ADHD คือ

Key Takeaways

  • โรคสมาธิสั้น ADHD มักพบได้เด็กอายุ 3-7 ขวบ แต่ตัวโรคสามารถดำเนินได้จนถึงวัยผู้ใหญ่
  • อาการสมาธิสั้นที่สังเกตได้ เช่น ทำกิจกรรมที่ต้องจดจ่อหรือใช้สมาธิไม่ได้ อยู่ไม่สุข ไม่สามารถนั่งนิ่งได้
  • หากมีสงสัยว่าลูกมีอาการสมาธิสั้นในเด็กควรปรึกษาแพทย์ทันที
สารบัญบทความ

ADHD คืออะไร? 

โรค Attention Deficit Hyperactivity Disorder (ADHD) คือโรคสมาธิสั้น เป็นภาวะทางจิตเวชที่มีลักษณะเฉพาะคือการขาดสมาธิ (Inattention) คือมีความหุนหันพลันแล่น (Impulsivity) และมีพฤติกรรมที่เกินปกติ (Hyperactivity) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการทำงาน การเรียน และการใช้ชีวิตประจำวัน 

ADHD คือโรคที่มักเริ่มแสดงอาการในวัยเด็กช่วง 3-7 ขวบ แต่สามารถดำเนินต่อไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ได้ การรักษามักประกอบด้วยการใช้ยา การบำบัดทางจิต และการปรับพฤติกรรมเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โรคสมาธิสั้นในเด็กมักแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มอาการหลัก ได้แก่

1. สมาธิสั้นแบบขาดสมาธิ (Predominantly Inattentive Presentation) 

สมาธิสั้นแบบขาดสมาธิ (Predominantly Inattentive Presentation) เป็นหนึ่งในประเภทของโรคสมาธิสั้น ซึ่งอาการหลักคือการขาดสมาธิ มีความยากลำบากในการจดจ่อกับงานหรืองานที่ต้องใช้ความคิดเป็นเวลานาน มักทำงานผิดพลาดเพราะขาดความละเอียดและง่ายต่อการถูกเบี่ยงเบนความสนใจจากสิ่งรอบข้าง

2. สมาธิสั้นแบบหุนหันพลันแล่น (Predominantly Hyperactive-Impulsive Presentation)

สมาธิสั้นแบบหุนหันพลันแล่น (Predominantly Hyperactive-Impulsive Presentation) เป็นหนึ่งในรูปแบบของโรคสมาธิสั้น ลักษณะเด่นของกลุ่มนี้คืออาการหุนหันพลันแล่นและความกระตือรือร้นที่เกินปกติ มักมีปัญหาด้านการควบคุมพฤติกรรม เช่น พูดขัดจังหวะผู้อื่น รอคอยไม่ได้ เคลื่อนไหวหรือพูดคุยมากเกินไป และไม่สามารถนั่งนิ่งได้นาน รู้สึกต้องทำอะไรสักอย่างอยู่เสมอ

3. สมาธิสั้นแบบขาดสมาธิและหุนหันพลันแล่น (Combined Presentation)

สมาธิสั้นแบบขาดสมาธิและหุนหันพลันแล่น (Combined Presentation) เป็นรูปแบบของโรคสมาธิสั้นที่มีทั้งอาการขาดสมาธิและหุนหันพลันแล่นกระตือรือร้นเกินไปรวมอยู่ด้วยกัน อาการสมาธิสั้นประเภทนี้เป็นรูปแบบที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วย ADHD

 

อาการที่พบในรูปแบบนี้คือ อาการขาดสมาธิ ยากลำบากในการจดจ่อกับงานหรือการทำงานที่ต้องใช้ความคิดเป็นเวลานาน เช่น การเรียน การทำการบ้าน มักทำงานผิดพลาดเพราะขาดความละเอียด ง่ายต่อการเบี่ยงเบนความสนใจจากสิ่งรอบข้าง ทำหรือพูดโดยไม่คิดถึงผลที่ตามมา รอคอยไม่ได้ เคลื่อนไหวหรือพูดคุยมากเกินไป ไม่สามารถนั่งนิ่งได้นาน มักจะขัดจังหวะผู้อื่น มีปัญหาในการควบคุมตนเอง

