ไทรอยด์

โรคไทรอยด์อาจเป็นชื่อที่หลายคนอาจคุ้นเคยหรือเคยได้ยินมาไม่มากก็น้อย แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าไทรอยด์นั้นที่จริงแล้วคืออะไรกันแน่ เป็นโรคแบบไหน สามารถส่งผลอะไรกับร่างกายของคุณได้บ้าง ในบทความนี้ทาง BeDee จะพาคุณไปรู้จักกับไทรอยด์คืออะไร มีความสำคัญอย่างไรกับร่างกายและหากเป็นโรคเกี่ยวกับไทรอยด์จะส่งผลอะไรกับสุขภาพของคุณ

สารบัญบทความ

ไทรอยด์คืออะไร ทำหน้าที่อะไร

ก่อนอื่นเราควรมาทำความรู้จักกับ “ไทรอยด์” กันเสียก่อนว่าคืออะไร มีหน้าที่สำคัญอะไรกับร่างกายบ้าง

ไทรอยด์ (Thyroid) คือ อวัยวะหนึ่งในระบบต่อมไร้ท่อ ถูกนับเป็นต่อมไร้ท่อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย อยู่บริเวณส่วนหน้าของลำคอ มีหน้าที่สำคัญอย่างการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ (Thyroid Stimulating Hormone : TSH) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมและเผาผลาญพลังงานในร่างกาย อีกทั้งยังส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ ให้เป็นไปตามปกติ โดยจะมีผลต่อหัวใจและระบบประสาทมากที่สุด

ฮอร์โมนไทรอยด์ถูกควบคุมโดยสมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) และต่อมใต้สมอง (Pituitary Gland) ซึ่งหากการทำงานของต่อมไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนผิดปกติจะทำให้ระบบการทำงานของร่างกายแปรปรวนหลายส่วนไม่ว่าจะด้านร่างกายและจิตใจ เนื่องจากฮอร์โมนไทรอยด์มีผลต่ออวัยวะหลายส่วน

 

ปรึกษาโรคไทรอยด์กับคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก ไม่มีค่าจัดส่งยา

ความผิดปกติของไทรอยด์

ความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับต่อมไทรอยด์สามารถเกิดได้หลายรูปแบบ ส่งผลให้เกิดอาการที่แตกต่างกันไป ดังนี้

1. โรคต่อมไทรอยด์โตแบบเป็นพิษ (Hyperthyroidism)

โรคต่อมไทรอยด์โตแบบเป็นพิษหรือไฮเปอร์ไทรอยด์ (Hyperthyroidism) คือความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ที่ทำงานมากเกินปกติ ทำให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์มีมากกว่าความจำเป็นของร่างกาย เมื่อร่างกายมีฮอร์โมนไทรอยด์มากกว่าปกติจึงทำให้การทำงานส่วนอื่น ๆ ของร่างกายทำงานมากกว่าปกติตามไปด้วย

 

อาการที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ เช่น น้ำหนักลดลงเร็วผิดปกติ, ร้อนง่าย เหงื่อออกมาก, หัวใจเต้นเร็ว, ผมร่วง, ถ่ายเหลว, กระสับกระส่าย, เบื่ออาหาร, นอนไม่หลับ, ฉุนเฉียวง่าย เป็นต้น

2. โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (Hypothyroidism)

โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไปหรือไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นตรงข้ามกับไฮเปอร์ไทรอยด์คือต่อมไทรอยด์มีการทำงานที่น้อยกว่าปกติ ทำให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดมีน้อยกว่าที่ร่างกายต้องการ ทำให้ร่างกายอยู่ในสภาวะเฉื่อยชา ระดับการทำงานหลายส่วนของร่างกายลดช้าลง

 

อาการที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีภาวะไฮโปไทรอยด์ เช่น น้ำหนักขึ้นง่าย, ระดับไขมันในเลือดสูง, เกิดโรคอ้วน, หัวใจเต้นช้า, เพลีย ง่วงนอนบ่อย, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นตะคริวบ่อย, ผิวแห้ง หยาบกร้าน, หนาวง่าย ทนต่ออากาศเย็นไม่ค่อยได้, พูดช้า คิดช้า ความจำไม่ดี เป็นต้น

