ผื่นแพ้อากาศ

เมื่อพูดถึง “ภูมิแพ้อากาศ” หลายคนอาจจะนึกถึงอาการจาม คัดจมูก แต่จริง ๆ แล้วภูมิแพ้อากาศยังส่งผลให้เกิด “ผื่นแพ้อากาศ” ได้ด้วย ซึ่งผื่นแพ้อากาศนี้สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตต่อผู้ป่วยได้อย่างมาก ไม่แพ้อาการภูมิแพ้อากาศเลยทีเดียวเนื่องจากมีปัจจัยภายนอกเป็นตัวกระตุ้น เรามาทำความรู้จักผื่นแพ้อากาศกันเลย

สารบัญบทความ

ผื่นแพ้อากาศ คือ

“ผื่นแพ้อากาศ” คือ อาการผื่นแพ้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากภูมิแพ้อากาศ โดยอาการภูมิแพ้อาจเกิดขึ้นตามฤดูกาลหรือเกิดจากการได้รับสิ่งกระตุ้นภายนอก เช่น เกสรดอกไม้ ฝุ่น ขนสัตว์ เชื้อรา อากาศร้อนจัดหรือเย็นจัด เป็นต้น หรือผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายก็อาจได้รับการกระตุ้นจากปัจจัยเหล่านี้ได้ง่ายเช่นกัน เมื่อเกิดอาการภูมิแพ้อากาศแล้วจึงทำให้เกิดผื่นแพ้อากาศตามมาด้วย บริเวณที่มักพบผื่นแพ้อากาศคือ ใบหน้า ลำตัว ข้อพับ แขน ขา สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย

สาเหตุของผื่นแพ้อากาศ

ผื่นแพ้อากาศเกิดจากอะไร

ผื่นแพ้อากาศเกิดจากสาเหตุหลายปัจจัย ตัวอย่างสิ่งกระตุ้นจากภายนอกที่ทำให้เกิดผื่นแพ้อากาศมีดังนี้ 

 

 

  1. ผื่นแพ้อากาศที่เกิดจากสภาพอากาศ 
  • อากาศร้อนจัด 
  • อากาศหนาวจัด 
  • อากาศชื้น 
  • มลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่น PM 2.5
  1. ผื่นแพ้อากาศที่เกิดจากสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ เช่น
  • เกสรดอกไม้ 
  • ขนสัตว์ 
  • ไรฝุ่น 
  • เชื้อรา
  • แมลงต่าง ๆ 
  • สบู่ ผงซักฟอก สารเคมีต่าง ๆ
 
ปรึกษาผื่นแพ้อากาศกับแพทย์ผิวหนังที่แอป BeDee สะดวก ไม่ต้องเดินทาง

ผื่นแพ้อากาศเกี่ยวข้องกับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังไหม

ผื่นแพ้อากาศ เป็นอาการหนึ่งของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) ซึ่งสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนังจะมีผิวหนังที่ไวต่อสิ่งกระตุ้นและบอบบางกว่าคนทั่วไป เช่น เมื่อสัมผัสกับฝุ่น สารเคมี หรืออากาศที่เย็นหรือร้อนจัดก็จะเกิดปฏิกิริยา เช่น ผื่น แดง คัน บริเวณตามลำตัว แขน ขา หรือใบหน้าได้ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ผิวหนังหรือผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายมักมีโอกาสเกิดผื่นแพ้อากาศได้มากกว่าคนปกติทั่วไป

ประเภทของผื่นแพ้อากาศ

1. ผื่นแพ้อากาศร้อน

ผื่นแพ้อากาศร้อนเป็นลักษณะผื่นคันชนิดหนึ่งที่มักเกิดในช่วงฤดูร้อนหรือช่วงที่มีอากาศร้อนจัด ลักษณะอาการคือจะมีผื่นแดงคันปรากฎขึ้นเป็นบริเวณกว้าง มักพบบริเวณข้อพับที่มีการเสียดสีหรือซอกต่าง ๆ เช่น ต้นขาด้านใน รักแร้ หัวเข่า ซอกคอ เป็นต้น บางรายอาจพบอาการลมพิษได้ด้วยเช่นกัน

2. ผื่นแพ้อากาศเย็น

ผื่นแพ้อากาศหนาวเย็น คือผื่นที่มีสาเหตุเกิดจากสภาพอากาศที่เย็นลง ส่งผลให้ผิวหนังสูญเสียความชุ่มชื้น จนทำให้เกิดอาการแห้ง คัน เป็นผื่นขุยตามมา มักพบผื่นแพ้อากาศเย็นบริเวณแขน ขา และมือ

