ปวดหัว

เคยไหม? จู่ๆ ก็มีอาการปวดหัวไม่ทราบสาเหตุ บางครั้งก็ปวดหัวตื้อๆ หนักๆ หรือปวดหัวข้างเดียว บางรายก็อาจมีอาเจียนร่วมด้วย ทำให้เวลาที่มีอาการปวดหัว มักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน หรือการนอนหลับไปหมด

 

“ปวดหัว” เป็นอาการที่มีสาเหตุมาจากหลากหลายปัจจัย มีทั้งระดับที่ไม่รุนแรง และระดับรุนแรงที่เป็นสัญญาณอันตราย ควรเข้าพบแพทย์ด่วน แล้วแบบนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรหล่ะ? 

 

BeDee จะพาคุณไปทำความรู้จักกับอาการปวดหัวแบบต่างๆ ตั้งแต่สาเหตุ ลักษณะการปวดหัวของแต่ละระดับ วิธีการรักษา การป้องกันไม่ให้ปวดหัว รวมไปจนถึงคำถามที่พบบ่อย

สารบัญบทความ

ปวดหัวแต่ละจุดบอกอะไรได้บ้าง

“ปวดหัวทำไงดี?” ก่อนที่จะหาวิธีบรรเทาอาการ เราควรต้องรู้ก่อนว่า ลักษณะการปวดหัวตรงไหนบอกอะไรได้บ้าง เพื่อที่จะได้รู้ถึงสาเหตุที่แท้จริงและวิธีการแก้ไขอย่างเหมาะสม โดยส่วนใหญ่มักจะมีลักษณะอาการปวดหัว ดังนี้

1. ปวดหัวจากไมเกรน 

ปวดหัวจากไมเกรน ในช่วงเริ่มต้นจะมีลักษณะการปวดหัวแบบตื้อ ๆ จากนั้นเมื่อระดับอาการรุนแรงขึ้น จะเริ่มปวดหัวตุบๆ เป็นจังหวะ โดยอาจจะปวดศีรษะเพียงข้างใดข้างหนึ่ง มักปวดหัวบริเวณขมับ หรือปวดทั่วทั้งหัว อาจปวดร้าวมาที่กระบอกตา

 

ระยะเวลาของอาการปวดหัว อาจยาวนาน 4 ชั่วโมง หรือบางรายอาจมีอาการถึง 3 วัน ซึ่งการปวดหัวมาก ๆ อาจมาพร้อมกับอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง ความอยากอาหารลดลง คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ และไวต่อแสง เสียง กลิ่นมากขึ้น นอกจากนี้หากมีอาการปวดหัวไมเกรนมากกว่า 15 วันต่อเดือน ก็มีโอกาสที่จะพัฒนากลายเป็นไมเกรนเรื้อรังได้

2. ปวดหัวจากไซนัสอักเสบ 

หากมีอาการปวดหัว และมีประวัติเคยเป็นไซนัสมาก่อน นี่อาจเป็นสัญญาณของอาการ “ไซนัสอักเสบ” โดยอาการที่สังเกตได้คือ รู้สึกปวดหน่วง ๆ บริเวณหน้าผาก รอบกระบอกตา สันจมูก หรือโหนกแก้ม

 

อีกทั้งยังมีโอกาสที่จะเกิดอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น น้ำมูกไหล หูอื้อ มีไข้ อ่อนเพลีย และหน้าบวม นอกจากนี้ ระดับความรุนแรงของอาการอาจเพิ่มขึ้นได้ เมื่อมีการเคลื่อนไหวร่างกายหรือศีรษะขณะที่มีอาการปวด

3. ปวดหัวจากความเครียด 

โรคเครียด” เป็นหนึ่งในตัวการที่สามารถทำให้เรารู้สึกปวดหัวได้ โดยอาการปวดหัวจากความเครียด มักจะมีลักษณะปวดหัวทั้งสองข้างอย่างต่อเนื่อง ให้ความรู้สึกเหมือนมีบางอย่างบีบรัดที่บริเวณหน้าผากหรือขมับ และอาจมีอาการร่วม ได้แก่ กล้ามเนื้อตึงตัว ปวดกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ มีความไวต่อแสง เสียง 

 

