BeDee

Gaslighting อาชญากรรมแบบ “ปั่นหัว” บิดเบือนความจริง หลอกเหยื่อด้วยคำพูด

Key Takeaways

  • Gaslighting คือพฤติกรรมหรือเทคนิคการชักจูงทางจิตวิทยาที่บุคคลหนึ่งพยายามทำให้อีกฝ่ายรู้สึกสงสัยในความทรงจำ ความรู้สึก หรือการรับรู้ของตนเองจนสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง
  • เกิดขึ้นได้ทั้งในรูปแบบความสัมพันธ์ที่เป็นความรัก เพื่อน ครอบครัว ที่ทำงาน
  • หากสงสัยว่าตัวเองอาจกำลังโดน Gaslight ควรปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาคลินิก

Gaslighting คืออะไร? 

“Gaslighting” คำนี้มาจากละครเวทีและภาพยนตร์เรื่อง Gaslight ในปี ค.ศ. 1944 ที่ตัวละครฝ่ายชายพยายามทำให้ภรรยาของเขาคิดว่าตัวเองกำลังเสียสติ โดยการปรับแสงไฟในบ้านให้มืดลงและบอกว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทำให้ภรรยารู้สึกว่าเป็นฝ่ายคิดไปเองคนเดียวและสงสัยในเรื่องจิตใจของตัวเองว่าอาจมีปัญหา 

 

ในปัจจุบันคำว่า “Gaslighting” คือพฤติกรรมหรือเทคนิคการชักจูงทางจิตวิทยาที่บุคคลหนึ่งพยายามทำให้อีกฝ่ายรู้สึกสงสัยในความทรงจำ ความรู้สึก หรือการรับรู้ของตนเองจนสูญเสียความมั่นใจในตัวเองหรือไม่แน่ในความเป็นจริงในชีวิต ซึ่งมักจะเกิดในความสัมพันธ์ที่มีลักษณะควบคุมหรือมีการใช้อำนาจเหนือกว่า เรียกได้ว่าเป็น Toxic Relationship อีกรูปแบบหนึ่ง โดย Gaslighting เกิดขึ้นได้ทั้งในรูปแบบความสัมพันธ์ที่เป็นความรัก เพื่อน ครอบครัว ที่ทำงาน 

 

ปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาคลินิกที่แอป BeDee ได้ทุกวัน สะดวก เป็นส่วนตัว 

ส่งยาถึงที่ ไม่มีค่าจัดส่ง

Gaslighting มีกี่ประเภท?

ประเภท gaslighting

คำพูดเป็นอาวุธที่ร้ายแรงที่สุดอย่างหนึ่ง ยิ่งหากเราต้องเผชิญกับสิ่งนี้ทุกวันยิ่งบั่นทอนจิตใจแน่นอน Gaslighting หรือการใช้คำพูดเป็นอาวุธเพื่อเปลี่ยนให้ “ผู้บริสุทธิ์” กลายเป็น “เหยื่อ” นั้นมีหลายวิธีด้วยกัน เทคนิคที่พบได้บ่อยมี 4 วิธีดังนี้

ปฏิเสธข้อเท็จจริง

Gaslighting ประเภทแรกคือการไม่ยอมรับ บิดเบือนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น หรือบิดเบือนคำพูด พยายามทำให้อีกฝ่ายเข้าใจว่าคิดผิดไปเอง เช่น “ฉันไม่เคยพูดแบบนั้น” “เธอคิดไปเอง”

บิดเบือนความทรงจำ

การบิดเบือนความทรงจำในรูปแบบนี้คือการทำให้อีกฝ่ายสับสนกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น หรือทำให้เกิดความสงสัยในความทรงจำของตัวเอง เช่น “เธอจำผิดเองหรือเปล่า” “มันไม่ได้เป็นแบบนั้นนะ” 

ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกผิด

อีกหนึ่งเทคนิคที่นิยมใช้คือการทำให้อีกคนเป็นฝ่ายผิด หรือรู้สึกผิดด้วยคำพูดเช่น “ฉันไม่ได้เป็นคนผิดนะ” “ฉันไม่ได้เป็นคนเริ่มเรื่องนี้” “ก็เธอต้องการแบบนี้เอง” “ฉันเหนื่อยมากนะ” “พ่อแม่ทำเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเธอ แต่เธอกลับมองว่าเราทำร้ายเธอ” “เพราะเธอเป็นแบบนี้ไง ฉันถึงมีคนอื่น”

ทำลายความมั่นใจ

สิ่งสำคัญของการทำ Gaslighting คือการทำให้เหยื่อรู้สึกไม่มั่นใจ ขาดความมั่นใจในตัวเอง หรือมี Self-esteem ที่ต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จนเหยื่อเริ่มเชื่อว่าไม่มีความสามารถหรือคุณค่า ซึ่งเทคนิคข้างต้นทั้งหมดจะเริ่มทำให้เหยื่อหมดความมั่นใจในตัวเองลงเรื่อย ๆ

5 สัญญาณที่บอกว่าคุณอาจกำลังโดน Gaslighting 

หลายคนอาจกำลังตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัวและอาจตกอยู่ในจุดที่สภาพจิตใจกำลังอ่อนแอ ย่ำแย่จากการถูกล้างสมองด้วยคำพูดเหล่านี้ BeDee มี 5 สัญญาณที่บอกว่าคุณอาจกำลังตกเป็นเหยื่อของการทำ Gaslighting มาฝากกัน

 

  1. คุณรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้น “มันอาจจะเป็นความผิดของฉันเอง” 
  2. สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง
  3. รู้สึกว่าตัวเองต้องเป็นฝ่ายขอโทษบ่อยครั้ง
  4. มักถูกบอกว่า “คิดไปเอง”
  5. ไม่กล้าตัดสินใจเอง ต้องพึ่งพิงอีกฝ่ายมากขึ้น

