โรคเครียด

เดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็ต้องเผชิญกับความเครียดในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเครียดเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว เรื่องความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หรือแม้แต่การใช้ชีวิตประจำวันอย่างการตื่นนอน เดินทางไปทำงาน เจอปัญหารถติด ก็ทำให้เกิดความเครียดได้แล้ว แต่ระดับความเครียดมากแค่ไหนถึงจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “โรคเครียด” แล้วเราควรจะรับมือกับโรคนี้ได้อย่างไร มาทำความเข้าใจกันเลย

สารบัญบทความ

โรคเครียด คือ

โรคเครียด หรือ Adjustment Disorder คือ สภาวะที่เราเผชิญกับสถานการณ์หรือสิ่งที่เข้ามากดดัน คุกคามต่อร่างกายและจิตใจ เกิดความทุกข์ ความกดดัน ไม่สบายใจ ขับข้องใจ ยากต่อการรับมือและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น นอนไม่หลับ อารมณ์เศร้าหมอง ไม่สดใส ปวดศีรษะ ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมาได้ แต่ละคนมีการรับมือกับความเครียดไม่เหมือนกัน บางคนอาจจัดการกับเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่บางคนอาจจะไม่สามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ หรือยากต่อการจัดการจนเกิดเป็นความเครียดขึ้น 

เมื่อเกิดความเครียดขึ้นร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนความเครียด 2 ชนิดที่เรียกว่า ฮอร์โมนคอร์ติซอลและฮอร์โมนอะดรีนาลีนออกมา โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยมักมีอาการเครียดไม่เกิน 6 เดือน และสามารถหายเป็นปกติได้

ระดับความเครียด

ระดับความเครียดที่สามารถนำไปสู่โรคเครียดได้มีทั้งหมด 3 ระดับ ได้แก่

1. Acute Stress

คือความเครียดที่เกิดขึ้นทันทีระยะสั้น เช่น อากาศร้อน ตกใจ กลัว หิว เป็นต้น ซึ่งความเครียดในลักษณะนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วร่างกายจะตอบสนองทันทีโดยการหลั่งฮอร์โมนความเครียด เมื่อความเครียด ความกังวลดังกล่าวนี้หมดไป ร่างกายจะกลับสู่สภาวะปกติ 

2. Episodic Acute Stress

คือความเครียดที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันหลายครั้ง หลายเรื่อง เช่น มีปัญหาสุขภาพ หลังจากนั้นทะเลาะกับครอบครัว มีปัญหาเรื่องงาน 

3. Chronic Stress

คือความเครียด ความกังวลที่เกิดขึ้นยาวนานต่อเนื่องกันจนกลายเป็นความเครียดเรื้อรัง ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจระยะยาว

 

ทำแบบประเมินความเครียดกับพยาบาลที่แอป BeDee ไม่มีค่าใช้จ่าย 

สาเหตุของโรคเครียด

โรคเครียดเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ สามารถแบ่งออกเป็นปัจจัยหลัก ๆ ได้ดังนี้

 

  • ปัจจัยภายใน เช่น ความเครียดจากการเจ็บป่วยของร่างกาย โรคภัยต่าง ๆ รวมถึงโรคทางจิตเวช เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือปัญหาจากความบกพร่องของสารเคมีในสมอง ความเหนื่อยล้า พักผ่อนไม่เพียงพอ

     

  • ปัจจัยภายนอก เช่น ความเครียดที่เกิดขึ้นจากการทำงาน การเรียน รายได้ ปัญหาทางการเงิน หนี้สิน การใช้ชีวิตประจำวัน ปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทะเลาะกับคนในครอบครัวหรือแฟน ปัญหาการเมือง สังคม ความปลอดภัยในชีวิต การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักหรือสัตว์เลี้ยง

