โรคอ้วน สัญญาณอันตรายจุดเริ่มต้นของโรคร้ายอื่น ๆ
โรคอ้วนไม่ใช่เพียงภาวะน้ำหนักตัวเกินจากไขมันสะสมที่มากเกินเกณฑ์เท่านั้นแต่ยังนำพามาสู่ปัญหาโรคอันตรายอื่น ๆ ที่รักษาได้ยากและส่งผลร้ายต่อสุขภาพในระยะยาว ในปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคอ้วนมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เร่งรีบและละเลยสุขภาพของตนเอง อย่างไรก็ตามเราสามารถป้องกันโรคอ้วนที่เป็นสาเหตุของโรคอื่น ๆ ได้ด้วยการดูแลสุขภาพตนเองให้ถูกสุขลักษณะอยู่เสมอ หรือหากเข้าข่ายโรคอ้วนก็ควรเข้ารับการรักษาโดยเร็วเพื่อไม่ให้พัฒนากลายเป็นโรคร้ายแรงที่เป็นอันตรายกว่าเดิม
โรคอ้วนคืออะไร
โรคอ้วน (Obesity) คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับไขมันสะสมที่มากกว่าปกติอันเนื่องมาจากการได้รับพลังงานมากกว่าความสามารถในการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย เมื่อร่างกายเผาผลาญพลังงานที่ได้รับมาไม่หมดก็จะเกิดการสะสมอยู่ในรูปไขมันเอาไว้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น เช่น เมื่อร่างกายได้รับพลังงานไม่เพียงพอต่อการเผาผลาญ ร่างกายเราก็จะดึงไขมันที่สะสมไว้มาใช้เป็นแหล่งพลังงาน
แต่โดยปกติแล้วโอกาสที่ร่างกายจะดึงไขมันมาใช้เป็นพลังงานนั้นมีไม่มากนัก โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ชีวิตประจำวันแบบปกติ ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่มีการออกกำลังกาย ทำให้เกิดการสะสมไขมันไปเรื่อย ๆ จนก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพอื่น ๆ มากมายขึ้นอยู่กับว่าไขมันจะไปสะสมอยู่ส่วนไหน ยกตัวอย่างเช่น หากไขมันไปสะสมตามหลอดเลือดก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดอุดตันหรือความดันโลหิตสูง หรือหากเกิดการสะสมของไขมันตามช่องท้องก็มีโอกาสเกิดโรคไขมันพอกตับได้ เป็นต้น
ปรึกษาโรคอ้วนกับคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง ไม่มีค่าจัดส่งยา
โรคอ้วนวัดจากอะไร
จะทราบได้อย่างไรว่าตนเองกำลังอยู่ในภาวะอ้วน? วิธียอดนิยมสำหรับคัดกรองเบื้องต้นว่าตนเองกำลังอยู่ในภาวะอ้วนหรือไม่คือการวัดค่าดัชนีมวลกายหรือ BMI (Body Mass Index) และการวัดรอบเอว ซึ่งจะมีวิธีคำนวณดังนี้
ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) = น้ำหนัก(กิโลกรัม) ส่วนสูง (เมตร)^2
ผู้เป็นโรคอ้วนมีดัชนีมวลกายอย่างไร? สามารถเปรียบเทียบผลได้จากตารางเกณฑ์ดัชนีมวลกายสำหรับชาวเอเชีย ดังนี้
ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) (kg/m^2) | ผลลัพธ์ |
<18.5 | น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ |
18.6-22.9 | น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ |
23.0-24.9 | น้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์ |
25.0-29.9 | โรคอ้วน |
>30.0 | โรคอ้วนอันตราย |
อย่างไรก็ตามการจัดประเภทของโรคอ้วนอาจต้องใช้เกณฑ์และการตรวจวิธีอื่น ๆ ร่วมด้วยเนื่องจากบางครั้งผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายปกติหรือเกินกว่าเกณฑ์ไม่มากก็อาจถูกจัดเป็นโรคอ้วนได้เนื่องจากมีการสะสมของไขมันของอวัยวะภายในช่องท้องมากกว่าปกติ เรียกภาวะนี้ว่าภาวะ “อ้วนลงพุง” สามารถตรวจได้ด้วยวิธีการวัดรอบเอวและตรวจภายในห้องปฏิบัติการ
สำหรับผู้หญิงที่มีรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 80 เซนติเมตรและผู้ชายที่มีรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 90 เซนติเมตร ร่วมกับภาวะอื่น ๆ ด้านล่างนี้มากกว่า 2 ข้ออาจเข้าข่ายเป็นโรคอ้วน
- ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงกว่าหรือเท่ากับ 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ระดับไขมันดี (HDL) ในเลือดต่ำกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในผู้ชายและต่ำกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตรสำหรับผู้หญิง
- ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารสูงกว่า หรือเท่ากับ 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ค่าความดันโลหิตสูงกว่าหรือเท่ากับ 130/85 มิลลิเมตรปรอท
