โรควิตกกังวล

คนเราทุกคนน่าจะเคยเจอกับความกังวลซึ่งเป็นเรื่องปกติ เราต่างมีความกังวลต่อสิ่งคุกคามที่คาดว่าอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เช่น การสอบ การพูดในที่สาธารณะ หรือการมีประชุมใหญ่ เป็นต้น แต่สำหรับคนทั่วไปแล้วความกังวลนั้นจะอยู่ในระดับปกติ ไม่มากเกินไป และสามารถจัดการกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ แต่เมื่อไหร่ที่ความกังวลนั้นยากต่อการรับมือจนทำให้กลายเป็น “โรควิตกกังวล” อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพได้ เรามาทำความรู้จักโรควิตกกังวลเข้าใจกันเลย

สารบัญบทความ

โรควิตกกังวล คือ

โรควิตกกังวล ถือเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่มีระดับความกังวลที่มากกว่าปกติ ผู้ป่วยจะรู้สึกวิตกกังวลและกลัวเกินกว่าเหตุ จนมีผลทางลบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่สามารถควบคุมหรือปรับตัวให้รับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ ผู้ป่วยมักมีอาการทางกายร่วมด้วย เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ตึงกล้ามเนื้อ กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ อาจทำให้เกิดความอ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย กระวนกระวาย  หรือไม่มีสมาธิ เป็นต้น

ระดับความวิตกกังวล

ความกังวลนั้นมีหลายระดับ โดยสามารถแบ่งตามระดับความรุนแรงได้ ดังนี้ 

1. ระดับต่ำ (Mild)

ความกังวลระดับต่ำนี้สามารถพบได้ทั่วไป เช่น ความเครียด ความกังวลจากการใช้ชีวิตประจำวัน หรือความเครียดเรื่องงาน ซึ่งความกังวลในระดับนี้จะทำให้เราถูกกระตุ้นให้ตื่นตัว ต้องแก้ไขปัญหา เอาชนะอุปสรรค รับมือกับปัญหา โดยปกติแล้วพฤติกรรมและอารมณ์จะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก อาจมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายเนื่องจากระบบประสาทถูกกระตุ้น เช่น ตื่นเต้น ใจเต้นเร็ว เหงื่อออกที่ฝ่ามือ หรือรูม่านตาขยาย แม้จะเป็นความกังวลระดับต่ำแต่ก็ยังนับรวมอยู่ในโรควิตกกังวล

2. ระดับปานกลาง (Moderate)

ความวิตกกังวลระดับปานกลางนี้อาจทำให้ประสาทสัมผัสและการรับรู้ลดลง ความสนใจลดลง อาจมีอาการทางด้านร่างกายเพิ่มเติม เช่น ปวดศีรษะ ปั่นป่วนในช่องท้อง โดยผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลในระดับนี้ยังสามารถจัดการ แก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเองอยู่

3. ระดับรุนแรง (Severe)

ความวิตกกังวลในระดับรุนแรงนี้จะทำให้ผู้ป่วยหมกมุ่น คิดวกวนอยู่กับรายละเอียดมากเกินไป ประสาทสัมผัสและการรับรู้แคบลง ไม่มีสมาธิ ความสามารถในการแก้ไขปัญหาลดลง อาการที่สังเกตเห็นได้คือ กระวนกระวาย ตื่นกลัว หงุดหงิด โมโห ตั่วสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ นอนไม่หลับ ผู้ป่วยที่มีความวิตกกังวลในระดับนี้จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากผู้อื่น และควรได้รับการรักษาโรควิตกกังวล

4. ระดับรุนแรงมาก (Panic)

ความวิตกกังวลในระดับรุนแรงมากนี้ทำให้ผู้ป่วยเกิดความกลัวถึงขีดสุด ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ อาการที่สังเกตเห็นได้เช่น กรีดร้อง วิ่งหนี ตกใจจนหมดสติ ผู้ป่วยที่มีความวิตกกังวลในระดับนี้จะไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้ จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาโรควิตกกังวลทันที

 

ปรึกษาอาการวิตกกังวลกับจิตแพทย์ที่แอป BeDee สะดวก ไม่ต้องเดินทาง

ประเภทโรควิตกกังวล

ประเภทโรควิตกกังวล

โรควิตกกังวลนั้นยังประกอบไปด้วยโรคทางจิตเวชอื่น ๆ แยกย่อยอีกมากมายตามแต่ลักษณะอาการของโรค สามารถแบ่งลักษณะความวิตกกังวลออกเป็นโรคต่าง ๆ ได้ดังนี้

โรควิตกกังวลทั่วไป (GAD)

โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder) คือความกังวลที่เกิดขึ้นมากกว่าปกติ เช่น เรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน เรื่องงาน ครอบครัว สุขภาพ การเรียน หรือการเงิน ซึ่งผู้ป่วยจะรู้สึกวิตกแบบเดิมนานเกินกว่า 6 เดือน ไม่สามารถควบคุมหรือปรับตัวให้รับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ ผู้ป่วยมักมีอาการทางกายร่วมด้วย เช่น ปวดเมื่อยกล้ามตึงกล้ามเนื้อ กระสับกระส่าย อาจทำให้เกิดความอ่อนเพลีย กระวนกระวาย ไม่มีสมาธิ หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ หรือนอนหลับไม่สนิท 

โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (Phobia)

โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (Specific Phobia) หรือที่เราเรียกกันว่า “Phobia” คือโรควิตกกังวลที่มีอาการกลัวอย่างมากต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น กลัวที่แคบ กลัวความมืด กลัวสุนัขแม้ว่าสุนัขจะอยู่เฉย ๆ แต่ก็รู้สึกกลัว กลัวความสูง กลัวเครื่องบิน เป็นต้น  และเมื่อผู้ป่วยต้องเจอหรือต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่ตนเองกลัวจะมีอาการใจสั่น เหงื่อออก แน่นหน้าอก มือชาเท้าชา ในบางกรณีอาจเป็นลมได้

โรคกลัวสังคม (Social Phobia)

โรคกลัวสังคม (Social Anxiety Disorder) ผู้ป่วยโรควิตกกังวลชนิดนี้จะเกิดความวิตกกังวล ประหม่า รู้สึกไม่สบายใจ อึดอัด กังวลใจ เมื่อจะต้องไปอยู่ในสถานการณ์ที่อาจมีผู้อื่นสังเกตจ้องมอง เช่น การพูดคุยกับคนที่ไม่คุ้นเคย การทำกิจกรรมในที่สาธารณะ หรือนำเสนองานหน้าชั้นเรียน เป็นต้น ผู้ป่วยกลัวว่าตนเองจะทำอะไรที่น่าอับอาย ดูด้อยกว่าคนอื่น กลัวว่าคนอื่นจะมองว่าตนเป็นตัวตลก จึงต้องคอยหลบ หลีกเลี่ยงไม่เข้าสังคม ที่น่าสนใจ คือโรคนี้มักแอบแฝงอยู่ในตัวบุคคลที่ดูเป็นปกติสุขดี มองดูภายนอกร่างกายก็สมบูรณ์แข็งแรงดี 

โรคแพนิค (PD)

โรคแพนิค (Panic Disorder) หรือโรคตื่นตระหนกจัดเป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง เกิดจากการที่ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยมักจะรู้สึกกลัว วิตกกังวล กระวนกระวายใจ ตื่นตระหนกตกใจขึ้นมาทันทีโดยไม่มีสาเหตุ ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยมักมีอาการกลัวถึงขีดสุดอยู่ประมาณ 10 นาที และอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น อาการของโรคแพนิคแบ่งเป็นอาการทางกายและอาการทางความคิดจิตใจ 

  • อาการทางกาย ได้แก่ เหงื่อแตก ใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม คลื่นไส้ ปั่นป่วนภายในท้อง มือสั่น ตัวสั่น มือเท้าเย็นและชา เป็นต้น 
  • อาการทางความคิดจิตใจ ได้แก่ ความกลัวอย่างขีดสุด กลัวว่าจะเป็นอะไรร้ายแรง กลัวจะไม่สามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้ หรือกลัวตาย เป็นต้น

โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD)

โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder) คือ โรควิตกกังวลที่ผู้ป่วยจะมีความคิดซ้ำ ๆ มีรูปแบบความคิดหรือความกลัว ความกังวลที่ไม่สมเหตุสมผล จนนำไปสู่พฤติกรรมบางอย่างที่ต้องทำซ้ำ ๆ เพื่อตอบสนองต่อความกังวลนั้น มักพบบ่อยในกลุ่มคนทำงาน เช่น  กลัวว่าตัวเองจะลืมล็อกประตูบ้านจึงต้องเดินกลับไปดูอีกรอบหรือต้องวนรถกลับบ้านไปตรวจดูอีกรอบ กลัวว่าจะลืมปิดไฟ ปิดแก๊ส ทำให้ต้องกลับไปดูว่าตัวเองจัดการสิ่งเหล่านั้นเรียบร้อยหรือยัง ต้องตรวจดูซ้ำ ๆ จนไปทำงานสาย เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและกระทบต่อคุณภาพชีวิต 

สาเหตุของโรควิตกกังวล

สาเหตุของโรควิตกกังวลโดยทั่วไปมีดังนี้

 

