สะดุ้งตื่น

Key Takeaways

  • สะดุ้งตื่นเกิดจากการกระตุกของกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็วในขณะที่ร่างกายของเรากำลังจะเข้าสู่ภาวะหลับลึก ทำให้เราสะดุ้งตื่นขึ้นมาชั่วขณะ 
  • อาการสะดุ้งตื่นสามารถพบได้ในคนทั่วไป แต่มักพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก
  • หากมีปัญหาสะดุ้งตื่นบ่อย นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท ควรปรึกษาแพทย์
สารบัญบทความ

อาการสะดุ้งตื่นคืออะไร? 

หลายคนอาจจะเคยนอนหลับในตอนกลางคืนแล้วก็สะดุ้งตื่นขึ้นมาหรือกําลังจะหลับแล้วสะดุ้งทำให้นอนไม่หลับจริง ๆ แล้วอาการสะดุ้งตื่นกลางดึกคืออะไร เกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร อันตรายหรือไม่ มาทำความรู้จักอาการนี้เลย

 

 

อาการ “สะดุ้งตื่น” หรือ “Hypnic Jerk” หรือ Sleep Start คือการกระตุกหรือการหดตัวของของกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็ว (Myoclonic Muscle Contraction) มักเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อแขน และขา ในขณะที่ร่างกายของเรากำลังจะเข้าสู่ภาวะหลับลึก การกระตุกนี้อาจทำให้เราตื่นขึ้นมาชั่วขณะ และบางครั้งก็อาจรู้สึกเหมือนกำลังตกจากที่สูง ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้เป็นปกติ อาการทางร่างกายอื่น ๆ ที่อาจพบร่วมด้วย เช่น หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็วขึ้น เหงื่อออก เป็นต้น

 

 

มีปัญหาการนอนหลับ ชอบตื่นกลางดึก ปรึกษาคุณหมอที่แอป BeDee ได้ทุกวัน สะดวก ส่งยาถึงที่

สาเหตุของอาการสะดุ้งตื่นกลางดึกเกิดจากอะไร?

สาเหตุของอาการสะดุ้งตื่น

อาการสะดุ้งตื่นเกิดจากการกระตุกของกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็วในขณะที่ร่างกายของเรากำลังจะเข้าสู่ภาวะหลับลึก ซึ่งการกระตุกของกล้ามเนื้อคาดว่ามาจากการสื่อสารของระบบประสาทที่อาจทำงานผิดพลาด ส่งผลให้ร่างกายกระตุกหรือสะดุ้งตื่นนั่นเอง อย่างไรก็ตามอาการนี้ไม่ได้เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่หากอาการเกิดขึ้นบ่อยอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพการนอนหลับ อารมณ์ สมาธิ และการเรียนหรือการทำงานได้

ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการสะดุ้งตื่น

อาการสะดุ้งตื่นนั้นแม้จะพบได้ในคนทั่วไปส่วนใหญ่ และสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงอายุ แต่ก็มีปัจจัยบางประการที่กระตุ้นให้เกิดอาการ ซึ่งหากเราหลีกเลี่ยงปัจจัยเหล่านั้นได้ก็อาจช่วยให้อาการสะดุ้งตื่นแล้วนอนไม่หลับเกิดขึ้นน้อยลง ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการสะดุ้งตื่น เช่น 

  • ความเครียด หากเรามีความเครียดหรือโรคเครียดอาจทำให้สมองยังคงทำงานขณะที่เรากำลังจะหลับซึ่งทำให้เกิดการสะดุ้งตื่น
  • การดื่มเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีนสูงหรือดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ส่งผลต่อการนอนหลับ กระตุ้นให้เกิดอาการนอนแล้วสะดุ้ง 
  • พักผ่อนไม่เพียงพอ การอดนอน
  • การออกกำลังกายอย่างหนักก่อนนอน ทำให้ร่างกายและระบบประสาทตื่นตัวซึ่งอาจทำให้สะดุ้งตื่น
  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับสามารถทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนและทำให้หลับแล้วสะดุ้งตื่น


ความสำคัญทางการแพทย์ประการหนึ่งคือ ต้องแยกจากภาวะความผิดปกติหรือโรคอื่น ๆ เช่น การชัก (Seizures, Nonepileptic Seizures) การหดเกร็งของกล้ามเนื้อผิดปกติ กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome (RLS)) ซึ่งการสะดุ้งตื่นจะแตกต่างจากความผิดปกติอื่น ๆ คืออาการจะเกิดขึ้นช่วงขณะที่ร่างกายของเรากำลังจะเข้าสู่ภาวะหลับลึก และมักไม่พบความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เมื่อแก้ไขสาเหตุหลักแล้วอาการจะดีขึ้นได้เอง

วิธีแก้ไขอาการสะดุ้งตื่นกลางดึกมีอะไรบ้าง?