 

ภาวะไฮโปไทรอยด์มักจะแสดงอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ผู้ที่กำลังอยู่ในภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์รู้ตัวได้ช้า และส่วนใหญ่ผู้ป่วยภาวะไฮโปไทรอยด์จะต้องรับยาฮอร์โมนไทรอยด์ไปตลอดชีวิต

3. โรคต่อมไทรอยด์อักเสบ (Thyroiditis)

โรคต่อมไทรอยด์อักเสบจะเป็นอาการผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์ ซึ่งต่างจากไฮเปอร์ไทรอยด์และไฮโปไทรอยด์ที่เป็นความผิดปกติในการหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ ผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์อักเสบนั้นจะมีต้นเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส (สำหรับโรคไทรอยด์อักเสบกึ่งเฉียบพลัน) และความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน (สำหรับโรคไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง) มักจะมีอาการเจ็บคอ ต่อมไทรอยด์โต เหนื่อยง่าย กดเจ็บในโรคไทรอยด์อักเสบกึ่งเฉียบพลันและกดไม่เจ็บในโรคไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง

ไทรอยด์ อาการที่ผิดปกติ

4. โรคต่อมไทรอยด์โตแบบไม่เป็นพิษ (Thyroid nodule)

โรคต่อมไทรอยด์โตแบบไม่เป็นพิษหรือโรคก้อนของต่อมไทรอยด์จะเป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์มีขนาดใหญ่กว่าปกติแต่สามารถสร้างฮอร์โมนและทำงานได้อย่างปกติ ผู้ป่วยหลายรายอาจไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ นอกจากจับคลำก้อนไทรอยด์ได้ง่ายเท่านั้น แต่ในบางรายอาจพบก้อนไทรอยด์ไปกดทับหลอดอาหารหรือหลอดลมทำให้มีความผิดปกติขณะกลืนหรือหายใจ รวมถึงอาจทำให้เสียงแหบได้ และมีส่วนน้อยที่ก้อนของต่อมไทรอยด์นี้จะพัฒนากลายเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์

5. โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ (Thyroid cancer)

โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์มีทั้งรูปแบบรุนแรงน้อยที่สามารถรักษาให้หายขาดได้และรุนแรงมากจนเป็นอันตรายถึงชีวิต มักพบโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดไม่รุนแรงในผู้ที่มีอายุน้อยและสามารถรับการรักษาจนหายขาดได้ แต่กลับกันกับโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดรุนแรงมักจะพบในผู้ที่มีอายุมากและผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตในเวลาไม่นานหลังพบโรค

 

หากพบความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ เช่น มีขนาดโต มีการอักเสบ และมีอายุเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ แพทย์มักจะให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

สัญญาณเตือนไทรอยด์ผิดปกติ

สัญญาณเตือนไทรอยด์ผิดปกติ

ต่อมไทรอยด์ผิดปกติสามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายหลายส่วนและบางครั้งอาจสังเกตได้ยากเนื่องจากโรคไทรอยด์ไม่ได้มีอาการเฉพาะเจาะจง แต่หากพบอาการผิดปกติเหล่านี้ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจไทรอยด์ 

 

  • คลำเจอก้อนบริเวณลำคอ
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างรวดเร็วผิดปกติ
  • ขี้ร้อนหรือขี้หนาวมากกว่าปกติ
  • หัวใจเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ
  • หิวง่าย กินอาหารเยอะแต่น้ำหนักกลับลดลง
  • เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เซื่องซึม
  • ถ่ายเหลวหรือท้องผูก
  • กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ

 

อาการที่แสดงออกอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล หากพบอาการร่วมกันมากกว่า 2-3 ข้อขึ้นไปอาจมีความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ แนะนำให้เข้าพบแพทย์โดยเร็ว

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของไทรอยด์

ไทรอยด์เกิดจากอะไร? การเกิดโรคไทรอยด์มีทั้งเกิดขึ้นได้เองจากความผิดปกติของร่างกายและปัจจัยภายนอกที่กระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ดังนี้

