ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

ช่วงเวลาที่ผู้หญิงกำลังจะกลายเป็นคุณแม่ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่น่ายินดีและน่าจะมีความสุข แต่เมื่อหลังจากคลอดลูกแล้ว คุณแม่กลับมีอาการซึมลง ดูไม่มีความสุข หรือเกิดความเครียดขึ้นมา อาการเหล่านี้อาจส่งสัญญาณว่าคุณแม่กำลังมีอาการของซึมเศร้าหลังคลอด หรือที่เรียกกันว่า Baby Blue

 

อาการซึมเศร้าหลังคลอดเป็นอย่างไร มีระยะเวลานานแค่ไหน มีกี่ระดับ และจะมีวิธีแก้อย่างไร มาทำความเข้าใจกันเลย

สารบัญบทความ

ซึมเศร้าหลังคลอด คืออะไร

ซึมเศร้าหลังคลอด หรือ Postpartum Depression คือภาวะทางอารมณ์คุณแม่หลังคลอดที่อาจเกิดจากฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวน จนทำให้เกิดอาการเศร้าซึม เครียด หรือรุนแรงที่สุดคืออาจจะมีความคิดที่จะทำร้ายลูกหรือตนเองได้ มีโอกาสเกิดขึ้นได้ประมาณ 10-20% ในคุณแม่หลังคลอด โดยผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนั้นจะมีทั้งหมด 3 ระดับ ดังนี้

1. ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Blue) เกิดขึ้นจากความวิตกกังวลในการเลี้ยงลูก จนทำให้เกิดเป็นอารมณ์เศร้าขึ้นมา เกิดได้ตั้งแต่หลังคลอด 1-3 วัน จนถึง 1-2 สัปดาห์

 

ผู้ที่มีอารมณ์ซึมเศร้าหลังคลอดจะมีอาการวิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน รู้สึกต้องแบกรับทุกอย่างไว้คนเดียว มีอาการนอนไม่หลับและรับประทานอาหารได้น้อยลง ซึ่งภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอดนี้จะคงอยู่เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ และสามารถหายได้เองโดยที่ไม่ต้องรับการรักษา

 

ทำความรู้จัก โรควิตกกังวล ภาวะทางอารมณ์ที่สามารถส่งผลต่อสุขภาพทั้งทางจิตใจและทางกายได้ที่นี่

2. โรคซึมเศร้าหลังคลอด

โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression) คือภาวะหลังคลอดที่สามารถเกิดได้ในช่วงสัปดาห์แรก ๆ หลังการคลอด กลุ่มนี้จะมีอาการรุนแรงกว่าและระยะเวลาของอาการนานกว่า ซึ่งจะเป็นทุกวันหรือเป็น ๆ หาย ๆ ในระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยลักษณะอาการจะคล้ายกับโรคซึมเศร้าทั่วไป ไม่สามารถหายได้เอง ต้องเข้ารับการปรึกษาและรักษากับแพทย์

3. โรคจิตหลังคลอด

โรคจิตหลังคลอด (Postpartum Psychosis) เป็นอาการทางจิตในคุณแม่หลังคลอด 1-4 วัน กลุ่มนี้จะพบได้น้อยแต่มีอาการที่รุนแรง หมกมุ่นกับลูกเป็นพิเศษ อารมณ์ฉุนเฉียว หวาดระแวง คล้ายอาการของโรคไบโพลาร์หรือโรคจิตเภท บางรายอาจได้ยินเสียงแว่วให้ทำร้ายตนเองหรือทำร้ายลูก

 

โดยโรคกลุ่มนี้ไม่สามารถหายได้เอง และจำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาลเพื่อติดตามอาการของภาวะโรคจิตหลังคลอดอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองและลูก

อาการของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด 

หลังจากการคลอดผ่านไปเรียบร้อยแล้ว คุณแม่ คุณพ่อ รวมถึงคนใกล้ชิดควรหมั่นสังเกตอารมณ์คุณแม่หลังคลอดอยู่เสมอว่าในระยะ 3-4 วัน ไปจนถึง 1 สัปดาห์ คุณแม่มีอาการตามนี้หรือไม่

  • นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไป
  • วิตกกังวลรุนแรง อารมณ์แปรปรวน
  • เบื่ออาหาร หรือรับประทานอาหารมากเกินไป
  • รู้สึกตัวเองไร้ค่า กังวลว่าตัวเองเป็นแม่ที่ไม่ดี
  • รู้สึกไม่ผูกพันกับลูก
  • ไม่มีสมาธิ
  • มีความคิดสิ้นหวัง อยากทำร้ายลูก หรือทำร้ายตัวเอง คิดเรื่องความตาย
  • ความสนใจในสิ่งที่ชอบหายไป เริ่มเบื่อหน่ายในการเลี้ยงลูก
  • แยกตัวมาอยู่คนเดียว ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวหรือคนรอบข้าง
  • ซึมเศร้า ร้องไห้บ่อยครั้ง

