คีโม-ผลข้างเคียง

พูดถึง “คีโม” หลายคนน่าจะนึกถึงผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ผมร่วง ผิวหนังบอบบาง อาเจียน ร่างกายซูบผอม ซึ่งจริง ๆ แล้วอาการเหล่านั้นอาจไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน และถ้าหากเราจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการทำคีโม จะเกิดผลข้างเคียงอะไรขึ้นได้บ้าง มีวิธีรับมือกับผลข้างเคียงคีโมเหล่านั้นอย่างไร มาดูเลย

สารบัญบทความ

คีโมหรือเคมีบำบัด คืออะไร

คีโมเทอราปี (Chemotherapy) หรือที่เราเรียกกันว่า “คีโม” คือสารเคมีที่มีฤทธิ์ยับยั้งและทำลายเซลล์ที่มีอัตราการเติบโตหรือแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว เช่น เซลล์มะเร็ง แต่ไม่ใช่แค่เซลล์ร้ายเท่านั้นที่คีโมเข้าไปทำลาย เมื่อผู้ป่วยทำการรักษาด้วยการรับคีโมแล้ว คีโมยังเข้าไปทำลายเซลล์ปกติในร่างกายเราด้วย เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว เซลล์เส้นผม เซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร เป็นต้น จึงเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยเกิดผลข้างเคียงคีโมหลังการรับคีโม เช่น ผมร่วง ภูมิคุ้มกันต่ำเนื่องจากปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวลดลง ท้องเสีย และอ่อนเพลีย เป็นต้น

คีโมมีส่วนช่วยรักษามะเร็งอย่างไรบ้าง

ยาคีโมมีฤทธิ์ทำลายหรือหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง แต่ก็อาจมีผลทำให้เซลล์ปกติที่แบ่งตัวเร็วของร่างกายเช่น เส้นผม เซลล์เบื่อบุช่องปาก เยื่อบุลำไส้ เซลล์เม็ดเลือด ถูกทำลายได้เช่นกัน ส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงคีโมตามมา เช่น อาเจียน มีแผลในปาก ปากอักเสบ เบื่ออาหาร ภูมิต้านทานลดลง ท้องเสีย และผมร่วง เป็นต้น

 

ปรึกษาเรื่องการทำคีโมและโรคมะเร็งกับแพทย์เฉพาะทางที่แอป BeDee สะดวก ไม่ต้องเดินทาง

เมื่อรับคีโม ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นมีดังนี้

1. ท้องผูก ท้องเสีย

ผลข้างเคียงคีโมอย่างหนึ่งคือในบางรายอาจเกิดอาการท้องผูก ขับถ่ายยาก อุจจาระแข็ง ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้ยาและอาหารที่รับประทานอาจมีกากใยน้อย 

ดูแลรักษาด้วย

  • รับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง
  • ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว 
  • ไม่ควรใช้ยาถ่ายหรือยาสวนทวารเอง ควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมในกรณีจำเป็นต้องใช้ยา
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

2. ผมร่วง

ผมร่วงจากคีโม

หลังรับคีโมผลข้างเคียงใหญ่ที่หลายคนกังวลคงหนีไม่พ้นปัญหาผมร่วง เนื่องจากคีโมที่เราใช้สู้กับเซลล์มะเร็งนั้นส่งผลต่อรากผมและรากขนของเราด้วย ทำให้เกิดอาการผมร่วงหรือขนร่วงในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกหลังรับคีโม และผมจะค่อย ๆ งอกขึ้นใหม่อีกครั้งหลังหยุดรับคีโมแล้ว 1 เดือนเป็นต้นไป

 

ดูแลรักษาด้วย

 

  • ควรตัดผมสั้นเพื่อความสะดวกในการดูแลในช่วงรับคีโม
  •  ใช้แชมพูที่อ่อนโยนต่อหนังศีรษะและเส้นผม 
  • ใช้แปรงหวีผมที่มีขนนิ่มหรือหวีเด็ก 
  •  ไม่ควรดัด ทำสี หรือใช้เคมีรุนแรงกับเส้นผม

