กรดไหลย้อน

กรดไหลย้อน โรคที่พบได้บ่อยมากขึ้นเนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ทั้งผู้ที่มีโรคเครียด ขาดการออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกายน้อย รับประทานอาหารแล้วนอนทันที ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกรดไหลย้อนมากขึ้น สร้างความยากลำบากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ปัจจุบันมีบริการปรึกษาหมอออนไลน์โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาโรคกรดไหลย้อน

สารบัญบทความ

กรดไหลย้อน (GERD) คือ


โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease หรือ GERD) คือภาวะที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปยังหลอดอาหาร ซึ่งมีสาเหตุจากกรดในกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยจะรู้สึกแสบร้อนกลางอกตั้งแต่บริเวณลิ้นปี่ลามขึ้นมาที่หน้าอกและลำคอ เรอมีกลิ่นเปรี้ยว อาการเหล่านี้จะเป็นมากขึ้นโดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก นอนหงาย โน้มตัวไปข้างหน้า หรือการยกของหนัก เป็นต้น

อาการกรดไหลย้อน

กรดไหลย้อนอาการเป็นอย่างไร

อาการของโรคกรดไหลย้อนที่สังเกตได้ เช่น 

  • รู้สึกแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ แสบร้อนกลางอกหรือเจ็บแสบกลางอกหลังรับประทานอาหาร
  • มีอาหารย้อนขึ้นมาในปากและคอ
  • รู้สึกเปรี้ยวหรือขมในปากและลำคอ
  • จุกเสียด แน่นท้องบริเวณลิ้นปี่

สาเหตุกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อนเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

  • หลอดอาหารมีการบีบตัวผิดปกติ ทำให้อาหารที่รับประทานเข้าไปผ่านหลอดอาหารได้ช้า หรือทำให้อาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาค้างอยู่ที่หลอดอาหารนานกว่าปกติ
  • กระเพาะอาหารมีการบีบตัวผิดปกติทำให้อาหารตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนาน ส่งผลให้เกิดโอกาสที่กรดจะไหลย้อนจากกระเพาะอาหารสู่หลอดอาหารมากกว่าเดิม
  • หูรูดส่วนปลายของหลอดอาหารที่ทำหน้าที่ป้องกันกรดไหลย้อนมีความผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากการดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ น้ำอัดลม สูบบุหรี่ การใช้ยาบางชนิด เป็นต้น 
  • ความรู้สึกของหลอดอาหารไวกว่าปกติ
  • เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น รับประทานอาหารเสร็จแล้วนอนทันที หรือผู้ที่มีโรคเครียด หรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน

ผู้ที่เสี่ยงเป็นกรดไหลย้อน

ผู้ที่มีพฤติกรรมดังต่อไปนี้อาจเสี่ยงเป็นโรคกรดไหลย้อน 

  • รับประทานอาหารแล้วนอนทันที
  • รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา
  • ผู้ที่ดื่มสุรา น้ำอัดลม สูบบุหรี่เป็นประจำ 
  • ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน
  • รับประทานอาหารรสจัด เผ็ดจัด หรือเปรี้ยวจัด รวมถึงอาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำ 
  • ผู้ที่รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิตสูงบางชนิด ยาแก้โรคซึมเศร้า หญิงตั้งครรภ์
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน

ความแตกต่างระหว่างกรดไหลย้อนและโรคกระเพาะ

กรดไหลย้อนกับโรคกระเพาะต่างกันอย่างไร

หลายครั้งผู้ป่วยอาจสับสนระหว่างอาการของโรคกระเพาะอาหารและโรคกรดไหลย้อน ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารมักจะมีอาการปวดแน่นท้อง แสบท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ ท้องอืด อุจจาระเป็นสีดำ หรืออาเจียนเป็นเลือด แต่จะไม่มีอาการแสบร้อนกลางอกหรือเจ็บแสบกลางอกขึ้นมาถึงบริเวณลำคอเหมือนกับผู้ป่วยกรดไหลย้อน ทั้งนี้ควรให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยอาการเพิ่มเติมอีกครั้งเพื่อความชัดเจน

การวินิจฉัยกรดไหลย้อน

การวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนนั้นแพทย์จะพิจารณาอาการเบื้องต้นจากผู้ป่วย ในกรณีที่ต้องการตรวจเชิงลึกเพื่อความแม่นยำมากขึ้นอาจใช้การตรวจเหล่านี้เพิ่มเติมร่วมด้วย

 

  • การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น
  • การตรวจการบีบตัวของหลอดอาหาร
  • การเอกซเรย์กลืนสารทึบแสง
  • การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์
  • การตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างในหลอดอาหาร

