ยาลดความดันโลหิต

Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง

“โรคความดันโลหิตสูง” เป็นสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรทั่วโลก องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) รายงานว่ามีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงอยู่ถึงหนึ่งพันล้านคนทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนเนื่องจากความดันเลือดสูง เช่น โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น การตรวจร่างกาย ทานยาลดความดันอย่างถูกต้อง ปรับแนวทางการดำเนินชีวิตทั้งการรับประทานอาหาร ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และรักษาค่าความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ตามคำแนะนำของแพทย์ ล้วนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเพื่อป้องกันโรคความดันโลหิตสูงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

สารบัญบทความ

โรคความดันโลหิตสูง คืออะไร

โรคความดันโลหิตสูง คือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูงนั้นจะอ้างอิงจากค่าความดันโลหิตที่วัดได้จากสถานพยาบาลเป็นหลัก เมื่อมีค่าความดันโลหิตมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง โดยผู้ป่วยที่มีค่าความดันโลหิตสูงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะไตเสื่อม มากกว่าผู้ที่มีค่าความดันโลหิตปกติ

ยาลดความดัน คืออะไร

ยาลดความดันโลหิต คือยาที่ใช้เพื่อลดความดันโลหิตในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยาลดความดันโลหิตยังช่วยลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว และช่วยป้องกันการทำงานของไตไม่ให้เสื่อมได้อีกด้วย

ประเภทยาลดความดัน

ยาลดความดันมีกี่ประเภท

ยาลดความดันโลหิต สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่ม Angiotensin Converting Enzyme Inhibitors (ACEIs), Angiotensin Receptor Blockers (ARBs), Beta-Blockers, Calcium-Channel Blockers (CCBs) และยาขับปัสสาวะ ซึ่งผู้ใช้ยาลดความดันควรรู้จักชนิดของยาที่รับประทานและอาการข้างเคียงของยาที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในขณะใช้ยา และสามารถแจ้งข้อมูลกับแพทย์ได้อย่างถูกต้องหากเกิดปัญหาหรือข้อสงสัยระหว่างการใช้ยา

1. ยายับยั้งการสร้างแองจิโทเทนซิน (Angiotensin Converting Enzyme Inhibitors; ACEIs)

สารแองจิโอเทนซิน ทู (Angiotensin II) เป็นสารที่ช่วยเพิ่มความดันโลหิต ทำให้เลือดไหลเวียนในหลอดเลือดได้อย่างปกติ ในทางตรงกันข้าม สารนี้จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ดังนั้นจึงมีการคิดค้นยาที่ยับยั้งการสร้างสารแองจิโอเทนซิน ทู เพื่อช่วยควบคุมให้ความดันโลหิตอยู่ในช่วงที่เหมาะสม

ยากลุ่ม ACEIs มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ใช้สร้างสารแองจิโอเทนซิน ทู (Angiotensin Converting Enzymes) ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว ลดการคั่งของเกลือโซเดียมและน้ำในร่างกาย และลดการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยรวมจึงทำให้ความดันโลหิตลดลงได้

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น Perindropril (เพอรินโดพริล)

2. ยายับยั้งตัวรับแองจิโทเทนซิน (Angiotensin Receptor Blockers; ARBs) 

ยากลุ่ม ARBs เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ใช้ในการลดความดันโลหิต เนื่องจากยาสามารถการยับยั้งการทำงานของสารแองจิโอเทนซิน ทู ผ่านทางการยับยั้งที่ตัวรับ ทำให้สารนี้ไม่สามารถออกฤทธิ์เพิ่มความดันโลหิตได้ ข้อดีอย่างหนึ่งของยากลุ่ม ARBs คือ มีอาการไอจากการใช้ยาน้อยกว่ายากลุ่ม ACEIs

3. ยาปิดกั้นตัวรับเบต้า (ฺBetablockers) 

ยาลดความดันโลหิตกลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้า จะออกฤทธิ์โดยการปิดกั้นระบบประสาทอัตโนมัติที่หัวใจและหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตและชีพจรลดลง

4. ยาปิดกั้นแคลเซียมเข้าสู่เซลล์ (Calcium Channel Blockers; CCBs)

ยากลุ่ม CCBs จะออกฤทธิ์ลดความดันโลหิต โดยการปิดกั้นไม่ให้แคลเซียมเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อที่ระบบหัวใจและหลอดเลือด ส่งผลให้กล้ามเนื้อรอบหลอดเลือดคลายตัวและหลอดเลือดขยายตัวในที่สุด 

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น Lercanidipine (เลอคานิดิพีน)

5. ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) 

ยาขับปัสสาวะจะเพิ่มการขับเกลือและน้ำออกจากร่างกาย ทำให้ปริมาตรเลือดและความดันโลหิตภายในหลอดเลือดลดลง ยาขับปัสสาวะจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย ตามตำแหน่งการออกฤทธิ์ที่ไต ดังนี้

5.1. ยากลุ่ม Loop diuretics ออกฤทธิ์ที่บริเวณท่อไตส่วนต้น เป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงในการขับปัสสาวะ

5.2. ยากลุ่ม Thiazides ออกฤทธิ์ที่บริเวณท่อไตส่วนปลาย เป็นยาที่มีประสิทธิภาพรองลงมาในการขับปัสสาวะ เช่น HCTZ  (ไฮโดรคลอโรไทอาไซด์)

เนื่องจากยาในกลุ่มที่ 5.1 และ 5.2 จะมีผลเพิ่มการขับโพแตสเซียมออกจากร่างกายด้วย ผู้ใช้ยาจึงอาจมีระดับโพแตสเซียมในเลือดต่ำได้

5.3. ยาขับปัสสาวะที่ไม่ทำระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ เนื่องจากยามีผลช่วยกักเก็บโพแทสเซียมไว้ในร่างกาย

ผลข้างเคียงยาลดความดัน

ผลข้างเคียงของยาลดความดันโลหิตที่พบได้บ่อยของยาแต่ละกลุ่มมีดังนี้

กลุ่มยาลดความดัน
ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย
ยายับยั้งการสร้างแองจิโทเทนซิน (Angiotensin Converting Enzyme Inhibitors; ACEIs)
- ไอแห้ง เวียนหัว ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ไม่จำเป็นต้องหยุดยาทันที 
- คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร
- ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ วิงเวียน วูบ ชา
ยายับยั้งตัวรับแองจิโทเทนซิน (Angiotensin Receptor Blockers; ARBs)
- เวียนศีรษะ (เกิดได้น้อยกว่ายากลุ่ม ACEI) 
- ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ วิงเวียน วูบ ชา
ยาปิดกั้นตัวรับเบต้า (ฺBetablockers)
- ความดันในเลือดต่ำ หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ มึนงง อ่อนเพลีย (ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกของการรับประทานยา ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกอ่อนเพลีย แต่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น)
- หายใจลำบาก ควรระวังการใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยโรคหอบหืด
ยาปิดกั้นแคลเซียมเข้าสู่เซลล์ (Calcium Channel Blockers; CCBs)
- ปวดหัว ใจสั่น คลื่นไส้ ปวดท้อง อ่อนเพลีย 
- มือบวม ขาบวม ข้อเท้าบวม แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร โดยไม่จำเป็นต้องหยุดยาทันที
ยาขับปัสสาวะ (Diuretic)
- ปวดหัว คลื่นไส้ ท้องเสีย 
- อาการของภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ได้แก่ ตะคริว กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปัสสาวะลำบาก

วิธีการใช้ยาลดความดัน

การเลือกใช้ยาลดความดันโลหิตชนิดใดชนิดหนึ่งใน 5 กลุ่มข้างต้นนี้ให้ประสิทธิภาพในการลดความดันโลหิต และลดอัตราการเกิดโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ใกล้เคียงกัน แพทย์จะพิจารณาเลือกใช้ยาลดความดันโลหิตจากโรคร่วมต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยมีอยู่นอกเหนือจากโรคความดันโลหิตสูง และพิจารณาจากข้อห้ามต่าง ๆ ของการใช้ยาแต่ละชนิดด้วย คำแนะนำของการรับประทานยาลดความดันโลหิตมีดังนี้

  1. รับประทานยาลดความดันโลหิตอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์ และพบแพทย์ตามนัดเป็นประจำ
  2. ควรรับประทานยาลดความดันโลหิตในเวลาเดียวกันทุกวันหรือตามที่แพทย์แนะนำ
  3. ไม่ปรับเพิ่ม ลด หรือหยุดยาด้วยตัวเอง
  4. หากลืมรับประทานยาให้รับประทานทันทีที่นึกได้ ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่าในมื้อถัดไป

วิธีดูแลตัวเองเมื่อมีอาการความดันโลหิตสูง

how-to-treat-yourself-when-antihypertensives

การปรับเปลี่ยนการพฤติกรรมในแต่ละวันเป็นพื้นฐานการควบคุมความดันโลหิตในผู้ป่วยทุกรายควบคู่กับการรับประทานยาลดความดันโลหิต โดยมีวิธีการดูแลตัวเองดังนี้

  1. ควบคุมน้ำหนัก ควรลดน้ำหนักให้ดัชนีมวลกายอยู่ระหว่าง 18.5 – 22.9 กก./ม2 เส้นรอบเอวผู้ชายไม่เกิน 36 นิ้ว (90 เซนติเมตร) และผู้หญิงไม่เกิน 32 นิ้ว (80 เซนติเมตร)
  2. ปรับรูปแบบอาหารที่รับประทาน ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นรับประทานเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อปลา และผลไม้รสหวานน้อย
  3. จำกัดปริมาณเกลือและโซเดียมในอาหาร หลีกเลี่ยงการเติมน้ำปลา ซีอิ้ว เต้าเจี้ยว และผงชูรสในอาหาร
  4. ออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน
  5. จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์
  6. เลิกสูบบุหรี่
  7. รับประทานยาลดความดันต่อเนื่องสม่ำเสมอ และพบแพทย์ตามนัด 
  8. วัดความดันโลหิตด้วยตัวเองที่บ้านโดยใช้เครื่องวัดความดันโลหิตแบบอัตโนมัติเพื่อลดความผิดพลาดจากภาวะ White Coat Hypertension หรือภาวะที่ผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงกว่าปกติเมื่อเห็นบุคลากรสาธารณสุขที่ใส่เสื้อกาวน์สีขาว
 
ปรึกษาวิธีดูแลตัวเองเมื่อมีภาวะความดันโลหิตสูงกับพยาบาล ไม่มีค่าใช้จ่าย