รู้จักโรคซึมเศร้า วิธีสังเกตอาการ สาเหตุ และการดูแลจิตใจ
ปัจจุบันนี้โรคซึมเศร้าเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น เราจึงพบว่าแท้จริงแล้วโรคซึมเศร้านั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวและมีผู้ป่วยเป็นโรคนี้เป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้ให้ข้อมูลว่าจากการระบาดในช่วงปีแรกของโรคโควิด 19 นั้นพบว่ามีผู้ป่วยประสบภาวะวิตกกังวลและซึมเศร้าทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 25% ซึ่งสาเหตุนั้นเกิดจากการที่ต้องแยกตัวออกห่างจากสังคม ความกังวล ความเครียด ความกลัว รวมถึงปัญหาทางด้านการเงิน อย่างไรก็ตามหลายคนก็ไม่ทราบว่า เมื่อไหร่จะจึงเรียกว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เราลองมาทำความเข้าใจและประเมินอาการโรคซึมเศร้ากัน
สาระควรรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า
- "เศร้านาน หงุดหงิดง่าย หดหู่ ว่างเปล่า ไม่มีสมาธิ ไม่อยากทำอะไรที่เคยชอบ มีความคิดเรื่องความตาย" คือสัญญาณเตือนอาการซึมเศร้า
- โรคซึมเศร้าเกิดได้จากทั้งพันธุกรรม สารเคมีในสมอง และสิ่งแวดล้อม
- ซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องน่าอาย รักษาได้ เริ่มจากยอมรับ และหันมาดูแลตัวเองให้มากขึ้น
- เคล็ดลับหายจากโรคซึมเศร้า ออกกำลังกาย ทานยาต่อเนื่อง ไม่หยุดยาเอง
โรคซึมเศร้า คืออะไร
โรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง 3 ชนิด คือ ซีโรโตนิน นอร์อิพิเนฟริน และโดปามีน สาเหตุของโรคซึมเศร้าสามารถเกิดจากทั้งพันธุกรรม เช่น ผู้ป่วยที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคทางด้านอารมณ์ จะมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไป และเกิดจากสภาพแวดล้อม การเลี้ยงดูของครอบครัว ซึ่งตัวกระตุ้นอาจจะมาจากเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ จนส่งผลทำให้เกิดโรคซึมเศร้าตามมาได้ การป่วยเป็นโรคทางกายต่างๆ เช่น ไทรอยด์ ลมชัก สมองเสื่อม หรือยารักษาโรคบางชนิดที่คนไข้รับประทาน ยาเสพติด หรือโรคทางด้านจิตเวชอื่น ๆ อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้าเช่นกัน
อาการโรคซึมเศร้า เป็นอย่างไร
โรคซึมเศร้ามีกี่ระยะ? จริง ๆ แล้วอาการซึมเศร้าจะไม่ได้มีระยะที่บอกชัดเจน สิ่งสำคัญที่จะทำให้เรารู้ทันภาวะซึมเศร้าคือการสังเกตตัวเอง รวมถึงการสังเกตจากคนใกล้ตัว ครอบครัว หรือเพื่อนฝูง ด้วยการเช็คอาการโรคซึมเศร้า โดยอาการที่ควรสังเกต ได้แก่
รู้สึกเศร้าหรือว่างเปล่าเป็นเวลานาน
ไม่มีความสุขหรือไม่รู้สึกสนใจกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่เคยชื่นชอบหรือทำแล้วมีความสุขในอดีต
หงุดหงิด กระสับกระส่าย กระวนกระวายใจ
รู้สึกสิ้นหวัง ไร้ค่า รู้สึกผิด
อ่อนเพลีย มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น นอนมากเกินไป หรือนอนไม่หลับ
มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารเปลี่ยนไป
ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ
มีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร
มีปัญหาในการใช้สมาธิจดจำรายละเอียด หรือการตัดสินใจ
คิด พูดช้าลง
คิดเรื่องความตายและการฆ่าตัวตาย
ใช้สารเสพติด
หากไม่แน่อาการว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าแล้วหรือยังสามารถทำแบบคัดกรอง (2Q) และแบบประเมินโรคซึมเศร้า (9Q) เพื่อประกอบการประเมินอาการเบื้องต้นได้ตามลิงก์นี้