วิธีแก้ไขอาการสะดุ้งตื่น

อาการสะดุ้งตื่นก่อให้เกิดปัญหาการนอนหลับ บางคนสะดุ้งตื่นเวลาเดิมทุกวันสะดุ้งตื่นแล้วนอนไม่หลับทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ เกิดอาการหงุดหงิด ไม่สดชื่นในตอนเช้า อาการสะดุ้งตื่นกลางดึก วิธีแก้สามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยวิธีเหล่านี้ 

1. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่

วิธีแก้อาการตื่นกลางดึกอย่างแรกคือหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ ชา หรือ แม้แต่ช็อกโกแลต ที่มีสารคาเฟอีน (Caffeine) สูงโดยเฉพาะในช่วงบ่ายหรือเย็น ข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่าสารคาเฟอีนสามารถคงอยู่ในร่างกายได้นานถึง 6 ชั่วโมง คำแนะนำคือไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก่อนการนอนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ช่วงบ่ายหรือเย็น เนื่องจากคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายตื่นตัวและนอนหลับไม่สนิท นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากในบุหรี่มีสารนิโคติน (Nicotine) ซึ่งเป็นสารกระตุ้นประสาททำให้หลับยากทั้งผู้ที่สูบบุหรี่โดยตรง (Active Smoker) หรือผู้ที่รับกลิ่นควันบุหรี่จากผู้อื่นอยู่บ่อย ๆ (Passive Smoker)

2. หลีกเลี่ยงการทานมื้อหนักก่อนนอน

การทานมื้อเย็นหรือมื้อดึกก่อนนอนจะทำให้ระบบย่อยทำงานหนัก รู้สึกไม่สบายท้อง ท้องอืด จุก แน่น และทำให้นอนหลับยาก และนอนหลับไม่สนิทได้ ควรเว้นระยะเวลาหลังจากทานอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมงแล้วจึงค่อยเข้านอนเพื่อช่วยให้ร่างกายได้ย่อยอาหาร ลดโอกาสการเกิดกรดไหลย้อนและการสะดุ้งตื่นกลางดึก

3. ผ่อนคลายก่อนเข้านอน

ใช้เวลาผ่อนคลายอย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนเข้านอน งดเล่นโทรศัพท์มือถือ ดูโทรทัศน์ หรือใช้คอมพิวเตอร์ก่อนนอน เนื่องจากแสงสีฟ้าจากหน้าจอจะทำให้เรารู้สึกตื่นตัว นอนหลับยาก นอกจากนี้การเสพสื่อต่าง ๆ ก่อนนอนยังทำให้สมองของเราคิดไม่หยุดและรู้สึกตึงเครียดอีกด้วย ลองหันมาอ่านหนังสือแทนการใช้หน้าจอ

4. จัดห้องนอนให้ เงียบ เย็น และ มืดสนิท

การจัดระเบียบห้องนอนเป็นหนึ่งในวิธีแก้ปัญหานอนไม่หลับ นอนหลับไม่ได้คุณภาพ หรืออาการสะดุ้งตื่นได้ เช่น การปรับสีของผนังห้อง ผ้าปูที่นอน ม่านกันแสง รวมถึงอุณหภูมิในห้องนอนควรจะเย็นพอดี ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป ควรเลือกโทนสีของห้องนอนเป็นโทนมืดเพื่อให้ในตอนกลางคืนมีแสงเข้าห้องนอนน้อยที่สุด เพราะแสงอาจกระตุ้นให้ร่างกายตื่นจนทำให้นอนหลับไม่สนิท

5. เข้านอนและตื่นนอนตรงเวลาสม่ำเสมอ

พยายามเข้านอน และตื่นเป็นเวลา โดยเริ่มจากการกำหนดเวลาตื่นตอนเช้า และพยายามตื่นให้ตรงเวลา ไม่ว่าวันที่เริ่มปรับเวลานอนจะนอนดึกแค่ไหนก็ไม่ควรทดเวลาตื่นสาย ให้พยายามฝืนตื่นตามเวลาให้ได้มากที่สุด การเข้านอนและตื่นเป็นเวลาจะช่วยให้นอนหลับอย่างมีคุณภาพมากขึ้น

