ยาแก้แพ้คืออะไร

Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง

จู่ๆ ก็จามอย่างหนัก มีน้ำมูกไหล คันตา คันจมูก จนหน้าบวมไปหมด บางทีก็มีผื่นคันขึ้นที่ร่างกายแบบไม่ทราบสาเหตุ นี่อาจเป็นอาการแพ้ที่ร่างกายของเราอยากให้รับรู้ ซึ่งโดยทั่วไป สิ่งกระตุ้นที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการแพ้มีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ สารเคมี สภาพอากาศ ขนสัตว์ หรืออาหารที่แพ้ เป็นต้น

 

แม้เราจะพยายามหลีกเลี่ยง แต่บางครั้งก็ไม่สามารถทำได้เสมอไป “ยาแก้แพ้” จึงเป็นตัวยาสำคัญที่จะช่วยบรรเทาอาการแพ้ต่างๆ ให้ดีขึ้นจนกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

 

ยาแก้แพ้ช่วยอะไรบ้าง ต่างจากยาลดน้ำมูกไหม เลือกใช้ยาแก้แพ้แต่ละชนิดให้เหมาะกับอาการยังไง เรามาเจาะลึกข้อมูลเกี่ยวกับยาแก้แพ้และคำถามที่พบบ่อยไปพร้อมๆ กัน

สารบัญบทความ

ทำความรู้จักกับยาแก้แพ้

ยาแก้แพ้ (Antihistamine) หรือที่อาจรู้จักในชื่อ ยาแก้ภูมิแพ้อากาศ หรือ ยาแก้แพ้ลดน้ำมูก คือ ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งสารฮิสตามีน (Histamine) ที่หลั่งออกมามากกว่าปกติ ในเวลาที่ร่างกายได้รับสารกระตุ้นที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เมื่อฤทธิ์ยาเข้าไปทำให้การทำงานของสารฮิสตามีนลดลง ก็จะส่งผลให้อาการแพ้ต่างๆ เช่น ผื่นคัน เยื่อตาอักเสบ น้ำมูกไหล ลมพิษ ลดลงจนกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

โดยทั่วไป ยาแก้แพ้มี 2 แบบหลักๆ ได้แก่ ยาแก้แพ้แบบง่วง และยาแก้แพ้แบบไม่ง่วง ซึ่งสามารถพบเห็นได้หลายรูปแบบ ขึ้นกับความเหมาะสมในการใช้ยา ดังนี้

1. ยาแก้แพ้แบบเม็ด

ยาแก้แพ้แบบเม็ด เป็นประเภทยอดนิยมที่มีคนรู้จักมากที่สุด เหมาะสำหรับเด็กโตที่สามารถทานยาเม็ดได้แล้วและผู้ใหญ่ ยาแก้แพ้แบบเม็ดทานง่าย และหาซื้อได้ทั่วไป ได้แก่

  • ยาแก้แพ้แบบง่วง 

ยาแก้แพ้แบบง่วง เป็นยาแก้แพ้แบบดั้งเดิม สามารถผ่านเข้าสู่สมองได้และมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง จึงทำให้เกิดอาการง่วงซึมหลังทานยา ซึ่งเรามักคุ้นเคยกันในลักษณะของยาแก้แพ้เม็ดสีเหลืองหรือสีฟ้า โดยยาแก้แพ้ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ เช่น ยาคลอเฟนิรามีน, คาร์ ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine), ไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate), บรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine), และไฮดรอกไซซีนเป็นต้น

  • ยาแก้แพ้แบบไม่ง่วง

ยาแก้แพ้แบบไม่ง่วง เป็นยาแก้แพ้แบบใหม่ ที่ผ่านเข้าสู่สมองค่อนข้างน้อย ทำให้ไม่ง่วงซึม หรือง่วงน้อยกว่าแบบดั้งเดิม อีกทั้งผลข้างเคียงก็น้อยกว่าด้วย ยาแก้แพ้ในกลุ่มนี้มีลักษณะเป็นยาแก้แพ้เม็ดสีขาว โดยยาแก้แพ้ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ เช่น บิลาสทีน (Bilastine), เซทิริซีน, เดสลอราทาดีน (Desloratadine), ลอราทาดีน (Loratadine), เฟโซเฟนาดีน (Fexofenadine) และเลโวเซทิริซีนเป็นต้น

2. ยาแก้แพ้แบบน้ำ

ยาแก้แพ้แบบน้ำ มีทั้งแบบง่วงและแบบไม่ง่วงเช่นเดียวกับยาแก้แพ้แบบเม็ด เป็นยาที่เหมาะสำหรับเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป เด็กโตที่ยังไม่สามารถทานยาเม็ดได้ หรือผู้ใหญ่ที่มีปัญหาในการกลืนยาเม็ด โดยตัวยาได้ถูกออกแบบให้มีลักษณะคล้ายน้ำเชื่อม มีความหวาน ทานได้ง่าย ซึ่งวิธีการทานยาควรใช้ในปริมาณตามที่กำหนดไว้ในฉลากเท่านั้น