  1.       ปัจจัยทางจิตสังคม
  • การเลี้ยงดูแบบปกป้องมากเกินไปของผู้ปกครอง และความผูกพันที่ไม่มั่นคงระหว่างผู้เลี้ยงดูกับเด็ก รวมถึงมารดาที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวล
  • พื้นอารมณ์ของผู้ป่วยเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าแสดงอารมณ์ออกมา หรือลักษณะที่มักหลีกเลี่ยง ถอยหนี ต่อสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย
  • ความตึงเครียดจากภายนอก เช่น การเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ การต้องเผชิญกับความไม่มั่นคง ไม่แน่นอนในชีวิต
  • การเรียนรู้ทางสังคม เช่น เลียนแบบพฤติกรรมจากพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด หรือเพื่อน 
  1.       ปัจจัยทางชีวภาพ
  • การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสมอง การมีสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล
  • การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา ซึ่งอาจเป็นผลมาจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การบริโภคเครื่องดื่มคาเฟอีน การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติด เป็นต้น
  • ปัจจัยทางพันธุกรรม คนที่มีพ่อแม่เป็นโรควิตกกังวล จะมีความเสี่ยงเป็นโรควิตกกังวลสูงขึ้น

อาการของโรควิตกกังวล

อาการโรควิตกกังวล

อาการของโรควิตกกังวลมีดังนี้

 

  •  มีความกังวลที่มากเกินไปในหลาย ๆ เหตุการณ์หรือกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เรื่องงาน เรื่องการเรียน โดยเป็นเกือบทุกวัน ติดต่อกันเกิดขึ้นบ่อยเป็นระยะเวลานานอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป
  • รู้สึกว่าตัวเองมีความกังวลแต่ไม่สามารถควบคุมความกังวลนั้นได้
  • มีอาการทางด้านร่างกายอย่างน้อย 3 อาการ เช่น กระสับกระส่าย อ่อนเพลีย หงุดหงิด ปวดเมื่อยตึงกล้ามเนื้อ สมาธิลดลง นอนหลับยาก หรือนอนหลับไม่สนิท หรือหลับ ๆ ตื่น ๆ
  • ความกังวลหรืออาการทางด้านร่างกายดังกล่าวส่งผลให้เกิดความทุกข์ หรือมีผลกระทบ รบกวนการทำงานและการใช้ชีวิต
 
ไม่แน่ใจอาการวิตกกังวลหรือปัญหาสุขภาพใจอื่น ๆ ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่แอป BeDee สะดวก ไม่ต้องเดินทาง

การวินิจฉัยโรควิตกกังวล

ในเบื้องต้นแพทย์อาจสอบถามเกี่ยวกับอาการทั้งหมด ทั้งอาการทางกาย อาการทางจิตใจ สภาพอารมณ์ ความกังวล การใช้ชีวิตส่วนตัว เหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน รวมถึงประวัติโรคทางอายุรกรรม ประวัติการใช้สารเสพติดและยาอื่น ๆ  เพื่อให้วินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้อาจมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อตัดสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความกังวลออกไป เช่น โรคกรดไหลย้อน โรคหอบหืด โรคหัวใจ ความผิดปกติของระดับแคลเซียม ระดับน้ำตาลในเลือด ต่อมไทรอยด์ ต่อมไร้ท่ออื่น ๆ หรือการอยู่ในวัยหมดประจำเดือน เป็นต้น 

 

นอกจากการประเมินภาวะทางกายดังกล่าวแล้ว แพทย์จะประเมินภาวะทางจิตที่อาจพบร่วมกันได้ เช่น โรคซึมเศร้า (Depressive Disorder) ภาวะปรับตัวทางอารมณ์ผิดปกติ (Adjustment Disorder) เมื่อแน่ใจว่าผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มโรควิตกกังวลแล้ว แพทย์จะวินิจฉัยโรคโดยแยกย่อยตามกลุ่มอาการที่พบเด่น เช่น โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder) โรคแพนิค (Panic Disorder) หรือโรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (Specific Phobia) เป็นต้น

การรักษาโรควิตกกังวล

การรักษาโรควิตกกังวล

รักษาด้วยยา

การรักษาโรควิตกกังวลด้วยยาจะช่วยปรับสมดุลสารเคมีในสมองและช่วยบรรเทาอาการลงได้ โดยยาที่ใช้ในการรักษาโรควิตกกังวลเป็นยาชนิดเดียวกับยาที่ใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้า ตัวอย่างยาที่ใช้รักษา เช่น ยากลุ่ม SSRI ยากลุ่ม Benzodiazepines เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