อาการเสี่ยงของโรคอ้วนที่ต้องรีบพบแพทย์
โรคอ้วนไม่ใช่โรคติดต่อหรือโรคที่สามารถบ่งบอกอาการผิดปกติได้อย่างชัดเจน แต่เป็นภาวะที่ระดับไขมันสะสมมีมากเกินกว่าความจำเป็น ซึ่งอาจสังเกตได้จากน้ำหนักตัวที่มากกว่าปกติ, การคำนวณด้วยค่าดัชนีมวลกาย BMI หรือรูปร่างภายนอก
หากระดับไขมันในร่างกายสูงแต่ยังไม่มากจนเกินไปและยังไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันก็สามารถใช้การควบคุมอาหารควบคู่กับการออกกำลังกายเพื่อลดความเสี่ยงของโรคอ้วนได้ แต่หากร่างกายมีไขมันสะสมมากเกินไปและพบอาการเหล่านี้ร่วมด้วยอาจเป็นอาการเสี่ยงของโรคอ้วนที่นำพาไปสู่โรคแทรกซ้อนอันตรายอื่น ๆ ควรพบแพทย์โดยเร็ว
- หายใจลำบาก เหนื่อยหอบง่าย
- หยุดหายใจขณะหลับ
- แผลหายช้า มีอาการอักเสบง่าย
- เจ็บปวดหน้าอก
- เวียนหัว หน้ามืดบ่อย ๆ
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคอ้วน
สาเหตุโรคอ้วนมีอยู่หลายปัจจัยทั้งปัจจัยภายในที่ควบคุมได้ยากและปัจจัยภายนอกที่เกิดจากพฤติกรรมของแต่ละบุคคล ดังนี้
- การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ รับประทานอาหารที่ให้พลังงานมากกว่าความต้องการของร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุหลัก ๆ ของผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน
- การเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ขาดการออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายมีอัตราการเผาผลาญน้อย เกิดการสะสมไขมันได้ง่าย
- พันธุกรรม พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความสามารถในการเผาผลาญพลังงาน ปริมาณไขมันในร่างกาย เป็นต้น
- ระบบการเผาผลาญพลังงานในร่างกายทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ
- การลดน้ำหนักและควบคุมอาหารอย่างผิดวิธี
- การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
- อายุ เมื่อร่างกายมีอายุมากขึ้นความสามารถในการเผาผลาญพลังงานก็ลดลง รวมถึงลักษณะการใช้ชีวิตประจำวันก็เริ่มเคลื่อนไหวน้อยลงอันเนื่องมาจากข้อจำกัดของร่างกาย
- โรคเครียด ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหลายด้าน รวมถึงระบบการเผาผลาญและการควบคุมปริมาณการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะรับประทานอาหารมากขึ้นทุกครั้งที่เครียด
- ภาวะแทรกซ้อนจากโรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน, โรคที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ เช่น ไทรอยด์, ภาวะฮอร์โมนผิดปกติ เป็นต้น
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาต้านอาการชัก, ยาต้านเศร้า, ยากลุ่มสเตียรอยด์, ยาคุมกำเนิด
โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่มีปัญหาโรคอ้วนมักมาจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและขาดการดูแลตนเอง แต่ก็มีบางส่วนที่เกิดจากความผิดปกติของระบบต่าง ๆ และผลข้างเคียงจากการรักษาโรคบางชนิดเช่นกัน
ผลกระทบจากโรคอ้วน
ปัญหาโรคอ้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ดังนี้
- โรคแทรกซ้อนเรื้อรังที่ไม่ใช่โรคติดต่อ เช่น
- โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง
- โรคเบาหวาน
- โรคหัวใจ
- โรคไขมันพอกตับ
- โรคไขมันในเลือดสูง
- โรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก, มะเร็งเต้านม, มะเร็งถุงน้ำดี, มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
- ความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูก เช่น ข้อเข่าเสื่อม
- ความผิดปกติของทางเดินหายใจ เช่น เหนื่อยหอบง่าย, นอนกรน, หยุดหายใจขณะหลับ
- อาการที่ไม่พึงประสงค์บนผิวหนัง เช่น กลิ่นตัว, สิว, ความมันบนผิวมาก, ผิวหนังติดเชื้อง่าย เป็นต้น
- ขาดความมั่นใจในตนเอง ซึมเศร้า
การตรวจและวินิจฉัยโรคอ้วน
ในทางการแพทย์มีวิธีตรวจและวินิจฉัยโรคอ้วนอยู่หลายวิธี แพทย์จะนำผลการตรวจมาวิเคราะห์ ประเมิน และสรุปผลลัพธ์ร่วมกัน
วิธีตรวจโรคอ้วนมีวิธีอะไรบ้าง ?