https://dmh.go.th/test/download/files/2Q%209Q%208Q%20(1).pdf
ประเภทของโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้านั้นมีหลายประเภท ดังนี้
โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder)
โรคซึมเศร้าเป็นยังไง? ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักจะรู้สึกเศร้า ท้อแท้ สิ้นหวัง มีความรู้สึกไม่อยากทำอะไร เบื่อแม้แต่สิ่งที่เคยชอบทำ มีอาการติดต่อกัน 2 สัปดาห์ขึ้นไป น้ำหนักลดลง หรือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รู้สึกไร้เรี่ยวแรง หงุดหงิด กระสับกระส่าย กระวนกระวายใจ รู้สึกสิ้นหวัง ไร้ค่า รู้สึกผิด อ่อนเพลีย มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น นอนมากเกินไป หรือนอนไม่หลับ และอาจมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาและการรักษาจากแพทย์ต่อไป
โรคซึมเศร้าเรื้อรัง (Dysthymia Depression)
ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังจะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าโรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) ประเภทแรก แต่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเรื้อรังจะมีอาการต่อเนื่องนานอย่างน้อย 2 ปี ผู้ป่วยมักจะรู้สึกเบื่ออาหารหรือรับประทานอาหารมากเกินไป มีปัญหาด้านการนอน คือนอนมากเกินไปหรือนอนไม่หลับ เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หมดหวัง หมดแรง และไม่มีสมาธิ
อาการซึมเศร้าหลังคลอด (Postnatal Depression)
หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า มาม่าบลู (Mama blues) เบบี้บลู (Baby blues) หรือภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด ซึ่งจะพบได้ประมาณ 50-80% ของคุณแม่ ซึ่งจะพบอาการซึมเศร้าหลังคลอดได้ทั้งคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ครั้งแรกหรือเคยตั้งครรภ์มาแล้ว และพบได้ทุกช่วงอายุของการตั้งครรภ์
คุณแม่ที่มีอาการซึมเศร้ามักมีอารมณ์หม่นหมอง ไม่มีความสุข อารมณ์แปรปรวน โกรธง่าย เหงา วิตกกังวล คล้ายถูกทอดทิ้ง อยู่ ๆ ก็อาจร้องไห้ได้ นอนไม่หลับ ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดตั้งแต่ 1-3 วันแรกหลังคลอดซึ่งเป็นช่วงที่ฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก
ทั้งนี้บางท่านอาจมีอาการไม่รุนแรง ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่จะมีอาการประมาณ 3-4 วัน และไม่เกิน 2 สัปดาห์ อาการจะหายไปเองจากการปรับตัวได้ และจากกำลังใจจากคนรอบข้าง แต่หากคุณแม่มีอาการรุนแรง และไม่สามารถหายได้เอง มีอาการต่อเนื่องนานเกิน 2 สัปดาห์ ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุด
โรคซึมเศร้าก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Dysphoric Disorder)
สำหรับโรคซึมเศร้าก่อนมีประจำเดือนผู้ป่วยมักมีอาการซึมเศร้าในช่วงก่อนมีประจำเดือน หรือช่วงสัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน เมื่อประจำเดือนมาแล้วอาการมักดีขึ้นภายใน 2-3 วัน อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ อารมณ์แปรปรวน เศร้า อารมณ์อ่อนไหวง่าย หงุดหงิด โมโหง่าย สิ้นหวัง ท้อแท้ เครียด วิตกกังวล เบื่อ เหนื่อยง่าย สมาธิจดจ่อไม่ดีเหมือนเดิม อาจนอนไม่หลับ หรือนอนหลับได้ไม่ดี และอาจมีการเจ็บเต้านม ตัวบวม ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อร่วมด้วย
โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล (Seasonal Affective Disorder – SAD)
โรคซึมเศร้าตามฤดูกาลเป็นโรคที่มักเกิดขึ้นเฉพาะช่วงเวลา โดยมักพบมากในฤดูหนาวเนื่องจากเป็นช่วงที่เวลากลางคืนยาวนานกว่าช่วงกลางวัน คนไข้มักเกิดอาการซึมเศร้า หดหู่ เหนื่อยล้า แยกตัวออกจากสังคม ส่วนมากอาการมักจะหายไปภายในไม่กี่เดือน
อย่าปล่อยให้อาการซึมเศร้าเรื้อรัง ลองปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่แอป BeDee สะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง
สาเหตุการเกิดโรคซึมเศร้า
สาเหตุโรคซึมเศร้า สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 สาเหตุ ดังนี้
- สาเหตุทางกายภาพ
- สาเหตุทางพันธุกรรม ผู้ป่วยที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคทางอารมณ์ จะมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไป
- สาเหตุทางจิตสังคม ได้แก่ เหตุการณ์สำคัญในชีวิต สิ่งแวดล้อม ลักษณะนิสัย หรือการเลี้ยงดูของครอบครัว
ปัจจัยเสี่ยงนำไปสู่โรคซึมเศร้า
- คนในครอบครัวมีประวัติการเป็นโรคซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย เป็นโรคทางจิตเวชอื่น ๆ หรือมีประวัติการติดสุราเรื้อรัง
- มีประวัติการป่วยเป็นโรคทางจิตเวช เช่น โรควิตกกังวล
- ลักษณะนิสัย เช่น เป็นคนมองโลกในแง่ร้าย ชอบดูถูกและตำหนิตัวเอง
- เจ็บป่วยเรื้อรัง
- ใช้ยานอนหลับ
- เคยผ่านเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง เช่น การสูญเสียบุคคลสำคัญในครอบครัว สูญเสียบุคคลที่รัก ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทารุณกรรมทางเพศ
- ไม่ได้ยอมรับจากคนรอบข้าง เช่น การเบี่ยงเบนทางเพศสภาพ
โรคซึมเศร้า วินิจฉัยอย่างไร
การวินิจฉัยตรวจโรคซึมเศร้า แพทย์จะใช้อาการในการวินิจฉัยเป็นหลัก โดยอ้างอิงตามเกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า DSM-5 Criteria ดังนี้
ผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้ 5 อาการ หรือมากกว่า
- มีอารมณ์ซึมเศร้าแทบทั้งวัน และแทบทุกวัน ผู้ป่วยอาจจะบอกว่า รู้สึกเศร้า ว่างเปล่า สิ้นหวัง หรือผู้อื่นอาจจะสังเกตว่าผู้ป่วยร้องไห้ง่ายขึ้น (ในเด็กและวัยรุ่นอาจเป็นอารมณ์หงุดหงิด)
- ความสนใจ หรือความเพลินใจในกิจกรรมต่าง ๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมากเกือบทุกวัน
- น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก (น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน) หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมาก
- นอนไม่หลับ หรือหลับมากเกินไป
- กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า หรือรู้สึกผิดมากเกินไป
- สมาธิลดลง ใจลอย ลังเล
- คิดเรื่องการตาย คิดอยากตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย
โดยผู้ป่วยต้องมีอาการในข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ ยาวนาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป และต้องมีอาการเหล่านี้อยู่แทบจะตลอดเวลาและเกือบทุกวัน
อาการจะส่งผลให้เกิดความทุกข์อย่างชัดเจน หรือส่งผลต่อหน้าที่ต่าง ๆ เช่น การเรียน การงาน ด้านสังคม หรือหน้าที่ต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับวัยนั้นหรืออาชีพนั้น ๆ ภาวะซึมเศร้านี้ไม่ได้เกิดจากการใช้สารเสพติด หรือโรคทางกาย
การรักษาโรคซึมเศร้า