 

หากคุณแม่สังเกตว่าตัวเองเริ่มมีอาการดังนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีระยะเวลาเกิน 1 สัปดาห์ ควรบอกคุณพ่อ ครอบครัวหรือคนใกล้ชิด และรีบพบแพทย์เพื่อปรึกษาแนวทางการรักษาอย่างเร็วที่สุด

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากสาเหตุใด

โรคซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากอะไร

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนั้น เกิดจากระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงหลังคลอด เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโพรเทสเทอโรนลดลงอย่างรวดเร็ว หรือฮอร์โมนไทรอยด์ที่ลดลง ซึ่งจะทำให้เกิดอาการเศร้าซึม เฉื่อยชา

ทั้งนี้ภาวะทางอารมณ์ก็อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้ เช่น ความวิตกกังวลในการดูแลลูก เพราะทารกแรกเกิดนั้นต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ทำให้คุณแม่มีเวลาพักผ่อนน้อย เมื่อร่างกายเหนื่อย ความสามารถในการทำสิ่งต่าง ๆ รวมถึงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคุณแม่ลดลง จึงอาจเกิดความรู้สึกเครียด กังวล เริ่มลดทอนคุณค่าของตัวเอง และกลายเป็นอาการซึมเศร้าได้

นอกจากในเรื่องของฮอร์โมนและภาวะทางอารมณ์แล้ว อาจมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้เช่นกัน

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้คุณแม่มีอาการซึมเศร้าหลังคลอด ได้แก่ 

  • คุณแม่อายุน้อย 
  • เคยเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน 
  • มีคนในครอบครัวเคยหรือกำลังเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
  • ปัจจัยภายนอก เช่น ปัญหาด้านการเงิน การงาน ปัญหาภายในครอบครัว 
  • การตั้งครรภ์ไม่พร้อม หรือตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์
  • เด็กที่คลอดออกมาไม่สมบูรณ์

 

อาจมีประวัติของอาการโรคเครียดสะสม

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดกับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนั้นควรที่จะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอารมณ์ที่สามารถส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของคนในครอบครัว ทั้งตัวคุณแม่ที่ต้องอยู่กับลูกบ่อย ๆ และคนรอบข้าง อาจจะเป็นคุณพ่อ ปู่ย่าตายายที่มาช่วยเลี้ยงลูก เพราะภาวะทางอารมณ์อาจจะส่งผลไปถึงการเลี้ยงดูเด็กได้

 

และเมื่อภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนี้ส่งผลต่อความสามารถในการเลี้ยงดู ลูกก็อาจจะได้รับผลกระทบทางด้านพฤติกรรมและอารมณ์ ไม่ยอมกินนม นอนหลับยาก และอาจส่งผลในเรื่องของพัฒนาการเด็กที่ช้าลงด้วย

ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยงซึมเศร้าหลังคลอด

เพื่อวางแผนรับมือภาวะทางอารมณ์อย่างซึมเศร้าหลังคลอด เราสามารถรู้ได้ว่าคุณแม่มีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดหรือไม่ ด้วยการดูประวัติและสังเกตอาการกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้

กลุ่มเสี่ยงที่จะมีอารมณ์เศร้าหลังคลอด

  • ผู้ที่มีประวัติป่วยโรคซึมเศร้า
  • ผู้ที่เคยมีอาการซึมเศร้าในระหว่างตั้งครรภ์
  • ผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวต่อการตั้งครรภ์ได้
  • ผู้ที่มีอารมณ์แปรปรวนระหว่างตั้งครรภ์

 

กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด

  • ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าในระหว่างตั้งครรภ์
  • ผู้ที่เคยเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด มีโอกาสเกิดซ้ำ 50%

อาการภาวะซึมเศร้าหลังคลอดแบบใด ที่ควรไปพบแพทย์

เมื่อคุณแม่เริ่มมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ควรรีบบอกคุณพ่อ ครอบครัวและคนใกล้ชิด เพื่อที่จะได้ช่วยกันดูแลสภาวะทางจิตใจให้ดีขึ้น แต่หาก 1 สัปดาห์แล้วยังไม่หาย หรือมีอาการบ่งชี้ของโรคซึมเศร้าหลังคลอด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

ลักษณะอาการซึมเศร้าหลังคลอดที่ไม่ควรปล่อยไว้ และต้องไปพบแพทย์ มีดังนี้

  • อารมณ์แปรปรวนรุนแรงมากขึ้น ร้องไห้บ่อย
  • เริ่มมีปัญหาในการเลี้ยงดูลูก
  • เริ่มคิดทำร้ายตัวเองและลูก คิดเรื่องความตาย