เช็กลิสต์อาการ ADHD แบบไหนถึงเรียกว่า “สมาธิสั้น”

พ่อแม่อาจสงสัยว่าแล้วเราควรสังเกตอย่างไรว่าลูกมีอาการสมาธิสั้น โดยทั่วไปแล้วโรคสมาธิสั้นมีอาการที่สังเกตได้เบื้องต้นดังนี้

  • ขาดความสามารถในการตั้งใจฟัง ว่อกแว่กง่าย
  • ฟังคำสั่งแล้วลืมหรือทำตามไม่ได้ ไม่สามารถทำงานที่ต้องใช้สมาธิจนเสร็จสิ้น
  • ขาดความใส่ใจในรายละเอียด ทำงานผิดพลาดบ่อย หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิ เช่น การทำการบ้าน 
  • มักลืมสิ่งต่าง ๆ เช่น ลืมทำการบ้าน ทำของหาย
  • รอคอยไม่ได้ พูดแทรกหรือขัดจังหวะผู้อื่น
  • อยู่ไม่นิ่ง ต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา ไม่สามารถทำกิจกรรมที่ต้องการความสงบได้ เช่น การนั่งนิ่ง ๆ เพื่ออ่านหนังสือ


สงสัยว่าลูกสมาธิสั้น ปรึกษานักจิตวิทยากับจิตแพทย์ที่แอป BeDee สะดวก เป็นส่วนตัว

โรคสมาธิสั้นเกิดจากอะไร?

สมาธิสั้นเกิดจาก

โรคสมาธิสั้น (ADHD) อาจเกิดจากหลายปัจจัยที่มีผลต่อการทำงานของสมองและระบบประสาท โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด อย่างไรก็ตามมีปัจจัยหลายอย่างที่เชื่อว่ามีบทบาทสำคัญต่อการเกิดโรค ADHD ดังนี้

  • พันธุกรรม หากมีสมาชิกในครอบครัว เช่น พ่อแม่หรือพี่น้องที่มีอาการ ADHD ก็มีโอกาสสูงที่ลูกหลานจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ด้วย
  • เด็กที่มีอาการสมาธิสั้นอาจมีความผิดปกติในส่วนของสมองที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสมาธิและพฤติกรรม โดยเฉพาะส่วนหน้าของสมอง (Prefrontal Cortex)
  • ความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท เช่น โดปามีน (Dopamine) ซึ่งมีบทบาทในการควบคุมสมาธิและการตัดสินใจ อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรค
  • การสูบบุหรี่หรือการใช้สารเสพติดระหว่างการตั้งครรภ์
  • รูปแบบการเลี้ยงดู เช่น การให้ลูกอยู่กับแท็บเล็ต สมาร์ตโฟน หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือดูโทรทัศน์เป็นเวลานาน ๆ

ไขข้อสงสัย โรคสมาธิสั้น VS ไฮเปอร์ต่างกันอย่างไร? 

อาการ Hyperactivity หรือที่เรามักเรียกกันว่า “ไฮเปอร์” หมายถึงอาการเคลื่อนไหวหรือกระทำสิ่งต่าง ๆ มากเกินไป ไม่สามารถอยู่นิ่งได้ พูดมากหรือพูดเร็ว ต้องการทำกิจกรรมหรือเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา

 

อาการไฮเปอร์เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของโรคสมาธิสั้นหรือ ADHD เราสามารถพบอาการไฮเปอร์ได้ในเด็กที่เป็น ADHD แต่ไม่ใช่ว่าเด็กที่เป็นไฮเปอร์ทุกคนจะเป็นโรคสมาธิสั้นเนื่องจากอาการไฮเปอร์นั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคสมาธิสั้นในเด็ก เด็กที่มีไอคิวสูง (Gifted Child) เด็กที่มีพัฒนาการทางระบบประสาทล่าช้า (Motor – Sensory) หรือเด็กที่ไฮเปอร์โดยธรรมชาติ เป็นต้น

วิธีการวินิจฉัย ADHD ทำอย่างไร?