นอกจากนี้ ระยะเวลาของอาการปวดหัวอยู่ที่ประมาณ 30 นาทีขึ้นไป มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว หากยังมีปัจจัยกระตุ้น เช่น ความเครียด ความกังวล ภาวะซึมเศร้า ฯลฯ ซึ่งถ้าหากเป็นติดต่อกันนานกว่า 1 – 3 เดือน จะส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวจากความเครียดเรื้อรังได้

ปวดหัวตรงไหนบอกอะไร

4. ปวดหัวแบบคลัสเตอร์

การปวดหัวแบบคลัสเตอร์ จะมีระดับที่ค่อนข้างรุนแรงกว่าไมเกรน ตำแหน่งที่เกิดขึ้นบ่อยจะอยู่ในบริเวณรอบดวงตา หลังเบ้าตา หรือลามไปขมับ โดยเมื่อมีอาการ คุณจะรู้สึกแสบร้อนและกระสับกระส่ายไปพร้อม ๆ กับการปวด 

การปวดหัวแบบคลัสเตอร์นี้ มักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดิมซ้ำ ๆ แต่ละครั้งมักจะมีระยะเวลาประมาณ 15 นาที ไปจนถึง 3 ชั่วโมง และอาจพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ตาบวม ตาแดง รูม่านตาเล็กลง เริ่มคัดจมูก น้ำมูกไหล และไวต่อแสง 

5. ปวดหัวจากความผิดปกติของสมอง

บางครั้งอาการปวดหัวก็อาจมาจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณสมอง เช่น การเกิดเนื้องอก มีเลือดออกในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฯลฯ โดยเราสามารถสังเกตได้จากลักษณะการปวดหัวที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน มีระดับอาการรุนแรง

 

บางรายอาจมีอาการร่วมอื่น ๆ เช่น การทรงตัวแย่ลง เริ่มมองเห็นภาพซ้อน กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีความยากลำบากในการพูดสื่อสาร ปวดหัว อาเจียน ฯลฯ ถือว่าเริ่มมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุต่อไป

ปวดหัวแบบไหนที่ควรพบแพทย์?

“ต้องปวดหัวแบบไหน ถึงขั้นอันตราย ควรพบแพทย์ด่วน?” อาการปวดหัวที่ควรระวัง เพราะอาจมีความเสี่ยงต่อชีวิต มีดังนี้

  • ปวดหัวเฉียบพลัน หรือมีอาการปวดหัวอย่างรุนแรงแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
  • ปวดหัวร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาการชาบริเวณแขนขา ชักเกร็ง มีไข้ มองเห็นภาพซ้อน อาเจียน ฯลฯ 
  • ปวดหัวมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ทานยาแล้วอาการก็ยังไม่ดีขึ้น
  • ปวดหัวอย่างรุนแรง กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน การนอนหลับ
  • มีอาการปวดหัวหลังจากที่ประสบอุบัติเหตุ

สาเหตุของอาการปวดหัว

ทำไมถึงปวดหัว เกิดจากอะไร

อาการปวดหัวเกิดจากอะไร? สาเหตุของการปวดหัวมีหลากหลายปัจจัย ดังนี้

  1. ความเจ็บป่วยหรือความผิดปกติทางร่างกาย เช่น การติดเชื้อ ภาวะไซนัสอักเสบ การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ฯลฯ 
  2. โรคประจำตัวผู้ป่วย เช่น ความดันโลหติสูง เนื่องจากผู้ป่วยความดันโลหิตสูงบางรายอาจมีอาการปวดหัวร่วมด้วย
  3. อารมณ์ คือ มีภาวะเครียด วิตกกังวล หรือซึมเศร้าบ่อยครั้ง 
  4. สภาพแวดล้อม การมีปัจจัยกระตุ้นอยู่ใกล้ ๆ เช่น ควันบุหรี่ สารเคมี กลิ่นน้ำหอม สารที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ แสงสว่าง เสียง สภาพอากาศ อาหารบางประเภท
  5. พันธุกรรม บางโรคหรือบางภาวะอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม เช่น ไมเกรน หากสมาชิกภายในครอบครัวเคยมีประวัติภาวะดังกล่าว ก็จะมีโอกาสที่คุณอาจจะเป็นด้วยเช่นกัน 
  6. ลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ อดอาหาร ท่าทางหรือพฤติกรรมการนั่ง ยืน เดิน ที่ไม่เหมาะสม ฯลฯ

