ไข้เลือดออกอันตรายถึงชีวิต รีบเช็กอาการและวิธีรักษา
โรคไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever) คืออะไร
โรคไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever) คือโรคที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงลายกัดผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกีไม่ว่าจะสายพันธุ์ DENV-1, DENV-2, DENV-3 หรือ DENV-4 เชื้อไวรัสจากตัวผู้ป่วยจะเข้าไปสะสมอยู่ภายในตัวยุงลาย และเมื่อยุงดูดเลือดจากคนอื่นต่อ ๆ ไปจึงทำให้เกิดการแพร่เชื้อติดต่อกันไปเรื่อย ๆ และทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก โรคไข้เลือดออกเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ วิธีสังเกตอาการไข้เลือดออกคือ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหัว บางรายอาจคลื่นไส้ อาเจียน สิ่งสำคัญของไข้เลือดออกคือผู้ป่วยจะมีจุดเลือด หรือจ้ำเลือดเล็ก ๆ ตามผิวหนัง โรคไข้เลือดออกอาจรุนแรงจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
สาเหตุของไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออก เกิดจากยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงลายบ้านเพศเมีย (Aedes aegypti) ดูดเลือดผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) สายพันธุ์ DENV-1, DENV-2, DENV-3 หรือ DENV-4 ที่อยู่ในระยะมีไข้หรือระยะไวรัสแพร่กระจายในกระแสเลือดแล้ว ไวรัสเดงกีจะฝังตัวภายในเซลล์ผนังกระเพาะอาหารและต่อมน้ำลายของยุงลายและค่อย ๆ ฟักตัวใน 8-12 วัน หลังจากนั้นเมื่อยุงลายดูดเลือดผู้อื่นอีกครั้งก็จะทำให้เชื้อไวรัสเดงกีเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ที่ถูกยุงลายดูดเลือด และจะทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกภายใน 3 – 15 วันหลังจากได้รับเชื้อไวรัสหรือโดนกัดนั่นเอง
อาการและระยะของไข้เลือดออก
1. ระยะไข้สูง (Febrile phase)
อาการไข้เลือดออก ระยะแรก ผู้ป่วยจะมีไข้สูงตั้งแต่ 39-40 องศาเซลเซียสแบบเฉียบพลัน โดยอาการไข้จะคงอยู่ประมาณ 2-7 วัน ไข้เลือดออกในระยะนี้จะมีอาการทั่วไปคล้ายไข้หวัด เมื่อรับประทานยาลดไข้แล้วไข้มักจะไม่ลด ผู้ป่วยไม่มีอาการไอ ไม่มีน้ำมูก อาการอื่นที่สังเกตได้ เช่น
- ปวดหัว ปวดเบ้าตา
- หน้าแดง
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อไปจนถึงปวดข้อ ปวดกระดูก
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดท้อง
- มีจุดเลือดหรือจุดไข้เลือดออกขึ้นตามร่างกาย
2. ระยะวิกฤต (Critical phase)
ระยะวิกฤตนี้อาจไม่พบในกลุ่มผู้ป่วยอาการไข้เดงกี (Dengue fever) หรือกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่มีอาการแสดงที่เป็นสัญญาณอันตราย (Dengue without warning signs) อาการไข้เลือดออกในระยะวิกฤตนี้พบส่วนใหญ่ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเป็นครั้งที่ 2 อาการในระยะวิกฤตจะอยู่ในช่วง 3-7 วันหลังผู้ป่วยมีระยะไข้สูง โดยในระยะนี้เป็นระยะที่อันตรายมากที่สุด ควรติดตามอาการอย่างใกล้ชิดเนื่องจากผู้ป่วยจะมีไข้ขึ้นสูงซึ่งอาจทำให้เกิดอาการช็อกได้ อาการอื่นที่อาจเกิดได้ เช่น
- อาการซึม
- ปลายมือปลายเท้าเย็น
- ปัสสาวะน้อยลง
- ความดันโลหิตต่ำ