การวินิจฉัย ADHD มีวิธีการดังนี้

  • การซักประวัติ แพทย์จะสอบถามพฤติกรรมของเด็ก ๆ กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู หรือผู้ที่ใกล้ชิดกับเด็กเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรม
  • การประเมินพฤติกรรม แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญอาจใช้แบบสอบถามเพื่อประเมินพฤติกรรมของเด็ก ๆ 
  • การประเมินทางจิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญอาจใช้การประเมินทางจิตวิทยาเพื่อทดสอบความสามารถในการคิด การรับรู้ และการประมวลผลข้อมูลของเด็กซึ่งจะช่วยในการแยกแยะระหว่างโรคสมาธิสั้นกับภาวะอื่น ๆ ที่อาจมีอาการคล้ายคลึงกัน 
  • การประเมินพฤติกรรมในหลายสถานการณ์ การวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นจำเป็นต้องมีการประเมินพฤติกรรมของผู้ป่วยในหลายสถานการณ์ เช่น ที่บ้าน ที่โรงเรียน เพื่อให้แน่ใจว่าอาการเกิดขึ้นในบริบทต่าง ๆ ไม่ใช่เฉพาะในบางสถานการณ์เท่านั้น

ADHD รักษาอย่างไร?

ADHD รักษา

หากลูกหลานของคุณกำลังเผชิญกับโรคสมาธิสั้น อย่าละเลยที่จะรับการรักษาอย่างถูกวิธี ซึ่งในปัจจุบันมีรูปแบบการรักษาดังนี้

รักษาสมาธิสั้นโดยการปรับพฤติกรรม

สมาธิสั้นในเด็กสามารถรักษาได้ด้วยการบำบัดทางพฤติกรรม เป็นการสอนเทคนิคการจัดการกับพฤติกรรมและการพัฒนาทักษะในการจัดการเวลา การวางแผน และการทำงานที่ต้องใช้ความจดจ่อ เช่น การบำบัดแบบพฤติกรรม-จิตบำบัด (Cognitive Behavioral Therapy หรือ CBT) เป็นต้น

รักษาสมาธิสั้นโดยการใช้ยา

ยาสำหรับรักษาโรคสมาธิสั้นส่วนใหญ่คือยาที่ช่วยกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เช่น เมทิลเฟนิเดต ซึ่งจะช่วยเพิ่มระดับโดปามีนและนอร์อิพิเนฟรินในสมอง ซึ่งช่วยในการปรับปรุงสมาธิและการควบคุมพฤติกรรม โดยทั่วไปจะใช้ในรูปแบบที่ปล่อยยาช้า (Extended-Release) 


ส่วนยาที่ไม่กระตุ้นระบบประสาท เช่น อะตอมม็อกเซทิน เป็นยาที่ไม่กระตุ้นระบบประสาทซึ่งทำงานโดยการเพิ่มระดับนอร์อิพิเนฟรินในสมอง ซึ่งช่วยในการปรับปรุงสมาธิและควบคุมพฤติกรรมซึ่ง ยานี้มีผลช้ากว่าเมทิลเฟนิเดต

อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยการใช้ยาต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งแต่ละคนจะได้ผลแตกต่างกัน โดนแพทย์จะพิจารณาถึงผลปัจจัยส่วนบุคคลและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ ADHD

1. โรคสมาธิสั้นในเด็กสามารถรักษาให้หายได้ไหม?

โรคสมาธิสั้นในเด็ก ADHD คือภาวะที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถจัดการและควบคุมอาการได้ผ่านการรักษาและการดูแลที่เหมาะสม เด็กที่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการบำบัดพฤติกรรมและการสนับสนุนจากครอบครัวและโรงเรียน มักจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นและสามารถปรับตัวให้เข้ากับชีวิตประจำวันได้ อย่างไรก็ตาม บางคนอาจยังมีอาการของ ADHD ต่อเนื่องในวัยผู้ใหญ่

2. ลูกสมาธิสั้น พ่อแม่รับมืออย่างไร?

อันดับแรกผู้ปกครองควรศึกษาและทำความเข้าใจโรคสมาธิสั้น ปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีการจัดการและการดูแลลูกอย่างเหมาะสม ผู้ปกครองอาจทำตารางกิจวัตรประจำวันเพื่อช่วยให้ลูกจัดการตัวเองได้ดีขึ้นรวมถึงการลดสิ่งรบกวนในสภาพแวดล้อมที่บ้าน เช่น เสียงดังหรือสิ่งของที่อาจทำให้เสียสมาธิ สร้างพื้นที่สำหรับการเรียนหรือทำการบ้านที่มีความสงบและมีสมาธิ ชมเชยและให้กำลังใจเมื่อเห็นความพยายามหรือความสำเร็จของลูกเพื่อสร้างความมั่นใจ เป็นต้น

3. วิธีรักษา ADHA แบบไม่ใช้ยา สามารถทำได้ไหม?