3. เยื่อบุอักเสบ เป็นแผลในช่องปากง่ายมากขึ้น

ผลข้างเคียงคีโมอีกอย่างหนึ่งคือผู้ป่วยอาจเกิดแผลในปาก เจ็บปาก เจ็บคอ ปวดแสบปวดร้อน เหงือกแดง บวม ริมฝีปากแห้งแตกหลังทำคีโมในช่วงสัปดาห์แรก เนื่องจากคีโมเข้าไปทำลายเซลล์เยื่อบุช่องปาก ซึ่งอาการเหล่านี้จะดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์

 

ดูแลรักษาด้วย

 

  • ใช้แปรงสีฟันขนอ่อนนุ่มพิเศษ 
  • ใช้ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก สูตรอ่อนโยน ไม่ผสมแอลกอฮอล์ 
  • ลิปมันสูตรอ่อนโยนเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและลดการระคายเคือง 
  • ดื่มน้ำเปล่า
  • รับประทานรสอ่อน อาหารเหลว อาหารนิ่ม ๆ ย่อยง่าย 
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดที่มีรสชาติเผ็ด เปรี้ยว อาหารมัน ของทอด เครื่องดื่มรสเปรี้ยว น้ำอัดลม 
  • งดดื่มสุรา  

4. คลื่นไส้ อาเจียน

อาการคลื่นไส้ อาเจียนเป็นผลข้างเคียงคีโมที่สามารถเกิดขึ้นได้หลังรับคีโม 2-3 ชั่วโมง หรือในบางรายอาจมีอาการถึงหนึ่งวัน ผู้ป่วยอาจมีอาการเรอเปรี้ยว เรอแล้วมีน้ำดีปนออกมาด้วย 

ดูแลรักษาด้วย

  • รับประทานอาหารรสอ่อน ย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ข้าวตุ๋น 
  • แบ่งรับประทานทีละน้อย ๆ แต่หลายมื้อ
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารมัน อาหารทอด 
  • หลีกเลี่ยงอาหารร้อน เพราะอาจทำให้อาเจียนมากขึ้น
  • ดื่มเครื่องดื่มเย็น ๆ เช่น น้ำผลไม้
  • ทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด ไม่วิตกกังวล หากิจกรรมที่ทำแล้วผ่อนคลาย เช่น เดินเล่น ชมธรรมชาติ
  • หากอาการรุนแรงขึ้น อาเจียนรุนแรงจนไม่สามารถรับประทานอาหารได้ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

5. ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด

ผลข้างเคียงการให้คีโม

ผู้ป่วยอาจมีอาการเบื่ออาหาร รับรสชาติอาหารได้ไม่ดี หรือเจ็บปากเจ็บคออันเนื่องมาจากผลข้างเคียงคีโมที่เกิดขึ้น จนทำให้ยากต่อการรับประทานอาหารในช่วงแรกหลังทำคีโม ซึ่งอาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังรับคีโมไปแล้ว 2-6 สัปดาห์ 

 

ดูแลรักษาด้วย

 

  • รับประทานอาหารเสริมทางการแพทย์เสริมมื้ออาหารในช่วงหลังทำคีโม 

6. ผิวระคายเคือง แพ้ง่ายขึ้น เล็บเปราะ

อาการข้างเคียงคีโม

อาการผิวระคายเคือง บอบบาง แพ้ง่าย หรือเล็บเปราะเป็นผลข้างเคียงอย่างหนึ่งจากคีโม ผู้ป่วยอาจเกิดสิวหรือผิวไวต่อแสงแดด เนื่องมาจากผิวที่บอบบางลง อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น 



ดูแลรักษาด้วย

 

  • ทาครีมบำรุงผิวและใช้สบู่สูตรอ่อนโยน ไม่มีน้ำหอม มีสารเพิ่มความชุ่มชื้นหรือผลิตภัณฑ์สูตรเฉพาะที่มีขายที่โรงพยาบาลเท่านั้น 
  • หลีกเลี่ยงแสงแดดเนื่องจากหลังรับคีโมผิวจะอยู่ในช่วงบอบบาง อาจทำให้เกิดฝ้ากระได้ง่าย ควรทาครีมกันแดดเป็นประจำ 
  • หากมีสิวสามารถใช้ยาแต้มสิวร่วมด้วยได้ 
  • สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว เพื่อป้องกันแสงแดดและสวมถุงเท้า ทั้งนี้เสื้อผ้าที่สวมใส่ควรเป็นผ้าเนื้อนุ่ม (ใส่ลิงก์ถุงเท้า) ไม่มีตะเข็บ ที่ใส่สบาย ไม่รัดรูปเพื่อลดการเสียดสี 
  •  ตัดเล็บสั้น ดูแลเล็บให้สะอาดอยู่เสมอ