3. ยาแก้แพ้แบบฉีด

ยาแก้แพ้แบบฉีด มักใช้ในสถานพยาบาล เหมาะสำหรับกรณีฉุกเฉิน หรืออาการแพ้ระดับรุนแรง เช่น หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก เยื่อบุตาบวม หรือมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นหลายอาการ เป็นต้น โดยมักใช้ร่วมกับยาอื่นๆ

 

ปรึกษาการใช้ยาแก้แพ้กับเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวันถึงเที่ยงคืน ไม่มีค่าปรึกษา

สรรพคุณของยาแก้แพ้ 

ยาแก้แพ้เม็ดสีขาว สีเหลือง หรือสีฟ้า หรือยาแก้แพ้ประเภทอื่น ๆ มักมีสรรพคุณโดยรวมที่คล้ายกัน ดังนี้

  1. ใช้เป็นยาแก้แพ้อากาศหรือยาแก้ภูมิแพ้ เพื่อลดอาการคัดจมูก จาม น้ำมูกไหล เยื่อจมูกอักเสบ
  2. บรรเทาอาการคัน ระคายเคือง มีตุ่มแดง ผื่นแดง ผื่นแพ้อากาศ ลมพิษ
  3. ยาแก้แพ้บางชนิดช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว ที่เกิดจากการเมารถ เมาเรือได้
  4. บรรเทาความรุนแรงของอาการแพ้ต่างๆ เช่น แพ้ยา แพ้อาหาร พิษจากสัตว์ แมลงต่างๆ

รับประทานยาแก้แพ้ให้ถูกวิธี ทำอย่างไร?

กินยาแก้แพ้ทุกวันได้ไหม

การกินยาแก้แพ้ให้ถูกวิธี เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้ยาออกฤทธิ์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามหลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ยาแก้แพ้กินตอนไหน กินยังไง? BeDee มีคำแนะนำในการกินยาแก้แพ้มาฝากกัน ดังนี้

  • ยาแก้แพ้ควรกินเฉพาะเวลาที่มีอาการแล้วเท่านั้น ไม่ควรใช้ยาเพื่อป้องกันหรือเชื่อว่ากินดักไว้ก่อน
  • ยาแก้แพ้มีทั้งแบบชนิดเม็ดและน้ำ ซึ่งแต่ละคนอาจต้องกินในปริมาณที่แตกต่างกัน ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเท่านั้น
  • ไม่ควรใช้ยาแก้แพ้ร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์
  • โดยทั่วไปควรทานยาแก้แพ้วันละ 1 ครั้ง หรือทุกๆ 4-6 ชั่วโมง ขึ้นกับชนิดของยาแก้แพ้

ผลข้างเคียงของยาแก้แพ้มีอะไรบ้าง?

ผลข้างเคียงของยาแก้แพ้ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ มีดังนี้

  • ง่วงซึม มึนงง
  • กรณีทานยาแก้แพ้แบบดั้งเดิม อาจทำให้ตาแห้ง ตาพร่ามัว เยื่อบุจมูกแห้ง ปากแห้ง กระหายน้ำ ความดันโลหิตต่ำ ปัสสาวะคั่ง มีความยากลำบากในการปัสสาวะ
  • ในเด็กเล็ก อาจทำให้เกิดอาการกระสับกระส่าย กระวนกระวาย ไม่อยู่นิ่ง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องผูก
  • ผลข้างเคียงรุนแรงที่มีโอกาสเกิดน้อย เช่น ลมพิษ ผื่น หายใจลำบาก หรือใบหน้า ปาก ลำคอบวม

ข้อควรรู้เกี่ยวกับยาแก้แพ้

ใครควรใช้ยาแก้แพ้

“ยาแก้แพ้” อาจไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน ในบางกรณีก็มีโอกาสที่จะเกิดอันตรายได้ หากใช้ไม่ระมัดระวังเพียงพอ ซึ่งผู้ที่ควรใช้ยาแก้แพ้กับผู้ที่ไม่ควรใช้ยาแก้แพ้ ได้แก่…

1. ผู้ที่ควรใช้ยาแก้แพ้

บุคคลทั่วไปที่มีอาการภูมิแพ้ คัดจมูก น้ำมูกไหล แพ้อาหาร แพ้แมลง มีตุ่มแดง หรือผื่นคัน

2. ผู้ที่ไม่ควรใช้ยาแก้แพ้

ผู้ที่ไม่ควรใช้ยาแก้แพ้ หรือกลุ่มเสี่ยงที่ควรเข้าปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้ยา มีดังนี้