 

  • มีคนในครอบครัวมีประวัติโรคไทรอยด์
  • ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคแพ้ภูมิตนเอง, ภูมิคุ้มกันต่ำ
  • การขาดไอโอดีน
  • การรักษาทางการแพทย์บางอย่าง เช่น การฉายรังสี, การใช้ยาบางชนิด
  • การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1
  • หญิงตั้งครรภ์และมีประวัติแท้งบ่อย
  • โรคเครียด
  • การติดเชื้อ

การตรวจและวินิจฉัยไทรอยด์

การตรวจไทรอยด์
  • วิธีตรวจภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติหรือไฮเปอร์ไทรอยด์
    • ซักประวัติ ประเมินลักษณะอาการภายนอกที่ปรากฏ
    • ตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์ Thyroid Stimulating Hormone (TSH), Triiodothyronine (T3) และ Tetraiodothyronine (T4)
    • ตรวจเลือดวัดระดับภูมิคุ้มกัน (Thyroid antibodies) 
    • หากสงสัยว่ามีอาการไทรอยด์อักเสบ อาจทำการตรวจ Radioactive Iodine Uptake (RAIU) เพิ่มเติม ซึ่งเป็นวิธีตรวจคัดแยกโรคต่อมไทรอยด์อักเสบกับโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษจากการทำงานมากผิดปกติโดยให้สารรังสีไอโอดีนแก่ผู้ป่วย
      • หากไทรอยด์ดูดซึมไอโอดีนมาก แสดงถึงการทำงานมากของต่อมไทรอยด์ จึงสรุปได้ว่ามีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ
      • หากไทรอยด์ดูดซึมไอโอดีนน้อยหรือไม่ดูดซึมเลย แสดงว่าการทำงานต่อมไทรอยด์เป็นปกติ อาจมีภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบ
    • หากคลำพบก้อนที่ลำคอ หรือสังเกตเห็นก้อนโตที่คอแพทย์อาจส่งตรวจแยกโรคต่อมไทรอยด์อักเสบ โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ รวมถึงโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยการอัลตราซาวนด์ (Ultrasound), ไทรอยด์สแกน (Thyroid scan), CT Scan, MRI, การตรวจชิ้นเนื้อ เป็นต้น
  • วิธีตรวจภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยผิดปกติหรือไฮโปไทรอยด์
    • ซักประวัติ ประเมินลักษณะอาการภายนอกที่ปรากฏ
    • ตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์ Thyroid Stimulating Hormone (TSH), Triiodothyronine (T3) และ Tetraiodothyronine (T4)
    • ตรวจเลือดวัดระดับภูมิคุ้มกัน (Thyroid antibodies) 
    • หากคลำพบก้อนที่ลำคออาจตรวจลักษณะของก้อนไทรอยด์เพิ่มเติมด้วยการทำ CT Scan, อัลตราซาวนด์, MRI เป็นต้น
  • วิธีตรวจโรคต่อมไทรอยด์โตแบบไม่เป็นพิษ 

ต่อมไทรอยด์โตแบบไม่เป็นพิษอาจไม่มีอาการที่ชัดเจน แต่การตรวจของโรคนี้จะเป็นการตรวจเพื่อประเมินความเสี่ยงว่าก้อนต่อมไทรอยด์เป็นก้อนมะเร็งหรือมีโอกาสเป็นมะเร็งหรือไม่

  • การทำอัลตราซาวนด์, CT Scan หรือ MRI ที่ต่อมไทรอยด์
  • การสแกนต่อมไทรอยด์ กรณีที่มีอาการไทรอยด์เป็นพิษร่วมด้วย
  • การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อไทรอยด์ด้วย Fine needle aspiration (FNA)
    • เป็นขั้นตอนการเก็บตัวอย่างเพื่อนำไปตรวจคัดกรองเซลล์มะเร็ง
    • แพทย์จะฉีดยาชาและอัลตราซาวนด์หาตำแหน่งก้อนต่อมไทรอยด์ก่อนที่จะใช้เข็มดูดเซลล์ตัวอย่างจากก้อนต่อมไทรอยด์อย่างแม่นยำ
    • ตัวอย่างจะถูกนำไปตรวจภายใต้กล้องจุลทรรศน์เพื่อค้นหาความผิดปกติของเซลล์
  • การตรวจหาตำแหน่งต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ Cervical lymph node mapping ultrasound ใช้ในกรณีที่ผลตรวจ FNA ยืนยันว่าเป็นโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ การตรวจนี้จะช่วยให้เห็นการแพร่กระจายของมะเร็งทำให้สามารถวางแผนการผ่าตัดได้ง่ายขึ้น