6. ฝึกเทคนิคผ่อนคลายความเครียด

เช่น การฝึกหายใจเข้าออก ฝึกสมาธิ การใช้จินตภาพบำบัดคือการหลับตาแล้วจินตนาการว่าตัวเองอยู่ในที่ที่เงียบสงบ เช่น ชายหาด ป่าเขา หรือสถานที่ที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย นอนหลับได้ดีขึ้น

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาการสะดุ้งตื่น

1. อาการสะดุ้งตื่นกลางดึกอันตรายไหม?

การสะดุ้งตื่นกลางดึกนั้นไม่ได้เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่กลับส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับของเรา ยิ่งถ้าใครที่มีอาการกลางดึกบ่อย ๆ จะทำให้เมื่อตื่นเช้ามารู้สึกไม่สดชื่น พักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลต่ออารมณ์คือทำให้หงุดหงิด เหนื่อยล้า ไม่มีสมาธิในการทำงาน ใครที่มีอาการบ่อย ๆ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาอย่างเหมาะสม

2. ฝันร้ายจนสะดุ้งตื่น อยากนอนต่อควรทำอย่างไร?

หากมีอาการสะดุ้งตื่นหรือฝันร้ายแล้วสะดุ้งตื่นอยากนอนหลับต่อแต่ก็นอนไม่หลับไม่ควรฝืน หลายคนอาจคิดว่าการข่มตานอนจะช่วยทำให้ง่วงไปเอง แต่ความจริงแล้วอาจจะทำให้เรานอนไม่หลับไปทั้งคืนเลยก็ได้ ดังนั้นถ้านอนไม่หลับจริง ๆ ควรลุกขึ้นมาทำกิจกรรมเบา ๆ เช่นอ่านหนังสือ วาดรูปง่าย ๆ ยืดเส้นยืดสายเล็กน้อย แต่ไม่ควรเล่นโทรศัพท์หรือแท็บเล็ตเพื่อทำให้ง่วง เนื่องจากแสงสีฟ้าจากแสงหน้าจอโทรศัพท์ จะกระตุ้นสมองทำให้หลับยาก

สะดุ้งตื่นบ่อย มีปัญหาการนอนหลับ รีบปรึกษาคุณหมอ

นอนแล้วสะดุ้งตื่นบ่อยเคลิ้มหลับแล้วสะดุ้ง อาจไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต แต่กลับส่งผลกระทบต่อคุณภาพการนอนหลับ เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตในตอนกลางวันเพราะตื่นขึ้นมารู้สึกไม่สดชื่น รู้สึกเพลีย เพราะนอนหลับไม่พอ หากมีปัญหามีปัญหาในการนอนหลับสามารถปรึกษาคุณหมอที่แอป BeDee ได้ทุกวัน

 

ปรึกษาหมอออนไลน์ นักกำหนดอาหาร พยาบาล และปรึกษาเภสัชกรแบบไม่มีค่าใช้จ่ายบนแอป BeDee ได้ทุกวัน ส่งยาและสินค้าถึงที่ สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS 

 

Content powered by BeDee Expert

นพ. จิติศักดิ์ พูนศรีสวัสดิ์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เวชศาสตร์ป้องกัน และอาชีวเวชศาสตร์

 

เรียบเรียงโดย

กรวรรณ ใจซื่อกุล

บทความที่เกี่ยวข้อง

Key Takeaway ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B สามารถก่อให้เกิดอาการรุนแรงได้ไม่แตกต่างจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A  ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B มักระบาดมากขึ้นในช่วงฤดูฝนและในบางปีพบในฤดูหนาวด้วยเช่นกัน แต่ในประเทศไทยสามารถพบมีการระบาดได้ตลอดทั้งปี สารบัญบทความ ไข้หวั

Key Takeaways โรคลมหลับเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทที่มีลักษณะเด่นคือการง่วงนอนมากเกินไปในเวลากลางวัน ผู้ป่วยจะมีอาการวูบหลับนั่งหลับหลับกลางอากาศ หรือหลับแบบไม่รู้ตัว  ผู้ป่วยโรคลมหลับบางรายมีอาการ Cataplexy คืออาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย มักเ