วิธีรักษากรดไหลย้อน

การรักษากรดไหลย้อน

กรดไหลย้อนมีแนวทางการรักษาทั่วไปดังนี้

  • การรักษาด้วยยา เช่น การรับประทานยาเคลือบกระเพาะอาหาร ยาลดกรดในกระเพาะ เป็นต้น
  • การผ่าตัด แพทย์อาจใช้การรักษาด้วยการผ่าตัดในกรณีที่รักษาด้วยยาเป็นเวลานานแล้วไม่สามารถควบคุมอาการหรือหยุดยาได้ หรือกรณีที่ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานยาเป็นเวลานานได้และเกิดผลข้างเคียงจากยา

ภาวะแทรกซ้อนจากกรดไหลย้อน

ภาวะแทรกซ้อนที่ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนอาจพบได้ เช่น อาการเลือดออกในทางเดินอาหาร 

เนื่องจากกรดในกระเพาะมากเกินไป ทำให้เกิดเป็นแผลในกระเพาะ เกิดภาวะหลอดอาหารอักเสบ กลืนอาหารลำบาก หรืออาจเกิดแผลและเลือดออกบริเวณหลอดอาหารเรื้อรัง

กรดไหลย้อน ทานอะไรได้บ้าง

 

กรดไหลย้อน กินอะไรได้บ้าง

อาหารที่ควรทานสำหรับผู้เป็นกรดไหลย้อน

  1. อาหารไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา ไก่ ไข่ขาว นมไขมันต่ำ น้ำเต้าหู้
  2. อาหารที่มีกากใยสูง เช่น ธัญพืช ผัก ผลไม้ โดยผลไม้ที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน ได้แก่ผลไม้ที่ไม่มีกรด เช่น กล้วย แตงโม แคนตาลูป แอปเปิ้ล พีช ลูกแพร์ อะโวคาโด เป็นต้น
  3. อาหารที่มีไขมันดี เช่น อโวคาโด ปลาแซลมอน ถั่ว แฟลกซ์ซีด น้ำมันมะกอก น้ำมันงา หรือน้ำมันดอกทานตะวัน เป็นต้น
  4. ดื่มน้ำขิงอุ่น ๆ เพราะขิงจะช่วยขับลม กระตุ้นการทำงานของลำไส้ ลดอาการท้องอืด

อาหารที่ไม่ควรทานสำหรับผู้เป็นกรดไหลย้อน

  1. อาหารหรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวจัด เช่น ส้ม องุ่น มะนาว มะเขือเทศ สับปะรด น้ำส้มสายชู ฯลฯ
  2. อาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารทอด อาหารมัน อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น กะทิ นม เนย ชีส ไอศกรีม หรือไขมันจากเนื้อสัตว์ เป็นต้น
  3. อาหารรสเผ็ด 
  4. เครื่องดื่มคาเฟอีน เช่น น้ำอัดลม ชา กาแฟ 
  5. แอลกอฮอล์ สุรา ไวน์ ค็อกเทล หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
  6. อาหารหมักดอง ผลไม้ดอง ปลาร้า ผักกาดดอง ผลไม้แช่อิ่ม กิมจิ 
  7. ผักดิบ

วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อนมักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เมื่อป่วยหรือแม้แต่ยังไม่ป่วยเป็นโรคกรดไหลย้อนควรปฏิบัติดังนี้

  1. ไม่นอนทันทีหลังรับประทานอาหารเสร็จ ควรเว้นระยะเวลารับประทานอาหารเย็นอย่างน้อย 3 ชั่วโมงแล้วจึงเข้านอน
  2. ออกกำลังกายและปรับพฤติกรรมการกินไม่ให้น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน
  3. หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม อาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด อาหารไขมันสูง ช็อกโกแลต เปปเปอร์มินต์
  4. ไม่ควรรับประทานอาหารมื้อใหญ่ ปริมาณมาก 
  5. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่
  6. พยายามไม่เครียด ทำจิตใจให้สบาย 
  7. นอนยกศีรษะสูงขึ้นประมาณ 15 เซนติเมตรและนอนในท่าตะแคงซ้ายหากมีอาการ

วิธีป้องกันกรดไหลย้อน

  1. หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม อาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด อาหารไขมันสูง ช็อกโกแลต เปปเปอร์มินต์
  2. แบ่งรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ 
  3. ไม่ควรรับประทานอาหารเสร็จแล้วนอนทันที ควรเว้นระยะเวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมงแล้วจึงเข้านอน
  4. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่
  5. นอนยกศีรษะสูงให้ช่วงลำตัวสูงขึ้น
  6. สวมเสื้อผ้าสบาย ๆ ไม่สวมเสื้อผ้ารัดแน่น
  7. หลีกเลี่ยงความเครียด 
  8. ออกกำลังกายและควบคุมอาหารไม่ให้น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับกรดไหลย้อน 

ซื้อยาแก้กรดไหลย้อนทานเองได้ไหม?