อาการของโรคเครียด

อาการโรคเครียด

อาการโรคเครียดโดยทั่วไปมีดังนี้

อาการโรคเครียดสะสม

  • อารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น หม่นหมอง ไม่สดใสร่าเริง ไม่มีความสุข หรืออาจหงุดหงิดง่ายขึ้น
  • แยกตัวออกจากสังคมหรือคนรอบข้าง
  • เห็นภาพเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกเครียดหรือสะเทือนใจเกิดขึ้นซ้ำ ๆ
  • ปวดกล้ามเนื้อ ปวดตึงตามตัว ปวดศีรษะ 
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • ไม่มีสมาธิหรือสมาธิสั้น วอกแวกง่าย
  • หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น เหงื่อออกที่ฝ่ามือ มือเท้าเย็น หายใจไม่สุด และเจ็บหน้าอก
  • ปวดท้อง หรือรู้สึกไม่สบายท้อง กรดไหลย้อน กรดในกระเพาะอาหาร ท้องอืด ท้องร่วง หรือท้องผูก
  • มีปัญหาการนอนหลับ
  • รับประทานอาหารมากขึ้นหรือน้อยลงกว่าปกติ

เครียดแค่ไหนจึงควรปรึกษาแพทย์

หากรู้สึกว่าความเครียดที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เกิดความเจ็บป่วยต่อร่างกาย นอนไม่หลับ หรืออาการที่ส่งผลกระทบอื่น ๆ ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์ทันทีเพื่อจัดการกับความเครียดและโรคเครียดที่เกิดขึ้นทั้งการรักษาด้วยการใช้ยา การพูดคุยเพื่อปรับความคิด รวมถึงป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา 

 

ปรึกษาเรื่องความเครียดกับจิตแพทย์และนักจิตวิทยาที่แอป BeDee สะดวก เป็นส่วนตัว ไม่มีค่าใช้จ่าย

การวินิจฉัยโรคเครียด

สำหรับการวินิจฉันโรคเครียดนั้น แพทย์จะพูดคุยสอบถามอาการที่เกิดขึ้นและสถานการณ์ที่เป็นสาเหตุของความเครียดเพื่อเข้าใจที่มาของโรคและเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง  โดยโรคเครียดหรือโรคปรับตัวผิดปกติ (Adjustment Disorder) จะวินิจฉัยเมื่อผู้ป่วยมีความผิดปกติทางอารมณ์หรือพฤติกรรม เช่น เศร้า วิตกกังวล ก้าวร้าวรุนแรง เกิดขึ้นภายใน 3 เดือนหลังพบเจอกับสิ่งกระตุ้นหรือปัญหาที่ทำให้เครียด 

เมื่อสิ่งกระตุ้นดังกล่าวหายไปอาการจะคงอยู่ไม่เกิน 6 เดือน ความผิดปกติดังกล่าวส่งผลให้เกิดความทุกข์ทรมานอย่างมากในจิตใจ หรือส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ทั้งการทำงานหรือการเข้าสังคม นอกจากนี้อาการดังกล่าวจะต้องไม่เข้าเกณฑ์วินิจฉัยโรคทางจิตเวชอื่น เช่น โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว และโรควิตกกังวล 

การรักษาโรคเครียด

รักษาโรคเครียด

การรักษาโรคเครียดโดยหลักคือ การรักษาโดยไม่ใช้ยา เช่น การทำจิตบำบัด (Psychotherapy) เพื่อเข้าใจที่มาของอาการ เข้าใจความหมายของสิ่งกระตุ้น นำไปสู่การเข้าใจตัวเอง มีการจัดการอารมณ์และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ตนเองดีขึ้น  นอกจากนี้ยังมีการบำบัดระยะสั้นที่เรียกว่า การจัดการภาวะวิกฤต (Crisis Intervention) เพื่อแก้ปัญหาเมื่อเกิดวิกฤติทางอารมณ์เพื่อให้ผ่านพ้นปัญหาไปได้ในที่สุด 

 

สำหรับการการรักษาโรคเครียดด้วยยา แพทย์อาจพิจารณาให้ยาผู้ป่วยในระยะเวลาสั้น ๆ ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ ยาที่มักจะใช้ในภาวะนี้คือ ยาคลายกังวล เช่น ยากลุ่ม Benzodiazepines บางรายอาจได้ยา SSRI ร่วมด้วย