วิธีรับมือ Gaslighting

  1. เชื่อมั่นในความรู้สึกของตัวเอง
    ถ้าคุณรู้สึกว่าสิ่งที่อีกฝ่ายพูดหรือทำไม่ถูกต้อง ให้เชื่อในสัญชาตญาณของตัวเอง ฝึกจดจำและยืนยันความจริงในสิ่งที่คุณเห็นหรือเจอมา

  2. บันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
    เขียนหรือบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น สิ่งที่อีกฝ่ายพูดหรือทำ ระบุวันและเวลา การบันทึกจะช่วยให้คุณมีหลักฐานยืนยันความทรงจำของตัวเอง

  3. ตั้งขอบเขตที่ชัดเจน
    สื่อสารขอบเขตของเราอย่างชัดเจน ว่าอะไรคือสิ่งที่เรายอมรับไม่ได้ กล้าปฏิเสธและยืนยันในขอบเขตของตนเอง

  4. สร้างระยะห่าง
    พยายามถอยห่างจากความสัมพันธ์ที่เป็นพิษนั้นหากเป็นไปได้ ค่อย ๆ ยุติความสัมพันธ์

  5. พิจารณาความสัมพันธ์
    หากการ Gaslighting เกิดจากคนใกล้ตัวและไม่สามารถแก้ไขได้ อาจต้องพิจารณาว่าความสัมพันธ์นั้นควรดำเนินต่อไปหรือไม่

  6. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
    หากรู้สึกไม่มั่นใจ กังวล ไม่รู้จะหาทางรับมืออย่างไรดี สามารถปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาคลินิกได้ การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจะช่วยให้เรามีวิธีรับมือและจัดการกับความรู้สึกได้ดีขึ้น

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ Gaslighting

1. Manipulate กับ Gaslight ต่างกันยังไง?

Manipulate หรือการหลอกใช้ คือการกระทำที่มุ่งเน้นการควบคุมพฤติกรรมและการตัดสินใจของเหยื่อชักจูงผู้อื่นให้ทำในสิ่งที่ต้องการโดยใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ เช่น การแสร้งว่าตัวเองเป็นเหยื่อ บิดเบือนความจริง กดดันให้เหยื่อกระทำบางอย่าง สร้างความรู้สึกผิดให้กับผู้ที่ถูกชักจูงเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตัว

 

ในขณะที่ Gaslighting คือการทำให้เหยื่อสงสัยในความทรงจำ ความคิด หรือการรับรู้ของตัวเอง เพื่อควบคุมจิตใจและทำให้เหยื่อพึ่งพาผู้กระทำ 

2. Gaslighting อันตรายหรือไม่?

Gaslight คือรูปแบบของการล่อลวงทางจิตวิทยาที่อันตรายมาก เพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้ถูกกระทำ ผู้ที่ถูก Gaslighting มักจะถูกทำให้สงสัยในความคิด ความทรงจำ หรือการรับรู้ของตัวเอง จนในที่สุดอาจสูญเสียความมั่นใจในตัวเองและพึ่งพาผู้กระทำเป็นหลักหรืออาจเรียกได้ว่าถูกครอบงำโดยสมบูรณ์

3. Gaslighting ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตอย่างไร?

ความสัมพันธ์แบบนี้อาจทำให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อเกิดความเครียดเรื้อรัง วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือสูญเสียความมั่นใจในตัวเองในระยะยาว หากรู้สึกว่าได้รับผลกระทบจนจัดการเองไม่ไหว ควรปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาคลินิก

4. หากคนในครอบครัวหรือคนใกล้ตัว Gaslighting กับเราควรทำอย่างไร?

การเผชิญหน้ากับคนในครอบครัวที่ใช้เทคนิค Gaslighting กับเราอาจเป็นเรื่องยาก ควรพูดคุยอย่างใจเย็น และหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ควรพูดคุยกับบุคคลในครอบครัวที่เข้าใจและรับฟังคุณ หรือขอคำปรึกษาจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาคลินิกเพื่อช่วยประเมินวิธีการแก้ปัญหา

อย่าปล่อยให้ Gaslighting ทำร้ายความรู้สึก 

Gaslighting คือการบิดเบือนความจริงและทำให้เหยื่อสงสัยในความคิดของตัวเอง มักใช้เพื่อควบคุมหรือมีอำนาจเหนืออีกฝ่าย อย่าปล่อยให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อของคำพูดโดยไม่รู้ตัว ปกป้องและดูแลความรู้สึกของตัวเองตั้งแต่วันนี้ ปรึกษาหมอออนไลน์ พยาบาล หรือปรึกษาเภสัชกรได้เลยที่นี่ 


BeDee พบหมอเฉพาะทางเครือ BDMS ได้ทันที ไม่ต้องรอคิว ส่งยาทั่วไทย มั่นใจในความปลอดภัยของข้อมูล


สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS


Content powered by BeDee Expert

ธนวินท์ มีลาภอุดมชัย
นักจิตวิทยาคลินิก


เรียบเรียงโดย

กรวรรณ ใจซื่อกุล

Huizen, J. (2024b, March 22). Examples and signs of gaslighting and how to respond. https://www.medicalnewstoday.com/articles/gaslighting#how-it-works

Gaslighting. (2024, July 1). Psychology Today. https://www.psychologytoday.com/intl/basics/gaslighting

What is gaslighting? | The National Domestic Violence Hotline. (2023, July 4). The Hotline. https://www.thehotline.org/resources/what-is-gaslighting/

Exit mobile version