 

7. ภูมิคุ้มกันลดลง ติดเชื้อง่ายขึ้น

ผลข้างเคียงคีโมทำให้เม็ดเลือดขาวที่ช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรคนั้นมีจำนวนลดลง จึงทำให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันลดลงและติดเชื้อง่ายขึ้น ร่างกายอ่อนแอลง ผู้ป่วยจำเป็นต้องดูแลร่างกายตัวเองกลับมาแข็งแรง

 

ดูแลรักษาด้วย

 

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย
  • หมั่นล้างมืออยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด
  • รับประทานอาหารปรุงสุก สะอาด 
  • หลีกเลี่ยงของดิบ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ 
  • ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น เดินเล่น โยคะ
  • ระวังไม่ให้เกิดบาดแผลจากของมีคมหรืออุบัติเหตุต่าง ๆ 

8. ไข้ขึ้น

อาการข้างเคียงหลังให้คีโม

ผู้ป่วยอาจเกิดอาการข้างเคียงคีโมคือมีไข้ได้ ทั้งนี้หากมีไข้ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไปอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อได้ เนื่องจากหลังการทำคีโมจะทำให้ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำลงเนื่องจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำโดยเฉพาะในช่วง 7-14 วัน หลังทำคีโม

 

ดูแลรักษาด้วย

 

  • ระวังการสัมผัสเชื้อโรค หมั่นล้างมือหลังสัมผัสสิ่งต่าง ๆ และก่อนรับประทานอาหาร
  • หลีกเลี่ยงการเจอผู้คน หรือการอยู่ในที่แออัด 
  • ระวังไม่ให้เกิดบาดแผล เช่น หกล้ม มีดบาด อุบัติเหตุต่าง ๆ 
  • รับประทานอาหารปรุงสุก สะอาด 
  • หลีกเลี่ยงของดิบ
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ป่วย 

9. เลือดออกง่ายขึ้น อาจไหลไม่หยุด

อาการข้างเคียงคีโมอีกอย่างหนึ่งคือทำให้ปริมาณเกล็ดเลือดของผู้ป่วยต่ำลง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเลือดออกง่ายขึ้นในช่วงหลังรับคีโม 2 สัปดาห์แรก และอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังจากนั้น สัญญาณที่บ่งบอกถึงภาวะเกล็ดเลือดต่ำ คือ มีจุดจ้ำเลือดตามผิวหนัง เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล ปัสสาวะหรืออุจจาระมีเลือดปน

 

ดูแลรักษาด้วย

 

  • ระวังไม่ให้เกิดบาดแผลตามร่างกาย 
  • ใช้แปรงสีฟันขนอ่อนนุ่มเพื่อป้องกันไม่ให้เลือดออกตามไรฟัน 
  • ระวังการใช้ของมีคม เช่น ใบมีดโกน กรรไกร 
  • รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ตับ โปรตีน และผักใบเขียว
  • พักผ่อนให้เพียงพอ

10. ประจำเดือนไม่ปกติ

ทําคีโม ผลข้างเคียง

ผู้ป่วยบางรายอาจพบว่าประจำเดือนมาไม่ปกติเนื่องจากผลข้างเคียงคีโมที่ส่งผลต่อรังไข่ ทำให้มีบุตรยาก อย่างไรก็ตามอาการดังกล่าวจะดีขึ้นเมื่อสิ้นสุดการทำคีโม หากผู้ป่วยต้องการมีบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับการรักษา

 

ดูแลรักษาด้วย

 

  • ไม่เครียด ทำจิตใจให้สดใส ผ่อนคลาย 
  • พักผ่อนให้เพียงพอ 
  • ใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ

11. มีบุตรยากขึ้น

ผลจากการที่ประจำเดือนมาไม่ปกติเนื่องจากคีโมส่งผลต่อรังไข่นั้นทำให้ผู้ป่วยมีบุตรยาก อย่างไรก็ตามอาการดังกล่าวจะดีขึ้นเมื่อสิ้นสุดการทำคีโม หากผู้ป่วยต้องการมีบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับการรักษา

 

ดูแลรักษาด้วย

 

  • ไม่เครียด ทำจิตใจให้สดใส ผ่อนคลาย 
  • พักผ่อนให้เพียงพอ 
  • ใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ

12. โลหิตจาง

ผู้ป่วยอาจมีอาการซีด เหนื่อยง่าย ใจเต้นเร็ว เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หรืออุจจาระมีสีดำเนื่องจากปริมาณเม็ดเลือดแดงลดลงจากการทำคีโมหรือจากตัวโรค ผู้ป่วยอาจพบอาการดังกล่าวได้ในช่วง 7 วันหลังทำคีโม หลังจากนั้นอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น

ดูแลรักษาด้วย

  • รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ตับ โปรตีน และผักใบเขียว
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ไม่เครียด พยายามผ่อนคลาย 

หากมีผลข้างเคียงจากคีโมดังนี้ ควรพบแพทย์ทันที

การทำคีโมมักพบอาการข้างเคียงได้เนื่องจากคีโมเข้าไปทำลายทั้งเซลล์มะเร็งและเซลล์ที่ปกติในร่างกายไปพร้อม ๆ กัน อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เยื่อบุปากอักเสบ เจ็บปากเจ็บคอ น้ำลายเหนียว เบื่ออาหาร อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นหลังการทำคีโม 1-3 วัน  อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยเกิดผลข้างเคียงจากการทำคีโมที่รุนแรงตามอาการด้านล่างนี้ ควรรีบพบแพทย์ทันที

 

  •  ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ 
  • รู้สึกเจ็บปวดตามร่างกายมาก เพลียมาก 
  • มีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป 
  • หนาวสั่น 
  • เจ็บรอบ ๆ ทวารหนัก 
  • ซีดมาก 
  • เหนื่อยหอบ หน้ามืด 
  • มีจุดเลือดจ้ำ เลือดขึ้นตามผิวหนัง เยื่อบุตาขาว 
  • เลือดออกตามไรฟัน 
  • เลือดกำเดาไหลรุนแรง
  • ปวดศีรษะรุนแรง 
  • สูญเสียการทรงตัว 
  • มีผื่นหรือตุ่มขึ้น ตามร่างกาย 
 
ปรึกษาการรับมือผลข้างเคียงจากการทำคีโมกับแพทย์เฉพาะทางที่แอป BeDee 

รับประทานอาหารอย่างไรเพื่อลดผลข้างเคียงคีโม

ลดผลข้างเคียงคีโม

อาหารบางประเภทสามารถช่วยลดผลข้างเคียงคีโมได้ และอาหารบางชนิดก็อาจทำให้ผลข้างเคียงคีโมรุนแรงขึ้นได้เช่นกัน 

อาหารที่ควรรับประทาน

 

  • อาหารโปรตีนสูง เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อปลา ไข่ไก่ นม เต้าหู้ ถั่ว 
  • สามารถรับประทานอาหารทดแทนทางการแพทย์ เพื่อทดแทนหรือเสริมมื้ออาหาร
  • แป้งไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืช ขนมปังโฮลวีต 
  • ผักใขเขียว เช่น บรอกโคลี ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง 
  • ผลไม้ เช่น ฝรั่ง ส้ม มะละกอ มะนาว กีวี่ สตรอเบอรี่
  • น้ำเปล่า

อาหารที่ไม่ควรรับประทาน

  • อาหารรสจัด รสเผ็ด 
  • ผลไม้รสเปรี้ยว
  • อาหารร้อนจัด
  • อาหารแข็ง
  • อาหารสำเร็จรูป 

คำถามที่พบบ่อย(FAQ)เกี่ยวกับผลข้างเคียงคีโม หมอ

ผลข้างเคียงจากการให้คีโม

อาหารเสริมช่วยลดผลข้างเคียงคีโมได้หรือไม่

หากผู้ป่วยมีอาการไม่อยากอาหาร หรือน้ำหนักลด เนื่องมาจากผลข้างเคียงคีโมอาหารเสริมประเภทให้พลังงานสูงและรับประทานง่าย อาจจะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยได้รับพลังงานมากขึ้นเมื่อเทียบกับปริมาณอาหารอย่างอื่น จึงอาจจะพอช่วยในอาการเบื่ออาหารของผู้ป่วยได้