รักษาด้วยจิตบำบัด
สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง แพทย์อาจจะใช้วิธีรักษาด้วยจิตบำบัดเพียงอย่างเดียว แต่ในผู้ป่วยที่มีระดับความรุนแรงของอาการปานกลาง หรือรุนแรง แพทย์จะรักษาด้วยการใช้จิตบำบัดควบคู่กับการรับประทานยา การรักษาด้วยจิตบำบัดนั้นมีทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาว หลากหลายรูปแบบ ได้แก่ จิตบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) พฤติกรรมบำบัด จิตบำบัดระหว่างบุคคล ครอบครัวบำบัด การฝึกทักษะต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการจัดการความเครียด ทักษะการจัดการความโกรธ ทักษะการสื่อสาร เป็นการสร้างเสริมทักษะชีวิต ทั้งนี้สามารถใช้จิตบำบัดร่วมกับการรับประทานยาในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากขึ้นได้
รักษาด้วยยา
สำหรับคนไข้ที่มีอาการรุนแรงมากขึ้นแพทย์จะรักษาด้วยการจ่ายยาโรคซึมเศร้า เพื่อปรับสารสื่อประสาทในสมอง ช่วยควบคุมอารมณ์ของคนไข้ ในบางรายอาจใช้การรักษาด้วยการพูดคุยร่วมด้วย การเลือกยาจะเลือกตามชนิดของโรคซึมเศร้าที่ผู้ป่วยเป็น สิ่งสำคัญของการรักษาด้วยยาคือคนไข้ต้องรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง และควรรับประทานอย่างน้อย 6 เดือน หรือเท่ากับระยะเวลาที่อาการของโรคกำเริบในช่วงก่อนหน้า เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งสามารถลดจำนวนรอบที่เป็น และความรุนแรงของโรคซึมเศร้าได้ด้วย หากรับประทานยาจนครบกำหนดแล้วแพทย์จะค่อย ๆ ปรับยาลดลง ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาเองเพราะจะทำให้อาการกำเริบได้
รักษาด้วยไฟฟ้า
การรักษาด้วยไฟฟ้าคือการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าผ่านศีรษะเพื่อไปกระตุ้นเซลล์สมองผ่านสมองส่วนหน้าซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้าและอาการทางจิตเวช วิธีนี้เหมาะสำหรับคนไข้ที่ใช้การรักษาด้วยการพูดคุยและการใช้ยาไม่ได้ผลหรือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง
เลือกไม่ถูกว่าควรรักษาโรคซึมเศร้ากับใคร? มาดูกันว่า นักจิตวิทยากับจิตแพทย์ แตกต่างกันอย่างไร?
หากมีคนใกล้ตัวเป็นโรคซึมเศร้า ควรทำอย่างไร
หลายคนคงเคยมีประสบการณ์ที่คนใกล้ตัวหรือคนในครอบครัวของเราป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แต่ไม่รู้ว่าคนเป็นโรคซึมเศร้า ต้องการอะไร หรือไม่แน่ใจว่าจะต้องช่วยผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างไร ในฐานะที่คุณเป็นคนใกล้ชิดกับผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นต้องคาดคั้นว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องการอะไร เพราะแท้จริงแล้วสิ่งที่คุณสามารถช่วยเยียวยาผู้ป่วยซึมเศร้าได้ ด้วยเพียงแค่สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ เช่น
1. พูดคุยและรับฟังผู้ป่วย
สำคัญอย่างยิ่งที่เราควรเป็นผู้รับฟังที่ดีสำหรับผู้ป่วย และพูดคุยกับผู้ป่วยด้วยความเข้าใจ ข้อสำคัญที่ควรตระหนักถึงคือจะต้องไม่รบเร้าให้ผู้ป่วยพูดหรือเล่าในสิ่งที่เขาไม่อยากพูดถึง ญาติควรทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจและไว้วางใจที่จะพูดคุยกับเรา ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจรู้สึกน้อยใจ หรือไม่สบายใจกับคำพูดได้ง่าย ดังนั้นญาติควรพูดคุยด้วยความใจเย็น แสดงให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าเราพร้อมช่วยเหลือผู้ป่วย
