหมาะสม ฯลฯ
การรักษาอาการปวดหัว
สำหรับใครที่รู้สึกว่าตนเองมีอาการปวดหัวคล้ายกับข้อมูลข้างต้น แต่ยังไม่มั่นใจว่าเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่ BeDee ขอแนะนำให้เข้าตรวจอย่างละเอียดกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงและการเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม รวดเร็ว ทันท่วงที
อาการปวดหัวแต่ละประเภทมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของผู้ป่วย โดยทั่วไปแล้ววิธีรักษาอาการปวดหัวหลัก ๆ มีดังนี้
- การรักษาอาการปวดหัวด้วยยา
ส่วนใหญ่จะมีการจ่ายยาให้ตามความเหมาะสม เช่น ยาแก้ปวดทั่วไป ยาแก้ปวดไมเกรน การให้ดมออกซิเจนสำหรับผู้ที่มีอาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์ ฯลฯ ผู้ป่วยควรใช้ยาภายใต้การแนะนำของแพทย์และเภสัชกร
- การใช้ศาสตร์ต่าง ๆ
บางครั้งการปวดหัวอาจมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่างของเรา จึงจำเป็นต้องมีการรักษาด้วยการใช้ศาสตร์ต่าง ๆ เข้ามาร่วมด้วย เช่น การทำกายภาพบำบัดสำหรับคนที่มีอาการปวดตึงกล้ามเนื้อ การมีท่าทางการนั่ง ยืน เดิน ไม่เหมาะสม หรือการทำจิตบำบัด เพื่อปรับพฤติกรรม การปรับความคิด หรือหาวิธีการจัดการอารมณ์ที่เหมาะสม เป็นต้น
ดูแลทั้งกายและใจ ช้อปแพ็กเกจกายภาพบำบัดรักษาอาการออฟฟิศซินโดรมพร้อมพูดคุยกับนักจิตวิทยาคลินิกจาก BDMS
- การทดสอบอื่น ๆ เพิ่มเติม
หากคุณมีอาการปวดหัวร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ ด้วย แพทย์อาจต้องใช้เครื่องมือตรวจส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาการร่วมอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบ CT Scan หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI เป็นต้น
การป้องกันอาการปวดหัว
ทำอย่างไรให้ไม่ปวดหัวและไม่กลับมาเป็นซ้ำ? BeDee มีวิธีดูแลตนเองและป้องกันอาการปวดหัวแบบไม่ยาก มาแนะนำคุณ ได้แก่
- หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่อาจก่อให้เกิดอาการปวดหัว เช่น ควันบุหรี่ กลิ่นสารเคมี น้ำหอมที่มีกลิ่นฉุน อาหารบางประเภทเช่น ชีส เนย การดื่มแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยที่ไม่หักโหมมากจนเกินไป
- แบ่งเวลาให้สามารถนอนหลับพักผ่อนได้อย่างเพียงพอ
- เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
- หาวิธีรับมือหรือกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด ความวิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้า
- ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันให้เหมาะสม เช่น การดื่มน้ำเพิ่มขึ้น การแบ่งเวลาหยุดพักสายตาและร่างกายระหว่างทำงาน
- ไม่ใช้ยาปริมาณมากจนเกินไป
- สังเกตและใส่ใจสุขภาพตนเองด้วยการตรวจสุขภาพประจำปี
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาการปวดหัว
นอกจากคำถามที่ว่า “ปวดหัวมากๆ เกิดจากอะไร?”ที่เป็นคำถามยอดฮิตในกลุ่มโรคอาการปวดหัวแล้ว เราก็ได้ทำการคัดเลือกคำถามที่มักพบบ่อยไม่แพ้กันมาฝากทุกคน ได้แก่
ปวดหัวไม่ทราบสาเหตุต้องทำอย่างไร?
เมื่อมีอาการปวดหัวแบบไม่ทราบสาเหตุ ในเบื้องต้นแนะนำว่า ควรสังเกตตนเองทั้งพฤติกรรมก่อนหน้าที่จะมีอาการปวดหัว ลักษณะการปวดหัว โรคประจำตัว พยายามจดบันทึกช่วงเวลาและรายละเอียดของการปวดหัวที่เกิดขึ้น เช่น มักปวดหัวทุกครั้งก่อนมีรอบเดือน แต่พอประจำเดือนหมดอาการปวดหัวหายไป แสดงว่าปัจจัยกระตุ้นของการเกิดอาการปวดหัวคือการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายหรืออาจวัดความดันในช่วงที่มีอาการปวดหัว เพื่อดูว่ามีความดันสูงหรือไม่ และนำข้อมูลไปแจ้งให้แพทย์ทราบ
หากทานยาแก้อาการปวดหัวเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวดหัวรุนแรง ควรรีบเข้าพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงโดยเร็ว และเพื่อที่จะได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที
ปวดหัวเป็นๆ หายๆ ไม่เข้ารับการรักษาอันตรายไหม?
การปวดหัวเป็นช่วง เดี๋ยวก็เป็น แต่เดี๋ยวก็หายไป หากพอจะรู้สาเหตุ เช่น ช่วงนั้นนอนหลับไม่เพียงพอ นอนดึก หรือมีภาวะเครียด ฯลฯ อาจปรับพฤติกรรมเพื่อให้ร่างกายกลับสู่สมดุลได้ แต่ถ้าหากมีอาการปวดหัวบ่อย เป็นๆ หายๆ ติดต่อกัน ก็จะมีโอกาสที่ระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้น หรือพัฒนากลายเป็นการปวดหัวเรื้อรัง จึงควรเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ และหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อป้องกันโรคร้ายที่อาจแฝงตัวอยู่นั่นเอง
ปรึกษาอาการปวดหัวกับคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก ไม่ต้องเดินทาง ไม่มีค่าจัดส่งยา
สรุปอาการปวดหัว หากรุนแรงอย่าปล่อยไว้
“ปวดหัว” เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ มีทั้งแบบระดับอาการรุนแรง และระดับอาการไม่รุนแรง ผู้ที่มีอาการปวดหัว ควรจะต้องสังเกตสุขภาพตนเองให้มาก หากพบว่าเริ่มมีการปวดหัวบ่อย ๆ อาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวดหัวอย่างรุนแรง อย่าปล่อยทิ้งไว้ เพราะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้ ควรรีบเข้าพบแพทย์ เพื่อค้นหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาต่อไป
สำหรับใครที่กำลังอยากเข้ารับการตรวจรักษาแต่ไม่รู้ว่าจะไปที่ไหนดี? BeDee เรามีทีมแพทย์ชำนาญการและแพ็กเกจดูแลสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ที่จะคอยดูแลสุขภาพคุณทุกวัน ทำนัดตามเวลาที่คุณสะดวก ไม่ต้องเดินทาง ปรึกษาหมอออนไลน์ต้องแอป “BeDee” สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
Kuruvilla, D. (2023, January 3). What different types of headaches are there?. MedicalNewsToday. https://www.medicalnewstoday.com/articles/320767
Han, S. (2022, January 5). Why do I have a headache? Causes, types, and remedies. MedicalNewsToday.https://www.medicalnewstoday.com/articles/73936
Robinson, J. (2022, September 14). Headache Basics. WebMD. https://www.webmd.com/migraines-headaches/migraines-headaches-basics
Robinson, J. (2022, January 27). Cluster Headaches. WebMD. https://www.webmd.com/migraines-headaches/cluster-headaches