วิธีรักษามะเร็งปากมดลูกและการตรวจหาเชื้อ HPV ด้วยตัวเอง
มะเร็งปากมดลูก 1 ใน 5 อันดับมะเร็งยอดฮิตของคนไทย ไม่ใช่แค่ผู้หญิงเท่านั้นที่สามารถรับเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก แต่ผู้ชายเองก็สามารถติดเชื้อ HPV ได้เช่นกัน ซึ่ง 80% ติดเชื้อ HPV จากการมีเพศสัมพันธ์ ในกรณีที่ได้รับเชื้อสายพันธุ์ที่ไม่รุนแรงอาจเกิดเป็นหูดหงอนไก่ แต่ในกรณีที่ได้รับเชื้อสายพันธุ์รุนแรงอาจพัฒนาเป็นมะเร็งที่อวัยวะเพศ หรืออวัยวะที่ได้รับการสัมผัสมา ดังนั้นการตรวจหาเชื้อ HPV จึงสำคัญอย่างยิ่งสำหรับทุกเพศ หากรู้ก่อนก็สามารถรักษาก่อนที่เชื้อจะพัฒนาเป็นโรคมะเร็งได้
โรคมะเร็งปากมดลูกคือ?
มะเร็งปากมดลูก คือ ก้อนเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นบริเวณมดลูก ช่องคลอด และช่องปากมดลูกซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัส Human Papilloma Virus หรือ HPV ซึ่งเมื่อได้รับเชื้อ HPV นี้แล้วตัวเชื้ออาจเกิดความผิดปกติจนกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ ทั้งนี้ไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนที่ได้รับเชื้อ HPV แล้วจะต้องเป็นมะเร็งปากมดลูกเสมอไป ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละคนด้วย ปัจจุบันเชื้อ HPV นั้นมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่อันตรายต่อร่างกายมากที่สุดคือ สายพันธุ์ 16 และ 18
โรคมะเร็งปากมดลูกเกิดจากอะไร?
มะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อไวรัส Human Papilloma Virus หรือ HPV ซึ่งเชื้อ HPV นี้สามารถพบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย แต่อาจกลายเป็นมะเร็งแต่ละชนิดแตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ยังพบว่า 3 ใน 4 ของประชากรเคยสัมผัสเชื้อ HPV มาแล้ว โดยผู้ที่ติดเชื้อ HPV นั้นมักไม่มีอาการ สำหรับในเพศหญิงนั้นหากได้รับเชื้อ HPV แล้วอาจมีการเปลี่ยนแปลงรุนแรงจนกลายเป็นมะเร็งปากมดลูกได้
เชื้อ HPV นี้สามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัส การมีเพศสัมพันธ์ต่างเพศและการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันทั้งทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือปาก การมีคู่นอนหลายคน หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีคู่นอนหลายคน โดยเชื้อ HPV จะอยู่ในน้ำคัดคลั่ง ช่องคลอด หรือน้ำปัสสาวะ โดยแพร่เชื้อผ่านรอยแผล หรือรอยขีดข่วนตามผิวหนัง นอกจากนี้หญิงตั้งครรภ์ที่มีเชื้อ HPV สามารถแพร่เชื้อสู่ลูกในระหว่างการคลอดได้
ปรึกษาเรื่องโรคมะเร็งปากมดลูกกับคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง ไม่มีค่าจัดส่งยา
โรคมะเร็งปากมดลูกมีอาการเป็นอย่างไร?