การรักษาอาการปวดหัว

สำหรับใครที่รู้สึกว่าตนเองมีอาการปวดหัวคล้ายกับข้อมูลข้างต้น แต่ยังไม่มั่นใจว่าเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่ BeDee ขอแนะนำให้เข้าตรวจอย่างละเอียดกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงและการเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม รวดเร็ว ทันท่วงที

อาการปวดหัวแต่ละประเภทมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของผู้ป่วย โดยทั่วไปแล้ววิธีรักษาอาการปวดหัวหลัก ๆ มีดังนี้ 

 

  • การรักษาอาการปวดหัวด้วยยา 

ส่วนใหญ่จะมีการจ่ายยาให้ตามความเหมาะสม เช่น ยาแก้ปวดทั่วไป ยาแก้ปวดไมเกรน การให้ดมออกซิเจนสำหรับผู้ที่มีอาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์ ฯลฯ ผู้ป่วยควรใช้ยาภายใต้การแนะนำของแพทย์และเภสัชกร

 

  • การใช้ศาสตร์ต่าง ๆ 

บางครั้งการปวดหัวอาจมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่างของเรา จึงจำเป็นต้องมีการรักษาด้วยการใช้ศาสตร์ต่าง ๆ เข้ามาร่วมด้วย เช่น การทำกายภาพบำบัดสำหรับคนที่มีอาการปวดตึงกล้ามเนื้อ การมีท่าทางการนั่ง ยืน เดิน ไม่เหมาะสม หรือการทำจิตบำบัด เพื่อปรับพฤติกรรม การปรับความคิด หรือหาวิธีการจัดการอารมณ์ที่เหมาะสม เป็นต้น

ดูแลทั้งกายและใจ ช้อปแพ็กเกจกายภาพบำบัดรักษาอาการออฟฟิศซินโดรมพร้อมพูดคุยกับนักจิตวิทยาคลินิกจาก BDMS

  • การทดสอบอื่น ๆ เพิ่มเติม

หากคุณมีอาการปวดหัวร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ ด้วย แพทย์อาจต้องใช้เครื่องมือตรวจส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาการร่วมอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบ CT Scan หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI เป็นต้น

การป้องกันอาการปวดหัว

ป้องกันและแก้อาการปวดหัว

ทำอย่างไรให้ไม่ปวดหัวและไม่กลับมาเป็นซ้ำ? BeDee มีวิธีดูแลตนเองและป้องกันอาการปวดหัวแบบไม่ยาก มาแนะนำคุณ ได้แก่

  • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่อาจก่อให้เกิดอาการปวดหัว เช่น ควันบุหรี่ กลิ่นสารเคมี น้ำหอมที่มีกลิ่นฉุน อาหารบางประเภทเช่น ชีส เนย การดื่มแอลกอฮอล์
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยที่ไม่หักโหมมากจนเกินไป
  • แบ่งเวลาให้สามารถนอนหลับพักผ่อนได้อย่างเพียงพอ
  • เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
  • หาวิธีรับมือหรือกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด ความวิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้า
  • ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันให้เหมาะสม เช่น การดื่มน้ำเพิ่มขึ้น การแบ่งเวลาหยุดพักสายตาและร่างกายระหว่างทำงาน
  • ไม่ใช้ยาปริมาณมากจนเกินไป
  • สังเกตและใส่ใจสุขภาพตนเองด้วยการตรวจสุขภาพประจำปี

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาการปวดหัว

นอกจากคำถามที่ว่า “ปวดหัวมากๆ เกิดจากอะไร?”ที่เป็นคำถามยอดฮิตในกลุ่มโรคอาการปวดหัวแล้ว เราก็ได้ทำการคัดเลือกคำถามที่มักพบบ่อยไม่แพ้กันมาฝากทุกคน ได้แก่

ปวดหัวไม่ทราบสาเหตุต้องทำอย่างไร?