เป็นโรคเครียด ดูแลตนเองอย่างไร

การดูแลตนเองเมื่อมีความเครียด สามารถจัดการได้ด้วยวิธีจัดการความเครียด ที่ทำได้ไม่ยากดังนี้

  • ผ่อนคลายตัวเองด้วยการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ชอบ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ หรือการฝึกลมหายใจเพื่อผ่อนคลาย
  • พักผ่อน เปลี่ยนบรรยากาศด้วยการไปเที่ยว ชื่นชมธรรมชาติ ออกไปเจอสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ       
  • มองโลกในแง่บวก พยายามคิดว่าปัญหานั้นสามารถแก้ไขได้ 
  • พบปะ พูดคุยกับเพื่อน คนในครอบครัว หลายครั้งการระบายปัญหาที่เราเผชิญอยู่ให้กับคนรอบข้างฟัง ช่วยให้รู้สึกโล่งใจและยังได้ไอเดียใหม่ ๆ ที่เราอาจคิดไม่ถึงในการแก้ปัญหาอีกด้วย

ป้องกันโรคเครียดอย่างไร

ป้องกันโรคเครียด

หากต้องการป้องกันไม่ให้เป็นโรคเครียด สามารถทำตามข้อแนะนำได้ดังนี้

  • เมื่อเจอเรื่องเครียดมาก ไม่สบายใจ รู้สึกกระทบต่อร่างกายหรือชีวิตประจำวันควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
  • ฝึกให้เวลาผ่อนคลายตัวเอง เช่น แบ่งเวลาเพื่อทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ ฝึกกำหนดลมหายใจ 
  • มองในแง่บวก ฝึกให้ตัวเองมีสติและมองในแง่บวก และเชื่อว่าเราจะสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยการมีสติ อย่าตกใจกลัวปัญหาที่เข้ามา

สรุปเรื่องโรคเครียด

ความเครียดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศทุกวัย ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อความเครียดนั้นมีระดับรุนแรงขึ้น หรือเกิดขึ้นยาวนานเรื้อรัง จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางรับมือ และป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนจากโรคเครียดตามมา BeDee พร้อมให้คำปรึกษาโดยจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกวัน 


Content powered by BeDee Expert

พญ.อธิชา วัฒนาอุดมชัย

จิตแพทย์


เรียบเรียงโดย

กรวรรณ ใจซื่อกุล

  • Kaplan HI, Sadock BJ. (2015). Synopsis of psychiatry. 11th ed. Lippincott Williams & Wilkins Publishers. p448. 
  • American Psychiatric Association. (2013). Diagnostic and statistical manual of mental disorders. 5th ed. Washington, DC: American Psychiatric Association. P286-289  . 

รักษาโรคเครียดที่ไหนดี

รักษาโรคเครียดที่ไหนดี

เมื่อเกิดความเครียดต้องรีบรักษาเพราะหากปล่อยไว้อาจเกิดโรคอื่น ๆ ตามมาได้ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก BeDee พร้อมช่วยเหลือและให้คำปรึกษาทุกวัน เพียงทำนัดหมายล่วงหน้าตามเวลาที่คุณสะดวก สอบถามเพิ่มเติมติดต่อ Line Official : @BeDeebyBDMS 

บทความที่เกี่ยวข้อง

“ตากุ้งยิง” หรืออาการอักเสบ ติดเชื้อบริเวณเปลือกตาที่หลายคนคงเคยประสบกับตัวเอง จะไปไหนก็อายคนอื่นเพราะมีอาการเจ็บตา ตาบวม บางรายอาจต้องปิดตา ลำบากต่อการมองเห็นและใช้ชีวิต บางคนมีความเชื่อว่าเป็นตากุ้งยิงเพราะแอบดูคนอื่นอาบน้ำ จริง ๆ แล้วตากุ้งยิงเกิด

Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง “ยาเบาหวาน” หรือยารักษาโรคเบาหวาน คือ ยาที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อให้ผู้ที่เป็นโรคเบาหว