- หมดสติหรืออาจเสียชีวิตได้
3. ระยะฟื้นตัว (Recovery phase)
ไข้เลือดออกระยะฟื้นตัวเป็นระยะสุดท้ายของโรคไข้เลือดออก หลังจากผ่านระยะไข้สูงและระยะวิกฤตมาแล้วผู้ป่วยจะค่อย ๆ ฟื้นตัว อาการใกล้หายของไข้เลือดออกที่สังเกตได้ เช่น
- ไข้ลดลง
- ชีพจรและความดันโลหิตสูงขึ้นกว่าในช่วงวิกฤต
- ปัสสาวะออกมากขึ้น
- รับประทานอาหารได้มากขึ้น
มีผื่นแดงสาก ๆ หรือในบางรายอาจยังมีจุดเลือดหรือจุดไข้เลือดออกขึ้นตามร่างกายได้เช่นกัน
ปรึกษาไข้เลือดออกกับคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก เป็นส่วนตัว ไม่มีค่าจัดส่งยา
วิธีสังเกตอาการไข้เลือดออกเบื้องต้น
ไข้เลือดออก อาการเป็นอย่างไร แตกต่างจากไข้หวัดทั่วไปอย่างไร เรามีวิธีสังเกตอาการไข้เลือดออกเบื้องต้นมาแนะนำดังนี้
- มีไข้สูงนาน 2-7 วัน ไข้อาจสูงได้ถึง 40 องศาเซลเซียส
- ปวดหัว
- ปวดเบ้าตา
- หน้าแดง ตัวแดง
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อไปจนถึงปวดข้อ ปวดกระดูก
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดท้อง
- ถ่ายเหลว
มีจุดเลือดหรือจุดไข้เลือดออกขึ้นตามร่างกาย
การวินิจฉัยอาการไข้เลือดออก
สำหรับการตรวจวินิจฉัยอาการไข้เลือดออกนั้น แพทย์จะซักประวัติและอาการของผู้ป่วยรวมถึงที่อยู่อาศัยหรือการเดินทางไปยังพื้นที่ที่เกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออก ตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อไวรัสเดงกี ตรวจภูมิคุ้มกันของโรคไข้เลือดออก และตรวจดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC) เพื่อดูปริมาณ ความเข้มข้นและลักษณะของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด
การรักษาไข้เลือดออก
ปัจจุบันไข้เลือดออก รักษาโดยการรักษาตามอาการเนื่องจากยังไม่มียาต้านไวรัสเดงกี เน้นดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่ให้เพียงพอเพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการขาดน้ำ บรรเทาอาการอ่อนเพลียจากโรค หมั่นเช็ดตัวและรับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ทั้งนี้ควรรับประทานตามขนาดและปริมาณที่แพทย์สั่งเท่านั้น นอกจากนี้ห้ามรับประทานยาในกลุ่ม Non-steroidal antiinflammatory drugs หรือ NSAIDsเพราะจะทำให้ เลือดออกมากขึ้น ตัวอย่างยาในกลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen), ไดโคลฟีแน็ก (diclofenac), นาพร็อกเซน (naproxen), เอทอริค็อกสิบ (etoricoxib) และอื่น ๆ
นอกจากนี้หมั่นสังเกตอาการเพิ่มเติมหากพบความผิดปกติมากขึ้น เช่น ผู้ป่วยมีอาการอาเจียนมาก ปวดท้องมาก ตัวเย็นผิดปกติ หรือไม่ปัสสาวะนานกว่า 6 ชั่วโมง ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน
กลุ่มเสี่ยงที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดสามารถพบได้ทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่มักพบบ่อยในกลุ่มเด็กเล็กและกลุ่มคนทำงาน สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่รุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน ได้แก่
- เด็กทารก
- ผู้สูงอายุ
- คุณแม่ตั้งครรภ์
- ผู้ป่วยที่มีปัญหาเม็ดเลือดแดงหรือฮีโมโกลบินผิดปกติ
- ผู้ป่วยโรคแผลในกระเพาะอาหาร