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ วิธีคุยกับคนเป็นโรคซึมเศร้า รับมือให้เป็นก็เท่ากับช่วยเหลือ
2. ทำความเข้าใจโรคซึมเศร้า
ญาติหรือผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยควรทำความเข้าใจโรคซึมเศร้าและอาการเพื่อให้เข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วย และทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกับผู้ป่วยได้อย่างเข้าใจมากขึ้น ไม่กล่าวโทษว่าผู้ป่วยทำตัวไม่ดี ไม่เหมาะสม เพราะนั่นอาจเป็นอาการของโรค
3. สนับสนุน ให้กำลังใจผู้ป่วยในการรักษา
ญาติหรือผู้ใกล้ชิดอาจสนับสนุนและให้กำลังใจผู้ป่วยด้วยการไปพบแพทย์เป็นเพื่อนผู้ป่วย คอยอยู่เคียงข้างผู้ป่วย รับฟัง และสนับสนุนผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการรักษามากยิ่งขึ้น
4. สังเกตสัญญาณเตือนต่อการฆ่าตัวตาย
หลายครั้งกว่าเราจะรู้ว่าคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคซึมเศร้าก็อาจจะสายเกินไป ญาติและผู้ใกล้ชิดควรสังเกตอาการของผู้ป่วยอยู่เสมอ เช่น ผู้ป่วยเริ่มมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเองหรือไม่ หรือผู้ป่วยพูดว่าอยากฆ่าตัวตายอย่างชัดเจน หากญาติพบว่าผู้ป่วยเริ่มมีพฤติกรรมเหล่านี้ควรรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์โดยด่วน
5. ช่วยเหลือผู้ป่วยในการใช้ชีวิตประจำวัน
ญาติควรสนับสนุนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยโดยการชวนผู้ป่วยไปทำกิจกรรมที่ผู้ป่วยเคยชื่นชอบ หรือทำกิจกรรมใหม่ๆ เช่น การออกกำลังกาย ออกไปเดินเล่น วาดรูป เน้นการเข้าใจผู้ป่วยและสนับสนุนผู้ป่วยในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสบายใจมากที่สุด
ปรึกษาวิธีการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากับจิตแพทย์และนักจิตวิทยาที่แอป BeDee สะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง
การป้องกันโรคซึมเศร้า
สำหรับใครที่ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้าแต่กำลังกลัดกลุ้ม วิตกกังวล มีเรื่องไม่สบายใจ สามารถป้องกันหรือจัดการกับความกังวลดังกล่าวนั้นได้ด้วยวิธีเหล่านี้
- พูดคุยกับคนที่เราไว้ใจเกี่ยวกับอารมณ์หรือเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกเศร้า
- พบปะ พูดคุยกับเพื่อนและครอบครัวสม่ำเสมอ
- ออกกำลังกาย
- พาตัวเองออกไปทำกิจกรรมต่าง ๆ
- ทำกิจกรรมที่เคยทำแล้วรู้สึกมีความสุข
- ทำตามแผน ไม่ทำตามอารมณ์
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และพักผ่อนให้เป็นเวลา
- หมั่นสังเกตอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง
- ฝึกวิธีการผ่อนคลายต่าง ๆ (Relaxation technique) เช่น หายใจเข้าออกลึก ๆ เล่นโยคะ หรือจินตนาการถึงสิ่งที่ชอบและทำให้มีความสุข
- ฝึกทักษะต่าง ๆ เช่น ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะสังคม ทักษะการสื่อสาร ทักษะระหว่างบุคคล
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
โรคซึมเศร้าในเด็ก