 

ปรึกษาอาการซึมเศร้าหลังคลอดกับจิตแพทย์และนักจิตวิทยาที่แอป BeDee สะดวก ไม่ต้องเดินทาง เป็นส่วนตัว

การตรวจวินิจฉัยภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

ตรวจประเมินภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

หากคุณแม่ หรือครอบครัวสงสัยว่าตัวคุณแม่มีอาการคล้ายจะเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด ไม่ต้องกังวลใจไป และสามารถปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยได้เลย

 

โดยการวินิจฉัยจะมีให้ทำแบบทดสอบโรคซึมเศร้าหลังคลอด หากผลการทดสอบพบว่ามีแนวโน้มที่จะมีอาการของซึมเศร้าหลังคลอด แพทย์อาจส่งตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมน และตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ด้วยผลการตรวจเลือดและการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมจะทำให้แพทย์สามารถรักษาได้อย่างถูกต้องและตรงจุดมากที่สุด

การรักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอด 

เมื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยว่ามีอาการของโรคซึมเศร้าหลังคลอด ควรจะต้องเข้ารับการรักษา เนื่องจากโรคซึมเศร้าหลังคลอดไม่สามารถรอให้หายเองได้ โดยแพทย์จะออกแบบวิธีการรักษาจากผลการวินิจฉัย ซึ่งวิธีการรักษาจะคล้ายกับการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ดังนี้

การรักษาด้วยวิธีจิตบำบัด

วิธีนี้จะเป็นการปรึกษาพูดคุยกับนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ ผู้ป่วยจะได้ระบายความรู้สึกและเล่าถึงอาการที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่มีภาวะเครียดหลังคลอด มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนให้ผู้ป่วยได้มีส่วนร่วมในการคิดหาวิธีแก้ไข และเพื่อให้แพทย์รักษาตามอาการได้อย่างเหมาะสม

การรักษาด้วยยาต้านเศร้า

แพทย์จะจ่ายยาต้านเศร้า(Antidepressant) เช่น ยากลุ่ม SSRI หากมีการวินิจฉัยที่เกี่ยวกับความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ซึ่งหากคุณแม่มีความกังวลเรื่องการใช้ยาช่วงให้นมบุตร สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อสอบถามเกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงในการใช้ยา โดยส่วนใหญ่สามารถใช้ยาที่มีผลข้างเคียงน้อยในช่วงให้นมบุตรได้

 

ในส่วนของการใช้ยา อาจจะต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องภายใต้ความดูแลและการแนะนำของแพทย์ ซึ่งอาจจะมีคุณแม่บางท่านที่เลี้ยงลูกอยู่บ้านคนเดียว ไม่สะดวกเดินทางไปรับยาด้วยตัวเอง ก็สามารถสั่งยาออนไลน์หลังจากที่ปรึกษากับคุณหมอและปรึกษาเภสัชกรได้

เข้ารับการรักษาอย่างเคร่งครัด และดูแลสุขภาพ

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการรักษาอาการซึมเศร้าหลังคลอดนั้น คุณแม่ต้องมีการเข้ารับการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ที่สำคัญต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลสุขภาพ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ พยายามไม่อยู่คนเดียว และไม่โทษตัวเอง อาจจะมีการพูดคุย เล่าเรื่องราวต่าง ๆ กับคุณพ่อ ครอบครัว หรือคนใกล้ชิด เพื่อที่จะปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น

วิธีรับมือกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

วิธีรับมือซึมเศร้าหลังคลอด

เมื่อมีอาการซึมเศร้าหลังคลอดแล้ว ไม่ใช่แค่ตัวคุณแม่คนเดียวเท่านั้นที่ต้องรับมือกับอาการ คุณพ่อหรือคนรอบข้างก็มีส่วนช่วยในการดูแลรับมือเช่นกัน เพื่อที่คุณแม่จะไม่รู้สึกตัวคนเดียว และช่วยเสริมสร้างความรู้สึกที่ดีให้คุณแม่ได้ด้วย

โดยวิธีรับมือเมื่อเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด มีดังนี้

  • ปรึกษาแพทย์ รับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ
  • ระบายให้คนรอบข้าง คนใกล้ชิดฟัง
  • ออกกำลังกายเพื่อผ่อนคลาย
  • หาเวลาให้ตัวเอง พักผ่อนหรือทำงานอดิเรก
  • ลดการรับข่าวสารที่ส่งผลต่ออารมณ์เชิงลบ
  • คุณพ่อ ครอบครัว/คนใกล้ชิด ช่วยกันดูแลลูก ไม่ให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อยเกินไป
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ ซึมเศร้าหลังคลอด

1. ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นนานแค่ไหน กี่วัน?