สรุปเรื่องคีโม ผลข้างเคียง

การรักษาโรคมะเร็งด้วยการทำคีโมอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงคีโมกับผู้ป่วย สิ่งสำคัญคือการดูแลตัวเอง หมั่นสังเกตอาการข้างเคียงจากการรักษาไม่ให้เกิดอาการรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และการให้กำลังใจจากครอบครัวและคนรอบข้างของผู้ป่วย เพราะจิตใจเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการต่อสู้กับโรค และต้องอาศัยการดูแลอย่างใกล้ชิดจากครอบครัว 

 

ปรึกษาเรื่องการรักษาโรคมะเร็งและการดูแลเพิ่มเติมได้ที่ BeDee แพทย์ผู้เชี่ยวชาญพร้อมให้คำปรึกษา สะดวก ไม่ต้องเดินทาง เราพร้อมช่วยเหลือคุณทุกวัน สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS 

 

Content powered by BeDee Expert

นพ.ปณต สายน้ำทิพย์

แพทย์อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา

 

เรียบเรียงโดย

กรวรรณ ใจซื่อกุล

  • Anderson, M. K., & Matey, L. (2019). Overview of cancer and cancer treatment. In M. M. Olsen, K. B. LeFebvre, & K. J. Brassil (Eds.), Chemotherapy and Immunotherapy Guidelines and Recommendations for Practice (pp. 25-50). Pittsburgh, PA: Oncology Nursing Society.
  • Chu, E., & DeVita, V. T. (2019). Physician’s Cancer Chemotherapy Drug Manual. Burlington, MA: Jones & Bartlett Learning.
  • Olsen, M. M., & Naseman, R. W. (2019). Chemotherapy. In M. M. Olsen, K. B. LeFebvre, & K. J. Brassil (Eds.), Chemotherapy and Immunotherapy Guidelines and Recommendations for Practice (pp. 61-90). Pittsburgh, PA: Oncology Nursing Society.
  • Besser, J., Grant, B. L., & American Cancer Society. (2018). What to Eat During Cancer Treatment. Atlanta, GA: American Cancer Society.
  • American Society of Clinical Oncology. (2019). Integrative Medicine. Cancer.net. Retrieved from https://www.cancer.net/navigating-cancer-care/how-cancer-treated/integrative-medicine on April 20, 2021.

ซื้อสินค้าบรรเทาผลข้างเคียงคีโมได้จากตู้ We Care Your Selfcare

สะดวกกว่าที่เคย BeDee ร่วมกับโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ เปิดตัวตู้ We Care Your Selfcare ตู้ขายสินค้าสุขภาพอัตโนมัติเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งโดยเฉพาะ แห่งแรกในประเทศไทย จำหน่ายสินค้าช่วยบรรเทาผลข้างเคียงคีโม ครอบคลุมอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น เช่น ผิวแห้ง ผิวบางแพ้ง่าย แผลในปาก น้ำลายเหนียว เบื่ออาหาร ปวดข้อ และปวดกระดูก

พร้อมให้ช้อปแล้ววันนี้ที่บริเวณชั้น 1 โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ หรือช้อปออนไลน์ได้ที่ Line Official : @BeDeebyBDMS

บทความที่เกี่ยวข้อง

มะเร็งปากมดลูก 1 ใน 5 อันดับมะเร็งยอดฮิตของคนไทย ไม่ใช่แค่ผู้หญิงเท่านั้นที่สามารถรับเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก แต่ผู้ชายเองก็สามารถติดเชื้อ HPV ได้เช่นกัน ซึ่ง 80% ติดเชื้อ HPV จากการมีเพศสัมพันธ์ ในกรณีที่ได้รับเชื้อสาย

เมื่อพูดถึงคำว่า “คีโม” หลายคนน่าจะนึกถึงการรักษาโรคมะเร็งและผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการรับคีโม จริง ๆ แล้วคีโมในปัจจุบันนั้นน่ากลัวหรือไม่ ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นรุนแรงแค่ไหน เรามาดูกันเลย สารบัญบทความ คีโมหรือเคมีบำบัด คือ คีโมเทอราปี (Chemotherapy)