- การซักประวัติสุขภาพ เช่น ลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน นิสัยการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย เป็นต้น
- การตรวจร่างกาย เช่น การชั่งน้ำหนัก ส่วนสูง การวัดรอบเอว
- การคำนวณค่าดัชนีมวลกาย
- การตรวจเลือดเพื่อหาค่าระดับไขมันและระดับน้ำตาลในเลือด
- การวัดค่าความดัน
- การตรวจสุขภาพอื่น ๆ หากมีเกณฑ์เข้าข่ายว่าอาจมีโรคแทรกซ้อน
การรักษาโรคอ้วน
ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วนในเบื้องต้นนั้นอาจยังไม่มีปัญหาสุขภาพที่รุนแรงจนเป็นโรคแทรกซ้อนอันตราย เพียงแต่มีปริมาณไขมันสะสมมากกว่าเกณฑ์ ดังนั้นการรักษาโรคอ้วนจึงเน้นไปที่การลดไขมันสะสมที่อาจก่ออันตรายและส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนอย่างการควบคุมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย แต่หากมีไขมันสะสมมากจนอยู่ในเกณฑ์อันตราย มีแนวโน้มที่จะเกิดโรคแทรกซ้อน และอาจไม่สามารถลดปริมาณไขมันได้ด้วยวิธีปกติ แพทย์อาจพิจารณาใช้แนวทางดังต่อไปนี้เพื่อป้องกันและรักษาโรคอ้วน
- การใช้ยาลดน้ำหนัก ช่วยให้ผู้ที่ได้รับยารู้สึกอิ่มและรับประทานได้น้อยลง สามารถลดน้ำหนักได้ประมาณ 5-10% เป็นยาที่ต้องใช้ในการดูแลของแพทย์เท่านั้น
- การใส่บอลลูนเข้าไปในกระเพาะอาหาร เป็นอีกหนึ่งวิธีรักษาโรคอ้วนทางการแพทย์ที่ให้ผลการรักษาระยะสั้นได้ดีถึง 6-15% บอลลูนในกระเพาะอาหารจะทำให้ภายในกระเพาะอาหารมีพื้นที่ลดลง รู้สึกอิ่มได้เร็ว แต่สามารถใส่ได้เพียง 1 ปีเท่านั้นและต้องถอดออก
- การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร เป็นวิธีลดน้ำหนักที่เห็นผลลัพธ์ชัดเจนที่สุด เมื่อกระเพาะอาหารมีขนาดเล็กจะทำให้สามารถรับประทานอาหารได้น้อยลง เมื่อควบคู่กับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พลังงานต่ำก็จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารเพียงพอต่อความจำเป็น ไม่สะสมพลังงานส่วนเกินในรูปไขมันนั่นเอง ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคอ้วนที่มีค่า BMI อยู่ในเกณฑ์อันตราย ผู้ที่มีโรคแทรกซ้อนซึ่งผ่านการพิจารณาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว รวมถึงผู้ที่เกิดภาวะอ้วนจากการรับประทานอาหารมากเกินไป