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เป็นได้นานตั้งแต่ 2 สัปดาห์ จนถึง 1 ปี

2. ซึมเศร้าหลังคลอดสามารถเกิดขึ้นกับคุณพ่อมือใหม่ได้หรือไม่?

คุณพ่อมือใหม่ก็สามารถมีอาการซึมเศร้าหลังคลอดได้เช่นกัน โดยเฉพาะคุณพ่อที่มีอายุน้อย หรือเคยมีประวัติโรคซึมเศร้า เคยมีปัญหาในความสัมพันธ์หรือปัญหาการเงิน ก็ส่งผลให้คุณพ่อมีภาวะซึมเศร้าได้

3. ซึมเศร้าหลังคลอดทานยาได้ไหม?

สามารถรับประทานยาได้ เนื่องจากในปัจจุบันมีตัวยาปะปนมากับน้ำนมได้น้อย หรือไม่ส่งผลกระทบต่อทารก แต่ควรอยู่ในคำสั่งของแพทย์ และควรปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์ และความเสี่ยงในการใช้ยา ไม่ควรหยุดรับประทานยาเอง 


ทำแบบทดสอบโรคซึมเศร้าเบื้องต้นกับพยาบาลที่แอป BeDee ไม่มีค่าใช้จ่าย!

สรุป ซึมเศร้าหลังคลอด ภาวะที่ควรเตรียมรับมือที่รักษาได้

โดยสรุปแล้ว ซึมเศร้าหลังคลอดนั้นอาจเป็นอาการที่มีผลจากทางด้านอารมณ์ หรือฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาการซึมเศร้า หรือภาวะเครียดหลังคลอดนี้ไม่ใช่สิ่งน่าอายหรือผิดปกติใด ๆ หากคุณแม่รู้สึกว่ามีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาคนรอบข้างเพื่อที่จะได้หาทางแก้ไข และไปพบแพทย์ได้ทันท่วงที

 

แต่ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนั้นก็ไม่ใช่หน้าที่ของคุณแม่ที่ต้องสังเกตเพียงคนเดียวเท่านั้น ในบางครอบครัวคุณแม่อาจจะกลัวที่จะพูด หรือพื้นฐานเป็นคนเงียบ ๆ ดังนั้นคนใกล้ชิดรอบตัวโดยเฉพาะคุณพ่อ ควรที่จะคอยสังเกตอารมณ์และพฤติกรรมของคุณแม่ว่า เข้าข่ายอาการของซึมเศร้าหลังคลอดหรือไม่ 

 

ปรึกษาหมอออนไลน์ พยาบาล หรือปรึกษาเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เรามีจิตแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิก และเภสัชกรพร้อมให้คำปรึกษาและจัดส่งสินค้าถึงมือ เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัวสูง ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS

 

 

Content powered by BeDee Expert

พญ.กัญญาภัค ศรีเจริญธรรม

จิตแพทย์

Stastistic on Postpartum depression. (2024, January 10). Postpartum Depression

Postpartum Depression Statistics

Postpartum Depression. (2023, December 11). March Of Dimes. https://www.marchofdimes.org/find-support/topics/postpartum/postpartum-depression#:~:text=Postpartum%20depression%20(also%20called%20PPD)%20is%20a%20medical%20condition%20that,of%20yourself%20and%20your%20baby.

 

Mayo Clinic Staff. (2022, November 24). Postpartum Depression – Symptoms and Causes. Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/postpartum-depression/symptoms-causes/syc-20376617

 

Postpartum Depression. (2023, October 17). Women’s Health. https://www.womenshealth.gov/mental-health/mental-health-conditions/postpartum-depression

บทความที่เกี่ยวข้อง

สารบัญบทความ รู้จักกับ Burnout คืออะไร? ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout คือ การเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ จิตใจ ที่เกิดขึ้นจากความเครียดในการทำงานเป็นระยะเวลานาน และขาดวิธีจัดการความเครียดที่เหมาะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคเครียดเรื้อรัง ทำให้รู้สึกอ่อนล้า

ทุกวันนี้กลุ่มโรคทางด้านอารมณ์หรือจิตเวชนั้นมีมากมาย เช่น ซึมเศร้าเรื้อรัง, ไบโพลาร์หรือแม้แต่อาการที่คนทั่วไปอาจคาดไม่ถึงอย่างภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือบางคนที่เราเห็นยิ้มแย้ม อารมณ์ดี แต่ก็อาจจะป่วยด้วยกลุ่มโรคทางจิตเวชที่เรียกว่า Smiling depression