การรักษาไทรอยด์

สำหรับผู้ที่ตรวจพบความผิดปกติของต่อมไทรอยด์นั้นจะมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกัน ขึ้นกับชนิดของโรคไทรอยด์และระดับความรุนแรงของความผิดปกตินั้น 

 

  • สำหรับโรคต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไปจนเป็นพิษหรือไฮเปอร์ไทรอยด์
    • การรักษาด้วยยาต้านไทรอยด์ ตัวยาจะช่วยลดการสังเคราะห์ฮอร์โมนไทรอยด์ เมื่อระดับฮอร์โมนลดลงจึงทำให้ความผิดปกติที่เกิดจากฮอร์โมนมากเกินหายไป 
    • การรักษาด้วยการกลืนไอโอดีน-131 
    • การผ่าตัดไทรอยด์ ช่วยลดขนาดของต่อมไทรอยด์ เมื่อต่อมไทรอยด์มีขนาดเล็กจึงทำให้การผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ลดลงตามไปด้วย
  • สำหรับโรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไปหรือไฮโปไทรอยด์
    • รักษาด้วยการใช้ยา Levothyroxine เพื่อเพิ่มระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายให้เป็นปกติ ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาไปตลอดเพื่อให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์คงที่
  • สำหรับโรคต่อมไทรอยด์อักเสบ
    • รับประทานยาลดการอักเสบ เช่น สเตียรอยด์
    • รับประทานยาฮอร์โมนไทรอยด์ กรณีเรื้อรัง
  • สำหรับโรคต่อมไทรอยด์โต

    • หากเป็นก้อนไม่ใช่มะเร็งและไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ อาจไม่ต้องรับการรักษาแต่สามารถเข้ารับการติดตามอาการเป็นระยะ แต่หากก้อนไทรอยด์ใหญ่จนกลืนหรือหายใจลำบากอาจใช้การผ่าตัดเพื่อลดขนาดก้อนไทรอยด์ได้
    • หากเป็นโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ อาจรักษาด้วยการผ่าตัด มีทั้งรูปแบบผ่าตัดเปิดบริเวณลำคอและการผ่าตัดส่องกล้อง

ปรึกษาโรคไทรอยด์กับคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก ไม่มีค่าจัดส่งยา

การป้องกันไทรอยด์

ป้องกันต่อมไทรอยด์ผิดปกติ

การเกิดความผิดปกติของต่อมไทรอยด์นั้นมีทั้งแบบที่เกิดขึ้นเองและจากปัจจัยภายนอกกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติของการทำงานของต่อมไทรอยด์ สำหรับความผิดปกติอย่างแรกอาจป้องกันไม่ได้ แต่คุณสามารถป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดความผิดปกติต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ได้ดังนี้

  • เสริมไอโอดีนอย่างเพียงพอและเหมาะสม
  • รักษาระดับภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
  • รับมือและจัดการกับความเครียด
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
  • ควบคุมน้ำหนัก ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อลดโอกาสเกิดโรคเบาหวานซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดไทรอยด์ผิดปกติ

วิธีดูแลตนเองหากเป็นไทรอยด์

ควรดูแลตนเองตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รับประทานยาที่แพทย์จ่ายให้สม่ำเสมอ ห้ามหยุดยาเอง และเข้าพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

 

เพื่อการรักษาที่ดีขึ้นควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไอโอดีนสูง (สำหรับภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์) หลีกเลี่ยงความเครียด หมั่นออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับไทรอยด์

ไทรอยด์เป็นกรรมพันธุ์ไหม?