การรักษา ADHD มีหลายวิธีที่ไม่ต้องใช้ยา เช่น การบำบัดพฤติกรรม (Behavioral Therapy) ซึ่งช่วยในการพัฒนาทักษะการจัดการพฤติกรรมและการควบคุมตนเอง นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนจากครอบครัวและการปรับพฤติกรรมในโรงเรียนที่สามารถช่วยเพิ่มความสามารถในการจัดการกับอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ การรวมวิธีการรักษาหลายอย่างเข้าด้วยกันมักจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับ ADHD อย่างไรก็ตามการรักษานั้นควรอยู่ในการดูแลและคำแนะนำจากแพทย์

4. อาการ ADHD จะหายไปเองเมื่อเด็กโตขึ้นหรือไม่?

แม้ว่าอาการของ ADHD อาจลดลงเมื่อเด็กโตขึ้น แต่โรคนี้มักจะยังคงมีผลต่อบางคนในวัยผู้ใหญ่ การจัดการกับอาการสมาธิสั้นผ่านการรักษาและการสนับสนุนที่เหมาะสมสามารถช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตได้ดีขึ้น แม้ว่าบางคนอาจพบว่าการรักษาทำให้การจัดการอาการต่าง ๆ ดีขึ้นเมื่อโตขึ้น แต่ก็ยังควรเข้ารับการติดตามการรักษาจากแพทย์เป็นประจำ

คุณพ่อคุณแม่สามารถปรึกษาวิธีการดูแลลูก ๆ เบื้องต้นได้กับคุณหมอที่แอป BeDee ทุกวัน

ADHD โรคสมาธิสั้น ดูแลได้ ต้องปรึกษาแพทย์

ADHD คือโรคสมาธิสั้นที่มีลักษณะการขาดสมาธิ หุนหันพลันแล่น และมีความกระตือรือร้นมากเกินไป การดูแลและจัดการอาการสมาธิสั้นควรได้รับการปรึกษาจากแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม

 

ปรึกษาหมอออนไลน์ พยาบาล หรือปรึกษาเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เป็นส่วนตัวสูง พร้อมจัดส่งสินค้าถึงมือ เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS

 

ธนวินท์ มีลาภอุดมชัย
นักจิตวิทยาคลินิก

 

เรียบเรียงโดย

กรวรรณ ใจซื่อกุล

Adult attention-deficit/hyperactivity disorder (ADHD) – Symptoms and causes – Mayo Clinic. (2023, January 25). Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/adult-adhd/symptoms-causes/syc-20350878

 

Website, N. (2023a, March 13). Symptoms. nhs.uk. https://www.nhs.uk/conditions/attention-deficit-hyperactivity-disorder-adhd/symptoms/

 

What is ADHD? (n.d.). https://www.psychiatry.org/patients-families/adhd/what-is-adhd

บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคไบโพลาร์กับโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่พบได้มากขึ้นเรื่อย ๆ และได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปัจจุบัน บางคนที่เราเห็นยิ้มแย้ม อารมณ์ดี แต่ก็อาจจะป่วยด้วยกลุ่มโรคทางจิตเวช ที่เรียกว่า Smiling depression ได้เช่นกัน    ด้วยสังคมปัจจุบันที่มีความเครียดสูง ปัจจ

หมดแพชชั่น ภาวะที่รู้สึกหมดความชื่นชอบ หมดความสนใจ ความตื่นเต้น หลงใหล รู้สึกเบื่อหน่าย หมดแรงที่จะทำในสิ่งที่เราเคยชื่นชอบ เคยทำแล้วมีความสุข หมดแพชชั่นอันตรายไม่แพ้โรคทางจิตเวชอื่น ๆ จนอาจทำให้เมื่อรู้ตัวอีกทีอาจกลายเป็นภาวะ Burnout Syndromeหรือโรค