Key Takeaways REM Sleepคือหนึ่งในช่วงของวงจรการนอนหลับในแต่ละคืน การนอนหลับในช่วง REM Sleep นั้นดวงตาของเราจะเคลื่อนไหวไปมาอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงนี้สมองจะมีการทำงานคล้ายกับช่วงที่ตื่นอยู่ แต่กล้ามเนื้อส่วนใหญ่จะอยู่ในภาวะอัมพาตชั่วคราว จึงมักจะเกิดกา
โรคต่อมลูกหมากโต อาการฉี่บ่อย ฉี่ไม่สุดในเพศชายสูงอายุ
โรคต่อมลูกหมากโต เป็นโรคที่พบในชายไทยเป็นจำนวนมากโรคหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ไม่ใช่แค่เพศหญิงเท่านั้นที่ต้องรับมือกับอาการวัยทองและการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ในเพศชายเมื่ออายุมากขึ้นก็มีโอกาสที่จะเกิดโรคต่อมลูกหมากโตได้ แม้จะยังไม่มีการระบุสาเหตุที่แน่ชัดแต่คาดว่าสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศชายที่ลดลงตามอายุ ดังนั้นจึงควรสังเกตพฤติกรรมตัวเองเพื่อให้รู้เท่าทันโรค
โรคต่อมลูกหมากโต (BPH) คืออะไร
โรคต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hyperplasia หรือ BPH) คือ อาการต่อมลูกหมากโตขึ้นผิดปกติจนทำให้ต่อมลูกหมากเบียดท่อปัสสาวะจนแคบลง ส่งผลให้เกิดอาการ ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะติดขัด ซึ่งอาจทำให้ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะมีอาการปวดแสบปวดร้อน หรือมีเลือดปนออกมาในปัสสาวะได้ โรคต่อมลูกหมากโตสามารถพบได้ในเพศชายอายุ 45 ปีขึ้นไป และจะพบมากขึ้นในช่วงอายุ 70 ปีขึ้นไป ปัจจุบันมีการสันนิษฐานว่าสาเหตุของโรคต่อมลูกหมากโตอาจเกิดจากฮอร์โมนที่ไม่สมดุล หรือฮอร์โมนที่ค่อย ๆ ลดลงไปในเพศชายเมื่ออายุมากขึ้น
ปรึกษาอาการต่อมลูกหมากโตกับคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง ไม่มีค่าจัดส่งยา
ปัจจัยเสี่ยงของโรคต่อมลูกหมากโต
- อายุมากขึ้น โรคต่อมลูกหมากโตที่มีอาการปานกลางจนถึงรุนแรงมักพบในเพศชายอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ในผู้ที่อายุน้อยกว่า 60 ปีสามารถพบได้เช่นกัน แต่อาการไม่รุนแรงนัก
- โรคเบาหวานและโรคหัวใจ พบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคหัวใจอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคต่อมลูกหมากโตมากขึ้น
- ติดเชื้อในลูกหมาก ผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากอักเสบ (Prostatitis) อาจส่งผลให้เกิดภาวะต่อมลูกหมากโตได้
- การใช้สมุนไพรเพื่อเพิ่มฮอร์โมนที่ไม่ผ่านการรับรองจาก อย. บางชนิดอาจส่งผลให้เกิดโรคต่อมลูกหมากโตได้
การวินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากโต
- 1. แพทย์จะซักประวัติเพื่อตรวจสอบอาการต่อมลูกหมากโตของผู้ป่วยเบื้องต้น
- 2. ตรวจคลำต่อมลูกหมากด้วยวิธี Digital Rectal Examination (DRE) โดยแพทย์จะตรวจคลำต่อมลูกหมากทางทวารหนักเพื่อดูความผิดปกติ
- 3. ตรวจเลือด เพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate-Specific Antigen: PSA) เป็นการตรวจหาแอนติเจนต่อมลูกหมากที่ผลิตจากต่อมลูกหมาก หากพบระดับของสารแอนติเจนต่อมลูกหมากเพียงเล็กน้อยแต่สูงขึ้นเรื่อย ๆ อาจเป็นสัญญาณว่าผู้ป่วยกำลังเป็นโรคต่อมลูกหมากโต
- 4. ตรวจปัสสาวะ และตรวจวัดความแรงของสายปัสสาวะ
- 5. อัลตราซาวนด์ขนาดต่อมลูกหมากเพื่อตรวจดูความผิดปกติ
วิธีการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต
รักษาโดยการใช้ยา
การรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยการใช้ยานั้นแบ่งได้หลายกลุ่มตัวยา โดยหลักแล้วยาจะเข้าไปช่วยคลายกล้ามเนื้อที่คอกระเพาะปัสสาวะและกล้ามเนื้อในต่อมลูกหมาก ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะง่ายขึ้น หรือยาบางกลุ่มออกฤทธิ์ทำให้ต่อมลูกหมากหดตัว ซึ่งตัวยาจะช่วยยับยั้งการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ทําให้ต่อมลูกหมากโต การรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยยาอาจมีผลข้างเคียง เช่น วิงเวียนศีรษะ เกิดภาวะอุสจิไหลกลับเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งไม่เป็นอันตราย หรือความต้องการทางเพศลดลงในบางราย เป็นต้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ก่อนรับประทานยาเท่านั้น และแนะนำให้กินยาอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์
รักษาด้วยการผ่าตัดแบบส่องกล้อง
ปัจจุบันมีการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยการผ่าตัดส่องกล้องมีหลายประเภทตามแต่เทคนิคและเครื่องมือที่แพทย์เลือกใช้ โดยหลักแล้วการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อรักษาอาการต่อมลูกหมากโตนั้นคือการสอดท่อที่มีกล้องขนาดเล็กเข้าไปทางท่อปัสสาวะของผู้ป่วยเพื่อกำจัดชิ้นเนื้อส่วนเกินออกจากต่อมลูกหมาก ผู้ป่วยจะฟื้นตัวภายใน 2-4 สัปดาห์ การผ่าตัดส่องกล้องนั้นเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาไม่ได้ผล แพทย์พิจารณาแล้วว่าอาการค่อนข้างรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนจึงควรรักษาด้วยการผ่าตัด
รักษาด้วยการย้ายเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากออกจากท่อปัสสาวะ
การรักษาต่อมลูกหมากโตด้วยการย้ายเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากออกจากท่อปัสสาวะเหมาะกับผู้ป่วยที่มีปัญหาบริเวณทางเดินปัสสาวะส่วนล่างและกังวลผลกระทบเรื่องสมรรถภาพทางเพศที่อาจลดลงจากการรักษา เนื่องจากการรักษาวิธีนี้มีผลต่อสมรรถภาพทางเพศน้อยกว่าวิธีอื่น ๆ วิธีการรักษาคือแพทย์จะใช้อุปกรณ์กดบริเวณด้านข้างของต่อมลูกหมากเพื่อเพิ่มการไหลของปัสสาวะให้ดีขึ้น ทั้งนี้วิธีการรักษานั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ผู้ป่วยควรสอบถามแพทย์เพิ่มเติม
วิธีการป้องกันโรคต่อมลูกหมากโต
- ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
- ไม่ควรดื่มน้ำมากในช่วงก่อนเข้านอน
- ลดหรือหลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน รวมถึงแอลกอฮอล์
- ไม่กลั้นปัสสาวะ
- ออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาที / สัปดาห์
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หากรู้สึกปัสสาวะแล้วผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์
คำถามที่พบบ่อยของโรคต่อมลูกหมากโต
เป็นโรคต่อมลูกหมากโต ห้ามกินอะไรไหม?
โดยทั่วไปแล้วไม่ได้มีอาหารประเภทใดที่ผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโตห้ามรับประทานเป็นพิเศษ แต่มีข้อแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ลดการดื่มน้ำในช่วงเวลากลางคืน ลดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ เป็นต้น
ผู้หญิงเป็นต่อมลูกหมากโตได้ไหม?
ผู้หญิงไม่สามารถเป็นโรคต่อมลูกหมากโตได้เนื่องจากผู้หญิงไม่มีต่อมลูกหมาก ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของระบบสืบพันธุ์เพศชาย มีขนาดเท่าผลลิ้นจี่อยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะและล้อมรอบท่อปัสสาวะส่วนต้น หน้าที่สำคัญคือผลิตของเหลวเป็นตัวหล่อลื่นและนำส่งเชื้ออสุจิในขณะที่มีการหลั่งของน้ำอสุจิออกมา
โรคต่อมลูกหมากโตรักษาหายไหม?
วิธีการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตขึ้นอยู่กับความรุนแรงและสภาวะของผู้ป่วยตามวิจารณญาณของแพทย์ผู้รักษา เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โรคต่อมลูกหมากโตอาจจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาการได้ และแนะนำให้ผู้ป่วยมาตรวจตามนัดกับแพทย์เฉพาะทางอย่างสม่ำเสมอ
สรุปเรื่องโรคต่อมลูกหมากโต
โรคต่อมลูกหมากโตถึงแม้จะเป็นโรคในเพศชายที่อาจหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่การดูแลตัวเอง หมั่นตรวจเช็กสุขภาพเป็นประจำทุกปีสามารถช่วยให้เรารู้ทันโรคและรักษาได้ทันที เน้นการเฝ้าระวังโรคจะทำให้ง่ายต่อการรักษายิ่งขึ้น
มีปัญหาต่อมลูกหมากโต ปรึกษาหมอออนไลน์และปรึกษาเภสัชกรที่แอป BeDee ทีมแพทย์และเภสัชกรคุณภาพพร้อมให้คำแนะนำทุกวัน สะดวก ไม่ต้องเดินทาง พร้อมส่งสินค้าถึงมือ สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
ภญ.วุฒิรัต ธรรมวุฒิ
เภสัชกร
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
Benign prostatic hyperplasia (BPH) – Symptoms and causes – Mayo Clinic. (2023, February 21). Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/benign-prostatic-hyperplasia/symptoms-causes/syc-20370087
Benign Prostatic Hyperplasia (BPH): Symptoms, diagnosis & treatment – Urology Care Foundation. (n.d.). https://www.urologyhealth.org/urology-a-z/b/benign-prostatic-hyperplasia-(bph)