อาการซึมเศร้าสามารถเกิดได้ในทุกเพศทุกวัย คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตลูก โดยเฉพาะช่วงที่เด็กมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงวัยต่าง ๆ เช่น วัยที่ต้องเข้าเรียน หรือวัยรุ่น ความเครียดเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุเพราะเด็ก ๆ ต้องปรับตัวเข้าสู่สังคมในโรงเรียน ไปเจอสังคมใหม่ ๆ ใช้ชีวิตอยู่กับคนอื่น ลูกอาจจะไม่สามารถปรับตัวได้ทัน หรือไม่รู้จะจัดการกับความเครียดอย่างไร จึงเกิดความเครียดสะสม เริ่มมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เริ่มเก็บตัว ไม่ค่อยพูด และเริ่มไม่อยากไปเรียน ซึ่งอาจจะเป็นอาการเบื้องต้นของโรคซึมเศร้าในเด็กได้ เด็ก ๆ อาจมีอาการเหล่านี้ติดต่อกันอย่างน้อย 2 อาทิตย์
- หงุดหงิดง่าย
- เด็กมีอารมณ์ซึม เศร้า เฉื่อยชา ไม่อยากทำอะไร เบื่อหน่ายมากขึ้น
- กลัวการไปโรงเรียน เกาะติดผู้ปกครอง
- เริ่มเก็บตัว ไม่ค่อยพูดจา หรือพูดน้อยลงกว่าเดิม
- ผลการเรียนตก
- ต่อต้านสังคม ก้าวร้าว หนีโรงเรียน
- ใช้สารเสพติด
- ไม่มีความสุข ถึงแม้จะเป็นกิจกรรมที่เคยชอบมาก่อน
- ไม่อยากรับประทานอาหาร น้ำหนักลด หรือกินอาหารมากเกินไปในบางราย
- นอนไม่ค่อยหลับ หรือตื่นเร็วกว่าปกติ ในบางรายอาจนอนทั้งวัน
- ไม่มีสมาธิในการเรียน เรียนไม่เข้าใจ ความจำแย่ลง
- รู้สึกผิด โทษตัวเอง รู้สึกไร้ค่า
- แอบร้องไห้คนเดียว
- ใครทำอะไรก็ผิดหูผิดตา ไม่พอใจไปซะหมด
- อยากฆ่าตัวตาย หรือบ่นว่าอยากตาย
โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ
โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ เป็นอีกโรคเงียบที่เกิดกับผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุเป็นอีกกลุ่มที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายอย่างมาก เนื่องจากร่างกายเกิดความเสื่อมถอย เราพบว่าผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยผู้ป่วยมักมีอาการทางกาย และอาการอื่น ๆ ดังนี้
- รับประทานอาหารน้อยลง
- เบื่อหน่าย
- ไม่อยากออกไปไหน
- รู้สึกไร้ค่า ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป
- มีปัญหาการนอน นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท หรือหลับ ๆ ตื่น ๆ
- หงุดหงิด ฉุนเฉียว
- รู้สึกว่าตัวเองไม่สบาย ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย
- พูดคุยน้อยลง
คำถามที่พบบ่อย (FAQ) เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้า รักษาหายไหม?
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสามารถรักษาหายได้ จากข้อมูลโดยทั่วไปหากคนไข้ไม่รักษาอาการซึมเศร้า อาการดังกล่าวอาจจะหายภายใน 6-13 เดือน แต่หากคนไข้ได้รับการรักษาอาการอาจหายได้ภายใน 3 เดือน
ทั้งนี้ควรรับประทานยารักษาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน หลังอาการดีขึ้นแล้วเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
รักษาโรคซึมเศร้าด้วยตัวเองได้ไหม?
โรคซึมเศร้าสามารถหายเองได้ ในผู้ป่วยที่อาการน้อย การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ เช่น การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ดี การได้รับความช่วยเหลือจากสังคม และมีทักษะการจัดการความเครียด อาจจะทำให้อาการลดลงและหายได้เอง
อย่างไรก็ตา ในผู้ป่วยที่เป็นซึมเศร้าที่รุนแรงกว่า จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาเพื่อให้อาการดีขึ้นและป้องกันภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาจะเกิดผลกระทบต่อชีวิต ความสัมพันธ์ งาน และชีวิตความเป็นอยู่โดยรวม และอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมา เช่น การใช้สารเสพติด การทำร้ายตัวเอง และมีความคิดอยากตาย
เพิ่มยารักษาโรคซึมเศร้าด้วยตนเองได้หรือไม่?