รักษาด้วยจิตบำบัด

การรักษาโรควิตกกังวลด้วยจิตบำบัดคือการเข้ารับคำแนะนำและคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ เพื่อเรียนรู้เข้าใจในตัวโรค เข้าใจสาเหตุ อาการ และการจัดการแก้ปัญหาเมื่อเกิดความวิตกกังวลเพื่อให้ผ่านพ้นปัญหาไปได้ในที่สุด โดยจิตบำบัดมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท เช่น จิตบำบัดแบบประคับประคอง การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม เป็นต้น

ตัวอย่างการรักษาโรควิตกกังวลด้วยพฤติกรรมบำบัด เช่น

 

  • การฝึกเทคนิคการผ่อนคลาย
  • ฝึกการหายใจ
  • ฝึกการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
  • ฝึกสมาธิ ฝึกการจินตนาการ

รักษาด้วยการเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavior Therapy)

โรควิตกกังวลสามารถรักษาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบความคิด เปลี่ยนวิธีคิดที่ทำให้เกิดความกังวล เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงความคิด อารมณ์ ความรู้สึกของตนที่อาจไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยเทคนิคนี้มักมุ่งเน้นไปที่การจัดการกับกระบวนการคิดที่เป็นปัญหาจนส่งผลต่อสภาวะอารมณ์ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เมื่อมีความกังวลให้หากิจกรรมอื่นทำเพื่อเกิดความสบายใจ หรือทำการนั่งสมาธิเพื่อผ่อนคลายจิตใจ

วิธีการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรควิตกกังวล

เมื่อพบว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรควิตกกังวลควรปฏิบัติตัวดังนี้

 

  • พบแพทย์และรับประทานยาตามคำแนะนำจากแพทย์โดยเคร่งครัด
  • ไม่หยุดรับประทานยาเองเพราะอาจทำให้อาการแย่ลงได้
  • หลังทำการรักษาหรือการทำจิตบำบัด ปรับความคิด ฝึกวิธีการรับมือและการจัดการกับความวิตกกังวลของตนเองแล้วคนไข้มักมีอาการดีขึ้น

โรควิตกกังวล ป้องกันได้ไหม

โรควิตกกังวลนั้นเป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่งที่เราอาจเป็นได้โดยไม่รู้ตัว สิ่งสำคัญคือการสังเกตตนเองและหมั่นดูแลสุขภาพใจของเราให้มีสุขภาพดีอยู่เสมอด้วยวิธีดังนี้

 

  • หลีกเลี่ยงความเครียด พยายามทำจิตใจให้ผ่อนคลายด้วยการฝึกลมหายใจ หรือทำกิจกรรม งานอดิเรกที่จะช่วยลดหรือเบี่ยงเบนจากความเครียด
  • หากรู้ตัวว่าเป็นผู้ที่มีความเครียดง่าย วิตกกังวลต่อเรื่องต่าง ๆ ได้ง่ายและไม่สามารถจัดการได้ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อปรับความคิดและการใช้ชีวิตประจำวัน
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ 
  • สังเกตความรู้สึกตนเองอยู่เสมอ 
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้สารเสพติดเพราะอาจกระตุ้นให้วิตกกังวลกว่าเดิมได้

คำถามที่พบบ่อย (FAQ) เกี่ยวกับโรควิตกกังวล

โรควิตกกังวลรักษาเองได้ไหม

หากเป็นโรควิตกกังวล สามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่?

ผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลสามารถตั้งครรภ์ได้ โดยควรปรึกษาแพทย์ก่อนตั้งครรภ์เนื่องจากยาบางชนิดอาจส่งผลต่อเด็กในครรภ์ อาจต้องหยุดหรือเปลี่ยนยา นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยวิธีอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด เป็นต้น

โรควิตกกังวล รักษาเองได้ไหม?

โรควิตกกังวลหายได้ แต่จะต้องเข้ารับการรักษาเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความคิด ทั้งนี้การจัดการและการรักษาสามารถทำได้หลายวิธีดังที่กล่าวไปข้างต้น เป็นไปได้ยากที่ผู้เป็นโรควิตกกังวลทั่วไปจะหายได้เองโดยไม่รักษา หากผู้ป่วยไม่สามารถหาทางออกของปัญหาและความเครียด ความกังวลที่ตนเป็นอยู่ได้ อาจส่งผลให้อาการของโรครุนแรงขึ้น เช่น คิดฆ่าตัวตาย บางรายอาจหันไปพึ่งสารเสพติด ดังนั้นจึงควรรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันผลเสียที่อาจตามมาอีกมากมาย

โรควิตกกังวล รักษาหายหรือไม่?

โรควิตกกังวลสามารถรักษาจนหายขาดได้ ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาตลอดชีวิต ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติอย่างมีความสุขได้

 

สอบถามปัญหาสุขภาพใจอื่น ๆ กับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่แอป BeDee