อาการบ่งชี้เบื้องต้นสำหรับโรคมะเร็งปากมดลูกที่ควรสังเกตมีดังนี้ ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม
- มีตกขาวมากผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น ตกขาวมีเลือดปนออกมาด้วย
- มีเลือดออกทางช่องคลอดที่ไม่ใช่ประจำเดือน หรือมีเลือดออกระหว่างหรือหลังมีเพศสัมพันธ์
- มีเลือดออกทางช่องคลอดในวัยหมดประจำเดือน
- เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- ปวดบริเวณท้องน้อย หรืออุ้งเชิงกราน
- ปัสสาวะหรืออุจจาระแล้วมีเลือดปน
- น้ำหนักลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ
- เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เหนื่อย
ระยะของโรคมะเร็งปากมดลูก
ระยะก่อนพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูก
ในช่วงก่อนระยะมะเร็งนั้นผู้ป่วยมักไม่มีอาการอะไร เนื่องจากเซลล์มะเร็งยังอยู่ที่ชั้นเยื่อบุผิวปากมดลูก แต่สามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1
คือระยะที่มะเร็งลุกลามอยู่ภายในปากมดลูกเท่านั้น แพทย์อาจใช้การรักษาด้วยการผ่าตัดปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 2
คือระยะที่มะเร็งลุกลามไปที่เนื้อเยื่อข้างปากมดลูก หรือผนังช่องคลอด 2 ใน 3 ส่วนบน
มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 3
คือระยะที่มะเร็งลุกลามไปที่ด้านข้างจนถึงผนังเชิงกราน หรือผนังช่องคลอด 1 ใน 3 ส่วนล่าง หรือกดท่อไตจนเกิดภาวะไตบวมน้ำ
มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 4
คือระยะที่มะเร็งลุกลามไปที่กระเพาะปัสสาวะ ไส้ตรง หรืออวัยวะอื่น ๆ เช่น ปอด กระดูก และต่อมน้ำเหลืองนอกเชิงกราน
การตรวจโรคมะเร็งปากมดลูก
วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
- การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกผ่านการตรวจทางเซลล์วิทยาเพื่อตรวจหาเฉพาะเซลล์มะเร็งปากมดลูก โดยใช้วิธีแปปเสมียร์ (Pap smear หรือ liquid base cytology) แพทย์จะใช้ไม้พายเก็บเซลล์ตัวอย่างบริเวณปากมดลูก ก่อนนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ
- การตรวจมะเร็งปากมดลูกโดยการหาเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV DNA Test) ร่วมกับการตรวจเซลล์วิทยา (co-testing) เป็นการตรวจหาเซลล์มะเร็งปากมดลูกร่วมกับตรวจดีเอ็นเอของเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับมะเร็งปากมดลูก การตรวจวิธีนี้ให้ความแม่นยำสูง
อายุที่ควรเริ่มตรวจ และความถี่ของการตรวจคัดกรอง
วิธีที่ 1 การตรวจเซลล์วิทยา
- ควรเริ่มเมื่ออายุ 25 ปีในสตรีที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว หรือ 30 ปีในสตรีที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์
- ตรวจคัดกรองทุก 2 ปีความถี่ในการตรวจคัดกรองอาจปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมของบริบทในแต่ละพื้นที่
- สามารถหยุดตรวจได้ หากอายุมากกว่า 65 ปี ถ้าผลตรวจไม่พบความผิดปกติติดต่อกัน 5 ครั้ง
วิธีที่ 2 HPV DNA testing ร่วมกับการตรวจเซลล์วิทยา (co-testing)
- ควรเริ่มเมื่ออายุ 25 ปีในสตรีที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว หรือ 30 ปีในสตรีที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์
- ตรวจคัดกรองทุก 5 ปี เนื่องจากการตรวจประเภทนี้ให้ผลการตรวจที่แม่นยำสูง
- สามารถหยุดตรวจได้ หากอายุมากกว่า 65 ปี ถ้าผลตรวจไม่พบความผิดปกติติดต่อกัน 2 ครั้ง
คำแนะนำเพิ่มเติม
- สตรีที่ได้รับการฉีด HPV vaccine ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเช่นเดียวกับสตรีทั่วไป เพื่อหาเซลล์ผิดปกติที่เกิดจากเชื้อ HPV เนื่องจากการฉีดวัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้ 100% และไม่สามารถรักษาอาการการติดเชื้อก่อนได้รับวัคซีนได้
- สำหรับประเทศไทย ยังไม่แนะนำให้สตรีที่อายุน้อยกว่า 25 ปี ตรวจคัดกรองเนื่องจากมะเร็งปากมดลูกในสตรีที่อายุน้อยกว่า 25 ปี ในประเทศไทยนั้นพบได้น้อย ยกเว้นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ติดเชื้อ HIV มีคู่นอนหลายคน เป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ควรตรวจคัดกรองทันที
ปรึกษาเรื่องการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกกับคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง ไม่มีค่าจัดส่งยา
วิธีการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก
การรักษาโดยใช้รังสี
การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกโดยการใช้รังสีในการรักษานั้น เมื่อทราบผลชิ้นเนื้อแล้วว่ามีเซลล์มะเร็งและมีความเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นซ้ำ แพทย์อาจพิจารณาใช้รังสีในการรักษาร่วมด้วยหลังการผ่าตัด หรือใช้รังสีร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด
การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยการใช้รังสีนั้นมี 2 ประเภท ได้แก่ การฉายรังสีระยะไกล (External Beam Radiation Therapy) คือการฉายรังสีไปยังบริเวณที่มีความผิดปกติ และ การให้รังสีระยะใกล้ (Brachytherapy) เช่น การใช้รังสีฉายด้านในช่องคลอดในระยะเวลาสั้น ๆ การรักษาด้วยการใช้รังสีนั้นสามารถใช้ได้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกทุกระยะ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละรายและความเห็นของแพทย์ด้วย
การรักษาด้วยการผ่าตัด
การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีการผ่าตัดนั้นมักใช้กับผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกในระยะที่ 1 และระยะที่ 2
การรักษาด้วยเคมีบำบัด
รักษามะเร็งในระยะลุกลามมาก หรือมีการกลับเป็นซ้ำ
การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด
หลักการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดนั้น ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยทางคลินิก และเลือกใช้เฉพาะราย ได้แก่ ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะลุกลามหรือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่กลับมาเป็นซ้ำ มีการใช้กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ในการกระตุ้นการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวควบคู่ เพื่อให้ร่างกายทำลายเซลล์มะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้วิธีการรักษาแต่ละรูปแบบขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
การรักษาร่วม
เช่น การให้ยาเคมีบำบัดพร้อมกับรังสีรักษา ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานในการรักษามะเร็งปากมดลูกระยะลุกลาม
การป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก
- ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV สามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9-26 ปี สำหรับ ช่วงอายุ 26-45 ปี หรือหญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ให้พิจารณาในการฉีดวัคซีนเป็นราย ๆไป โดยควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
- หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนหลายคน และการสูบบุหรี่
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หรือการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ
- ตรวจภายในเป็นประจำทุกปีเพื่อหาโรคทางนรีเวชอื่น ๆ และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
คำถามที่พบบ่อยของโรคมะเร็งปากมดลูก
โรคมะเร็งปากมดลูกรักษาหายไหม?
การรักษาขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค หากตัวโรคมะเร็งปากมดลูกอยู่ในระยะขั้นต้น ผู้ป่วยมาพบแพทย์เร็ว ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและมีการตอบสนองต่อการรักษาที่ดี มักจะรักษาได้หายขาด และมีโอกาสกลับเป็นซ้ำต่ำ
แต่หากเป็นระยะที่ลุกลาม มีความรุนแรงของโรคมาก มีโรคประจำตัวที่ควบคุมไม่ดี จะทำให้ผลการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกไม่ดีไปด้วย โดยแพทย์จะเปลี่ยนความมุ่งหวังของการรักษาจากการรักษาให้หายเป็นประคับประคองโรคแทน
อาการเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก?
สัญญาณบ่งชี้ของโรคมะเร็งปากมดลูกที่ควรสังเกตเบื้องต้นและควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ได้แก่ อาการตกขาวมากผิดปกติ ตกขาวมีเลือดปนออกมาด้วย หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดที่ไม่ใช่ประจำเดือน รวมถึงมีเลือดออกระหว่างหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ ในบางรายอาจมีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ มีรอบเดือนที่ผิดไปจากเดิม มีอาการปวดบริเวณท้องน้อย หรือปวดหัวเหน่า ปัสสาวะหรืออุจจาระแล้วมีเลือดปน หรือมีอาการปัสสาวะไม่ค่อยออก น้ำหนักลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เหนื่อย เป็นต้น หากสังเกตพบอาการเหล่านี้หรือไม่แน่ใจ ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน
โรคมะเร็งปากมดลูกป้องกันได้ไหม?
โรคมะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนหลายคน หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และควรตรวจภายในเป็นประจำทุกปีเพื่อหาโรคทางนรีเวชอื่น ๆ ร่วมกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
สอบถามเรื่องสุขภาพสตรีอื่น ๆ กับคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก เป็นส่วนตัว