ผู้ป่วยไม่ควรเพิ่มยาต้านเศร้าด้วยตัวเอง ควรปรึกษาแพทย์หากคิดว่าอาการแย่ลงหรือยาที่รับประทานอยู่ไม่สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้
ใช้ธรรมะรักษาโรคซึมเศร้าได้ไหม?
โรคซึมเศร้าเป็นภาวะทางจิตใจที่เกี่ยวกับสื่อสารประสาทในสมอง การทำงานของสมอง และสิ่งแวดล้อม การรักษาโรคซึมเศร้าที่ได้ผลคือการใช้ยาและการทำจิตบำบัด เช่น Cognitive Behavioral Therapy (CBT) หรือ Interpersonal therapy (IPT) และวิธีอื่น ๆ ที่มีหลักฐานทางงานวิจัย
การฝึกสติ นั่งสมาธิ เป็นหนึ่งในหลักของพระพุทธศาสนาที่แสดงว่าสามารถลดอาการซึมเศร้าได้ สามารถใช้ธรรมะเป็นการรักษาเสริมจากการรักษาหลัก ไม่ควรใช้ธรรมะเพียงอย่างเดียว เช่น การรักษาที่เรียกว่า Mindfulness-based cognitive therapy (MBCT) เป็นจิตบำบัดแบบหนึ่งที่ผสมระหว่างการฝึกสติ กับเทคนิคการปรับความคิดและพฤติกรรมและมีหลักฐานว่าสามารถลดอาการซึมเศร้าได้
โดยสรุปแล้วธรรมะสามารถช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ และทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและรับการรักษาจากบุคลากรทางการแพทย์เป็นหลัก
สรุปเรื่องโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่รักษาได้และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยชรา สิ่งสำคัญคือการรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเองและการสังเกตจากคนรอบข้าง เพื่อป้องกันเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดที่อาจนำไปสู่การสูญเสีย ปัจจุบันการพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องน่าอายอีกต่อไป ถึงแม้เราอาจจะยังไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้าหรือมีภาวะซึมเศร้าก็สามารถปรึกษา พูดคุย กับจิตแพทย์ได้ การมีสุขภาพที่ดีนั้นไม่ใช่แค่ร่างกาย แต่จิตใจยังเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เรามีแรงใจในการใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุขด้วย
Content powered by BeDee’s experts
พญ.มัญชุกร ลีละตานนท์
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
- American Psychiatric Association. (n.d.). What Is Depression?. Retrieved April 18, 2023, from https://www.psychiatry.org/patients-families/depression/what-is-depression
- Association, A. P. (2015). Depressive Disorders: DSM-5® Selections. American Psychiatric Pub.
- Sadock, B. J., Sadock, V. A., & Ruiz, P. (2015). Kaplan and Sadock’s synopsis of psychiatry: Behavioral sciences/clinical psychiatry (11th ed.). Wolters Kluwer Health.
- Clinical Practice Review for Major Depressive Disorder | Anxiety and Depression Association of America, ADAA. (n.d.). https://adaa.org/resources-professionals/practice-guidelines-mdd
- World Health Organization: WHO. (2022, March 2). COVID-19 pandemic triggers 25% increase in prevalence of anxiety and depression worldwide. Retrieved April 27, 2023, from https://www.who.int/news/item/02-03-2022-covid-19-pandemic-triggers-25-increase-in-prevalence-of-anxiety-and-depression-worldwide
รักษาโรคซึมเศร้าที่ไหนดี
หากพบว่าคนใกล้ตัวของเรามีอาการเข้าข่ายที่จะเป็นโรคซึมเศร้า รู้สึกเครียด จัดการอารมณ์และชีวิตไม่ได้ หรือมีความกังวล การปรึกษาจิตแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทางเพื่อหาทางออกเป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรรีบทำมากที่สุด เพราะหากปล่อยไว้นานอาจจะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้นและยากต่อการรักษา
BeDee มีทีมจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้คำปรึกษาทุกวัน สะดวก ไม่ต้องเดินทาง เพียงทำนัดล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน BeDee ตามเวลาที่คุณสะดวก ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากเครือ BDMS พร้อมช่วยเหลือคุณทุกวัน สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS