ไข้รากสาดใหญ่ (สครับไทฟัส) โรคที่มาจากตัวไรอ่อนกัด เข้าป่าต้องระวัง
Key Highlight
- ไข้รากสาดใหญ่เกิดจากการการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มริกเก็ตเซีย (Rickettsia) โดยมีพาหะนำโรคคือตัวไรอ่อน
- มักเกิดกับผู้ที่เดินป่าเขา อาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นป่า หรือมีพุ่มไม้เยอะ ภูมิภาคเขตร้อน
- ไข้รากสาดใหญ่ทำให้มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย มีจุดแดง หรือมีรอยคล้ายบุหรี่จี้ตามตัว
ทำความรู้จักกับ ไข้รากสาดใหญ่ คืออะไร
โรคไข้รากสาดใหญ่ หรือ scrub typhus คือโรคติดเชื้อเขตร้อนชนิดหนึ่งที่เกิดจากการการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มริกเก็ตเซีย (Rickettsia) โดยมีพาหะนำโรคคือตัวไรอ่อนที่อาศัยอยู่ตามพุ่มไม้หรือกอหญ้าใกล้พื้นดิน เมื่อเราถูกไรอ่อนกัดจะทำให้ได้รับเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย โดยบริเวณที่ไรอ่อนชอบกัดคือง่ามขา ง่ามรักแร้ ข้อพับต่าง และตามแนวขอบกางเกงและขอบเสื้อชั้นใน
ไข้รากสาดใหญ่มักจะมีการระบาดในภูมิภาคเขตร้อน โดยจะพบมากตั้งแต่ประเทศญี่ปุ่นลงมาจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ในประเทศไทยไข้รากสาดใหญ่มักจะพบในพื้นที่ชนบทและป่า ไม่พบในเขตเมือง และมักพบการระบาดในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันตก โดยการระบาดจะพบมากที่สุดในช่วงฤดูฝนไปจนถึงต้นฤดูหนาว ดังนั้น นักท่องเที่ยวที่จะเข้าไปในพื้นที่ป่า เช่น ไปเดินป่า ไปแคมป์ปิ้ง จึงมีโอกาสในการติดเชื้อได้
ไข้รากสาดใหญ่ เกิดจากสาเหตุใด
โรคไข้รากสาดใหญ่เกิดจากการการติดเชื้อแบคทีเรีย Orientia Tsutsugamushi ซึ่งเป็นแบคทีเรียในกลุ่ม Rickettsia แบคทีเรียชนิดนี้มีพาหะนำโรคคือตัวไรอ่อน ซึ่งมีขนาดเล็กมาก สังเกตด้วยตาเปล่าได้ยาก ไรอ่อนมักจะอาศัยอยู่ตามพุ่มไม้หรือกอหญ้าใกล้พื้นดิน เมื่อคนหรือสัตว์เดินผ่านไรอ่อนพวกนี้จะเกาะติดมาตามผิวหนังได้ เมื่อไรอ่อนเกาะผิวหนังได้แล้วจะกัดผิวหนังเพื่อกินเป็นอาหาร ซึ่งทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดโรคไข้รากสาดใหญ่ได้ในที่สุด
มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย มีจุดแดง หรือมีรอยคล้ายบุหรี่จี้ตามตัวหลังเดินป่าอาจเสี่ยงไข้รากสาดใหญ่ รีบปรึกษาแพทย์ด่วน
อาการของไข้รากสาดใหญ่
โรคไข้รากสาดใหญ่มีระยะฟักตัวประมาณ 10 ถึง 12 วันซึ่งอาการของโรคไข้รากสาดใหญ่ที่มักพบได้มีดังนี้
- มีไข้ หนาวสั่น
- ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตัว
- รู้สึกเบื่ออาหาร
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- คลื่นไส้ อาเจียน
- มีผื่นตามร่างกาย
- บริเวณที่ถูกแมลงกัดมีรอยแดงคล้ายถูกบุหรี่จี้ แต่ไม่เจ็บ
ภาวะแทรกซ้อนจากไข้รากสาดใหญ่
นอกจากอาการทั่วไปของโรคไข้รากสาดใหญ่แล้วหากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาโรคสครับไทฟัสอย่างเหมาะสมอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ดังนี้
- ตับอักเสบ
- ปอดอักเสบ
- ปวดท้อง
- เยื่อหุ้มสมองหรือเนื้อสมองอักเสบ
- กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- ภาวะลิ่มเลือดแข็งตัวทั่วร่างกาย ภาวะเกร็ดเลือดต่ำ
- ไตวายฉับพลัน
ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้สามารถทำให้ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมเสียชีวิตได้
การรักษาไข้รากสาดใหญ่
โรคไข้รากสาดใหญ่หรือScrub Typhus การรักษานั้นแพทย์จะให้การรักษาโดยการจ่ายยายาปฏิชีวนะ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยไม่ควรซื้อยารับประทานเอง แต่ควรมาพบแพทย์เพื่อให้แพทย์วินิจฉัย และจ่ายยาให้ถูกต้อง รวมทั้งประเมินความรุนแรงของโรคด้วย ในรายที่มีอาการโรคสครับไทฟัสรุนแรงมากหรือมีภาวะแทรกซ้อน ซึ่งวิธีการรักษาไข้รากสาดใหญ่นั้นขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละคน
สอบถามการรักษาโรคไข้รากสาดใหญ่กับแพทย์ที่แอป BeDee สะดวก ไม่ต้องเดินทาง
ไข้รากสาดใหญ่ ป้องกันได้
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้รากสาดใหญ่แต่เราสามารถป้องกันได้ดังนี้
- ปรึกษาแพทย์ก่อนการเดินป่าหรือแคมป์ปิ้งเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อโรคไข้รากสาดใหญ่หรือโรคอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นและรับคำแนะนำวิธีการเตรียมตัว
- หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้พื้นที่บริเวณป่า ที่ ๆ มีต้นไม้หรือพุ่มไม้เยอะเนื่องจากบริเวณเหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยของตัวไรอ่อน
- สวมใส่เสื้อผ้ามิดชิด เช่น เสื้อแขนยาว ปลอกแขน ถุงมือ กางเกงขายาว เพื่อปกป้องผิวหนังจากการถูกไรอ่อนกัด
- ใช้สารไล่แมลงที่สามารถป้องกันตัวไรอ่อนบนผิวหนังได้ เช่น DEET
- รีบอาบน้ำสระผมทำความสะอาดเปลี่ยนเสื้อผ้าหลังกลับจากเดินป่าทันที
- รีบซักเสื้อผ้าที่ใส่เดินป่าเพื่อไม่ให้ไรอ่อนเกาะติดตามเสื้อผ้า
- คอยสังเกตตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณข้อพับ ง่ามขา ซอกรักแร้ และรอยขอบกางเกงหรือขอบเสื้อในหลังจากเดินป่า
- หากพบอาการผิดปกติหลังกลับจากท่องเที่ยว เดินป่า เช่น มีไข้ ไม่สบายตัว ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
ปรึกษาแพทย์เวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยวก่อนออกทริปทุกครั้งเพื่อการเตรียมตัวที่ถูกต้อง ลดโอกาสการเกิดโรคร้ายจากการท่องเที่ยว