จากการศึกษาพบว่าพันธุกรรมมีส่วนในการก่อให้เกิดความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ดังนั้นผู้ที่มีประวัติครอบครัวมีความผิดปกติของต่อมไทรอยด์จึงมีโอกาสที่จะมีความผิดปกติมากกว่าคนทั่วไป

เป็นไทรอยด์จำเป็นต้องกินยาตลอดชีวิตหรือไม่?

การรับประทานยาขึ้นอยู่กับชนิดความผิดปกติของไทรอยด์ สำหรับความผิดปกติที่ต้องรับยาตลอดชีวิตคือภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์หรือโรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ในปริมาณที่เหมาะสม จึงต้องรับยาฮอร์โมนเพื่อให้ระดับฮอร์โมนคงที่ตลอดชีวิต

ไทรอยด์ทำให้อ้วนจริงไหม?

โรคไทรอยด์มีส่วนทำให้อ้วนได้ หากเป็นโรคไทรอยด์ประเภท ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไปหรือไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) เนื่องจากระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานลดลงจากฮอร์โมนไทรอยด์ในกระแสเลือดมีน้อย

ไทรอยด์อ้วน – ผอม ต่างกันอย่างไร?

ผู้ที่อ้วนจากโรคไทรอยด์มักจะเป็นโรคไทรอยด์กลุ่มต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป ส่วนผู้ที่ผอมจากโรคไทรอยด์มักจะเป็นโรคไทรอยด์กลุ่มต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป

สรุปไทรอยด์คืออะไร ไทรอยด์ผิดปกติห้ามปล่อยไว้

ไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่มีความสำคัญต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นจึงทำให้การทำงานส่วนต่าง ๆ ผิดปกติไปด้วย โดยทั่วไปแล้วสามารถรับการรักษาได้ด้วยยาและติดตามอาการอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ แต่หากต่อมไทรอยด์ที่ผิดปกตินั้นมีลักษณะเป็นก้อนโตอาจต้องเข้ารับการตรวจเพิ่มเติมเนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงที่จะกลายเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์

รู้สึกไม่สบาย แต่ไม่มีเวลาไปโรงพยาบาล ปรึกษาหมอที่แอป BeDee เลยบริการ ปรึกษาหมอออนไลน์ โดยแพทย์จากเครือ BDMS พร้อมให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพของคุณทุกวัน สะดวก ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS


Content powered by BeDee Expert

เรียบเรียงโดย

กรวรรณ ใจซื่อกุล




Cleveland Clinic medical professional. (2021, June 21). Thyroid Nodules. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/13121-thyroid-nodule

 

InformedHealth.org [Internet]. Cologne, Germany: Institute for Quality and Efficiency in Health Care (IQWiG); 2006-. How does the thyroid gland work? 2010 Nov 17 [Updated 2018 Apr 19]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK279388/

 

Thyroid problems. (n.d.). Healthdirect. https://www.healthdirect.gov.au/thyroid-problems

บทความที่เกี่ยวข้อง

ไซนัสอักเสบ หนึ่งในโรคระบบทางเดินหายใจที่พบได้บ่อยและสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย มีอาการคล้ายไข้หวัดและภูมิแพ้ทำให้หลายคนอาจเกิดความสับสนระหว่างไซนัสอักเสบ ไข้หวัดและภูมิแพ้ได้ เมื่อแยกอาการได้ยากหลายคนจึงคิดไปเองว่าคงไม่ได้เป็นไซนัสอักเสบและปล่อยทิ้งไ

คุณกำลังประสบปัญหาไอเรื้อรัง ไอไม่หายสักที จนรบกวนคนรอบข้างหรือไม่? อาการไอเรื้อรังเป็นปัญหาที่อาจดูเพียงแค่น่ารำคาญแต่ในความเป็นจริงอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคอันตรายที่ควรรับการรักษาโดยเร็ว หากคุณหรือคนรอบข้างมีอาการไอเรื้อรัง กินยาแก้ไอแล้วก็ยังไม่ดี