ยารักษากรดไหลย้อนบ้างประเภทนั้นผู้ป่วยสามารถหาซื้อเองได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้งเพื่อรับคำแนะนำการใช้ยา ผลข้างเคียง และข้อจำกัดการใช้ยา รวมถึงวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางประเภทที่ส่งผลทำให้เกิดกรดไหลย้อน

กรดไหลย้อนรักษาหายไหม? 

โรคกรดไหลย้อนสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการปรับพฤติกรรมร่วมกับการเลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับตัวผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาและแนะนำเพิ่มเติมจากแพทย์และเภสัชกร

ถ้าไม่รักษากรดไหลย้อนจะมีผลเสียอะไรตามมา?

โรคกรดไหลย้อนหากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาอย่างเหมาะสมอาจพัฒนากลายเป็นโรคเรื้อรังหรือโรคร้ายอย่างโรคมะเร็งได้ เมื่อสังเกตพบว่ามีอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์และเภสัชกรโดยด่วยเพื่อไม่ให้อาการลุกลามจนยากต่อการรักษา

ทำไมคุณแม่ตั้งครรภ์มักเป็นกรดไหลย้อน?

หญิงตั้งครรภ์เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มักเป็นโรคกรดไหลย้อน เนื่องจากระบบภายในร่างกายรวมถึงฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงตั้งครรภ์ กล่าวคือเมื่อบริเวณช่องท้องของคุณแม่ขยายใหญ่ขึ้นเนื่องจากการเจริญเติบโตของทารกจะทำให้เกิดการกด ดัน หรือเบียดกระเพาะอาหารของคุณแม่ซึ่งจะทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ง่าย

สรุปเรื่องกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อนเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ซึ่งโดยมากเป็นพฤติกรรมของคนเราในปัจจุบันที่อาจหลีกเลี่ยงได้ยากและต้องค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนไป 

ถึงแม้ว่าโรคกรดไหลย้อนจะไม่อันตรายถึงชีวิตแต่สร้างความทรมานให้กับผู้ป่วย หากปล่อยไว้นานก็ยากต่อการรักษาและอาจเกิดอาการเลือดออกในทางเดินอาหาร ทำให้เกิดเป็นแผลในกระเพาะ เกิดภาวะหลอดอาหารอักเสบ หรืออาจเกิดแผลและเลือดออกบริเวณหลอดอาหารเรื้อรัง หากไม่แน่ใจอาการควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที 

 

 

 

Content powered by BeDee expert

ภญ.ณัชชา นาวีนวคุณ

เภสัชกร

Katz PO, Dunbar KB, Schnoll-Sussman FH, Greer KB, Yadlapati R, Spechler SJ. ACG Clinical Guideline for the Diagnosis and Management of Gastroesophageal Reflux Disease. Am J Gastroenterol. 2022 Jan 1;117(1):27-56. doi: 10.14309/ajg.0000000000001538. PMID: 34807007; PMCID: PMC8754510.

 

Website, N. (2023, May 4). Heartburn and acid reflux. nhs.uk. https://www.nhs.uk/conditions/heartburn-and-acid-reflux/

รักษาโรคกรดไหลย้อนที่ไหนดี

มีอาการไหลย้อนต้องรีบรักษา! ปรึกษาหมอออนไลน์หรือปรึกษาเภสัชกร ที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เรามีแพทย์และเภสัชกรพร้อมให้คำปรึกษา เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS

บทความที่เกี่ยวข้อง

เคยไหม? จู่ๆ ก็มีอาการปวดหัวไม่ทราบสาเหตุ บางครั้งก็ปวดหัวตื้อๆ หนักๆ หรือปวดหัวข้างเดียว บางรายก็อาจมีอาเจียนร่วมด้วย ทำให้เวลาที่มีอาการปวดหัว มักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน หรือการนอนหลับไปหมด   “ปวดหัว” เป็นอาการที่มีสาเหตุมาจากหลาก

Key Highlight   ก้อนไขมันและก้อนเนื้องอกไขมัน (Fat Nodule และ Lipoma) เกิดขึ้นจากเซลล์ไขมัน ซึ่งอยู่ในชั้นไขมัน โดยเป็นชั้นที่อยู่ระหว่างชั้นใต้ผิวหนังและชั้นกล้ามเนื้อ ควรพบแพทย์ไหม? หากก้อนมีขนาดใหญ่ขึ้น ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจอย่างละเอียด การรักษา