เมื่อมีอาการปวดหัวแบบไม่ทราบสาเหตุ ในเบื้องต้นแนะนำว่า ควรสังเกตตนเองทั้งพฤติกรรมก่อนหน้าที่จะมีอาการปวดหัว ลักษณะการปวดหัว โรคประจำตัว พยายามจดบันทึกช่วงเวลาและรายละเอียดของการปวดหัวที่เกิดขึ้น เช่น มักปวดหัวทุกครั้งก่อนมีรอบเดือน แต่พอประจำเดือนหมดอาการปวดหัวหายไป แสดงว่าปัจจัยกระตุ้นของการเกิดอาการปวดหัวคือการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายหรืออาจวัดความดันในช่วงที่มีอาการปวดหัว เพื่อดูว่ามีความดันสูงหรือไม่ และนำข้อมูลไปแจ้งให้แพทย์ทราบ 

หากทานยาแก้อาการปวดหัวเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวดหัวรุนแรง ควรรีบเข้าพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงโดยเร็ว และเพื่อที่จะได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที

ปวดหัวเป็นๆ หายๆ ไม่เข้ารับการรักษาอันตรายไหม? 

การปวดหัวเป็นช่วง เดี๋ยวก็เป็น แต่เดี๋ยวก็หายไป หากพอจะรู้สาเหตุ เช่น ช่วงนั้นนอนหลับไม่เพียงพอ นอนดึก หรือมีภาวะเครียด ฯลฯ อาจปรับพฤติกรรมเพื่อให้ร่างกายกลับสู่สมดุลได้ แต่ถ้าหากมีอาการปวดหัวบ่อย เป็นๆ หายๆ ติดต่อกัน ก็จะมีโอกาสที่ระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้น หรือพัฒนากลายเป็นการปวดหัวเรื้อรัง จึงควรเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ และหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อป้องกันโรคร้ายที่อาจแฝงตัวอยู่นั่นเอง

สรุปอาการปวดหัว หากรุนแรงอย่าปล่อยไว้

“ปวดหัว” เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ มีทั้งแบบระดับอาการรุนแรง และระดับอาการไม่รุนแรง ผู้ที่มีอาการปวดหัว ควรจะต้องสังเกตสุขภาพตนเองให้มาก หากพบว่าเริ่มมีการปวดหัวบ่อย ๆ อาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวดหัวอย่างรุนแรง อย่าปล่อยทิ้งไว้ เพราะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้ ควรรีบเข้าพบแพทย์ เพื่อค้นหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาต่อไป

สำหรับใครที่กำลังอยากเข้ารับการตรวจรักษาแต่ไม่รู้ว่าจะไปที่ไหนดี? BeDee เรามีทีมแพทย์ชำนาญการและแพ็กเกจดูแลสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ที่จะคอยดูแลสุขภาพคุณทุกวัน ทำนัดตามเวลาที่คุณสะดวก ไม่ต้องเดินทาง ปรึกษาหมอออนไลน์ต้องแอป “BeDee” สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Line Official : @BeDeebyBDMS

Kuruvilla, D. (2023, January 3). What different types of headaches are there?. MedicalNewsToday. https://www.medicalnewstoday.com/articles/320767


Han, S. (2022, January 5). Why do I have a headache? Causes, types, and remedies. MedicalNewsToday.https://www.medicalnewstoday.com/articles/73936


Robinson, J. (2022, September 14). Headache Basics. WebMD. https://www.webmd.com/migraines-headaches/migraines-headaches-basics


Robinson, J. (2022, January 27). Cluster Headaches. WebMD. https://www.webmd.com/migraines-headaches/cluster-headaches

บทความที่เกี่ยวข้อง

กรดไหลย้อน โรคที่พบได้บ่อยมากขึ้นเนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ทั้งผู้ที่มีโรคเครียด ขาดการออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกายน้อย รับประทานอาหารแล้วนอนทันที ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกรดไหลย้อนมากขึ้น สร้างควา

ปัญหา “ผมร่วง” เป็นปัญหาใหญ่ของหลายคนที่แม้จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อร่างกาย ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด แต่ทำให้สูญเสียความมั่นใจเป็นอย่างมาก ผมร่วงพบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แม้ไม่ได้หวีผม สระผม แค่นั่งอยู่เฉย ๆ บางทีผมก็ขาดร่วงไม่หยุด มาทำความเข้าใจสาเหตุ