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานความดันโลหิตสูงหอบหืด โรคหัวใจขาดเลือด ไตวายตับแข็ง
- ผู้ที่รับประทานยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroid) หรือยาในกลุ่มยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory หรือ NSAIDs)
ภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้เลือดออก
- ไข้เลือดออกรุนแรง (Dengue hemorrhagic fever)
- ภาวะเดงกีช็อก (Dengue shock syndrome)
- การติดเชื้อไวรัสเดงกีระหว่างคุณแม่ตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ เช่น ภาวะคลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย หรือภาวะเครียดในทารกในครรภ์
การติดเชื้อไวรัสเดงกีจากแม่สู่ลูกผ่านการคลอดตามธรรมชาติ (Mother-to-child viral transmission during childbirth) ในกรณีการคลอดบุตรแบบธรรมชาติซึ่งทำให้ลูกสัมผัสกับเลือดของคุณแม่โดยตรงจนได้รับเชื้อไวรัส
ไข้เลือดออกสามารถเป็นซ้ำได้ และอาการจะทวีความรุนแรงขึ้น
โรคไข้เลือดออกสามารถเป็นซ้ำได้ผู้ป่วยที่เคยรับเชื้อไวรัสเดงกีมาแล้วจะทำให้ผู้ป่วยเกิดภูมิคุ้มกันขึ้นเมื่อได้รับเชื้อไวรัสหรือป่วยเป็นไข้เลือดออกอีกครั้งจึงทำให้การติดเชื้อไวรัสครั้งที่ 2 นั้นรุนแรงหรือตอบสนองต่อเชื้อมากกว่าปกติ
การป้องกันไข้เลือดออก
- ระวังอย่าให้ยุงกัด หลีกเลี่ยงการอยู่ในสวน ป่า หรือที่อับมืด กางมุ้ง สวมเสื้อแขนยาว ขายาว หรือทายากันยุงหากต้องอยู่สถานที่ที่มียุงเยอะ
- ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด ไม่ปล่อยให้มีภาชนะที่มีน้ำขังเป็นเวลานานไว้ภายในบ้าน หรือรอบตัวบ้าน หมั่นเปลี่ยนน้ำในแจกัน อ่างปลา หรือภาชนะใส่น้ำอื่น ๆ บ่อย ๆ
- จัดบ้านไม่ให้รกหรืออับเพราะอาจทำให้ยุงเข้ามาอาศัยในจุดที่อับและมืดได้
- ฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกได้ อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนจะให้ผลดีกับผู้ที่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกมาก่อนเท่านั้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับไข้เลือดออก
ไข้เลือดออกกับชิคุนกุนยา แตกต่างกันอย่างไร?
โรคชิคุนกุนยาเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาซึ่งต่างจากโรคไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกีซึ่งทั้ง 2 โรคนี้มียุงลายเป็นพาหะนำโรคเช่นกัน อาการของโรคชิคุนกุนยาและโรคไข้เลือดออกนั้นมีความใกล้เคียงกันแต่จะแตกต่างกันตรงที่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาจะมีไข้สูงขึ้นอย่างเฉียบพลันกว่าโรคไข้เลือดออกและระยะเวลาของไข้สั้นกว่าประมาณ 2 วัน
ไข้เลือดออก ติดต่อไหม?
โรคไข้เลือดออกไม่ใช่โรคติดต่อจากคนสู่คน แต่ไข้เลือดออกแพร่เชื้อโดยการมียุงลายเป็นพาหะนำโรค อย่างไรก็ตามโรคไข้เลือดออกสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้เช่นกันในกรณีการคลอดบุตรแบบธรรมชาติซึ่งทำให้ลูกสัมผัสกับเลือดของคุณแม่โดยตรงจนได้รับเชื้อไวรัส
เป็นไข้เลือดออก กี่วันถึงจะหาย?
โดยปกติแล้วโรคไข้เลือดออกจะมีระยะในการเกิดโรคประมาณ 3-7 วัน จากนั้นผู้ป่วยจะค่อย ๆ อาการดีขึ้น ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย
สอบถามเรื่องอื่น ๆ กับคุณหมอ