  • คนที่ต้องทำงานเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องจักรหรือการขับขี่รถยนต์
  • ผู้ที่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เพราะมีโอกาสที่ยาจะส่งผลให้ทารกเกิดความผิดปกติขึ้น
  • คนที่มียาประจำตัวที่ต้องทานเป็นประจำ หากต้องทานยาร่วมกับยาแก้แพ้ ควรแจ้งแพทย์
  • ยาที่ไม่ควรใช้ร่วมกับยาแก้แพ้ ได้แก่ ยาต้านเศร้า หรือยาที่มีส่วนผสมของยาแก้แพ้ตัวอื่น
  • เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี เนื่องจากอาจเกิดอาการกระสับกระส่าย กระวนกระวาย ก่อนใช้ยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
  • ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต โรคหอบหืด มีภาวะความดันโลหิตสูง ต้อหิน หรือเคยมีภาวะคลื่นหัวใจผิดปกติ
  • ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์

ปรึกษาการใช้ยาแก้แพ้กับเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวันถึงเที่ยงคืน ไม่มีค่าปรึกษา

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับยาแก้แพ้

ยาแก้แพ้ควรทานตอนไหน

1. ยาแก้แพ้ใช้ต่อเนื่องนานๆ จะเป็นอันตรายไหม?

ยาแก้แพ้ส่วนใหญ่สามารถใช้ต่อเนื่องได้ เนื่องจากการรักษาอาการแพ้เรื้อรังบางชนิด อาจมีความจำเป็นต้องทานยาแก้แพ้เป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าการทานยาแก้แพ้บางชนิดทุกวัน หรือใช้ต่อเนื่องนานๆ อาจส่งผลต่อความจำได้

2. ห้ามรับประทานยาแก้แพ้กับอะไร?

ควรหลีกเลี่ยงการทานยาแก้แพ้ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยานอนหลับ หรือยาประเภทกล่อมประสาท เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงคือ อาการง่วงซึม การทานร่วมกันอาจทำให้อาการง่วงซึมเพิ่มขึ้นได้

3. ยาแก้แพ้ควรรับประทานก่อน หรือหลังอาหาร?

ยาแก้แพ้ส่วนใหญ่สามารถรับประทานเวลาใดก็ได้เมื่อมีอาการแพ้ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงมื้ออาหาร อย่างไรก็ตาม อาจเลือกรับประทานยาแก้แพ้แบบง่วงในช่วงก่อนนอน เพื่อหลีกเลี่ยงอาการง่วงซึมในระหว่างวัน

4. ลืมรับประทานยาแก้แพ้ ต้องทำยังไง?

หากลืมทานยาแก้แพ้ คุณสามารถทานยาแก้แพ้ให้เร็วที่สุดทันทีที่คุณนึกได้ หรือสามารถรอทานยาในครั้งถัดไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่าเพื่อชดเชย

สรุปข้อควรรู้เกี่ยวกับยาแก้แพ้ 

ยาแก้แพ้เป็นยาที่ควรใช้เฉพาะเวลาที่มีอาการเท่านั้น ซึ่งมีทั้งยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม และยารุ่นใหม่ที่ไม่ทำให้ง่วงซึม ทั้งแบบชนิดเม็ด ยาน้ำ และแบบฉีด แต่ละคนอาจเหมาะกับยาต่างชนิดกัน ขึ้นอยู่กับอายุ โรคประจำตัว หรือภาวะการตั้งครรภ์ ให้นมบุตร จึงควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้ยาเพื่อความปลอดภัย

 

ปรึกษาหมอออนไลน์หรือปรึกษาเภสัชกร ที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เรามีแพทย์และเภสัชกรพร้อมให้คำปรึกษา เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS

 

 

Content powered by BeDee Expert

ภก.วิรุฬห์ ก้องศิริวงศ์

เภสัชกร

References

ANTIHISTAMINES. (n.d.). the American Osteopathic College of Dermatology. https://www.aocd.org/page/Antihistamines

 

Eske, J. (2023, February 16). What are antihistamines?. MedicalNewsToday. https://www.medicalnewstoday.com/articles/antihistamines

 

Pope, C. (2023, April 17). Antihistamines. Drugs.com. https://www.drugs.com/drug-class/antihistamines.html

 

Watson, S. (2023, January 17). Do I Need Antihistamines for Allergies?. WebMD. https://www.webmd.com/allergies/antihistamines-for-allergies

 

Antihistamines. (2023, May 16). NHS. https://www.nhs.uk/conditions/antihistamines/

บทความที่เกี่ยวข้อง

Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง “ยาเบาหวาน” หรือยารักษาโรคเบาหวาน คือ ยาที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อให้ผู้ที่เป็นโรคเบาหว

การใช้ยาโรคหัวใจเป็นวิธีหนึ่งในการรักษาโรคหัวใจ แต่โรคหัวใจมีหลายชนิด การใช้ยาก็อาจแตกต่างกันตามอาการที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ยาโรคหัวใจได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ความรู้เกี่ยวกับยาโรคหัวใจจึงมีความสำคัญ ในบทความนี้ทาง BeDee เราขอแนะนำยาโรค