3. ผื่นแพ้ฝน

ผื่นแพ้ฝนมักเกิดในช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่อากาศมีความชื้นสูง มีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ อาการที่มักพบได้ เช่น ผื่นคัน ผิวแห้ง บริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา ต้นคอ ซอกคอ จุดอับชื้นต่าง ๆ หรือใบหน้า เมื่อเกาผื่นแพ้มักลุกลามและอาจกลายเป็นแผลจนติดเชื้อได้

อาการผื่นแพ้อากาศ

อาการผื่นแพ้อากาศมักมาพร้อมอาการภูมิแพ้อากาศ ลักษณะอาการผื่นแพ้อากาศและภูมิแพ้อากาศที่สามารถสังเกตเห็นได้ เช่น

  • จาม 
  • คัดจมูก 
  • น้ำมูกไหล
  • คันจมูก คันปาก คันตา
  • คันตามผิวหนัง
  • ผื่นแดงตามใบหน้า ลำตัว แขน ขา หรือข้อพับ
  • ผื่นแดงมีตุ่มนูน
  • ผื่นแดงแห้ง เป็นขุย
  • เกาแล้วผื่นลุกลามใหญ่ขึ้น
  • ผื่นหนา เป็นรอยคล้ำ
 

รู้จักกับ “ผื่นคัน” แต่ละประเภทและการรักษาผื่นคันอย่างถูกวิธี

อาการผื่นแพ้อากาศแบบไหนที่ควรพบแพทย์ทันที

อย่านิ่งนอนใจผื่นแพ้อากาศ หากมีอาการดังนี้ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน

  • รู้สึกคันมากจนกระทบต่อชีวิตประจำวัน ทำให้นอนไม่หลับ หรือใช้ชีวิตปกติได้อย่างยากลำบาก
  • เป็นผื่นคันนานกว่า 2 สัปดาห์
  • เป็นผื่นคันโดยไม่ทราบสาเหตุ 
  • มีไข้ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด

การวินิจฉัยผื่นแพ้อากาศ

การวินิจฉัยผื่นแพ้อากาศนั้นแพทย์จะซักประวัติและอาการของผู้ป่วยเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดผื่นแพ้อากาศ บางรายแพทย์อาจพิจารณาให้ทำการทดสอบภูมิแพ้ผิวหนัง (Patch Test) โดยการป้ายตัวอย่างสารที่อาจก่อให้เกิดการแพ้ไว้บนแผ่นหลังเพื่อทดสอบว่าสารตัวไหนก่อให้เกิดการแพ้บนผิวหนัง หรืออาจทำการทดสอบการแพ้ด้วยการตรวจเลือด (Blood Test) เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด

การรักษาผื่นแพ้อากาศ

1. ปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง

เนื่องจากอาการผื่นคันมีหลายรูปแบบ ผู้ป่วยควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการวินิจฉัยที่ชัดเจนว่าผื่นแพ้ที่เราเป็นอยู่นั้นคือลักษณะของผื่นแพ้อากาศหรือไม่ เพื่อการรักษาที่ตรงจุด ไม่ควรหาซื้อยามารับประทานหรือทาเองเนื่องจากยากลุ่มสเตียรอยด์ที่มักนำมาใช้เพื่อรักษาอาการผื่นคันนั้นเป็นยาอันตราย ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์

2. ทานยา พ่นยาแก้แพ้

เมื่อแพทย์วินิจฉัยอาการผื่นแพ้อากาศอย่างแน่ชัดแล้วอาจพิจารณาให้การรักษาด้วยการรับประทานยาหรือพ่นยาแก้แพ้ โดยกลุ่มยาแก้แพ้ที่ใช้รักษาอาการผื่นแพ้อากาศนั้นมีหลายกลุ่มด้วยกัน ซึ่งในส่วนของยาแก้แพ้รูปแบบรับประทานนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ยาแก้แพ้กลุ่มที่ทำให้ง่วงซึม และยาแก้แพ้กลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วงซึม

3. ทาครีมที่มีส่วนผสมของ Corticosteroids

คอร์ติโคสเตียรอยส์ (Corticosteroids) ชนิดใช้ภายนอก เป็นตัวยาที่มักนำมาใช้เพื่อการลดอาการอักเสบของผิวหนัง ลดอาการบวม ผื่นแดง ผื่นคัน ผื่นแพ้อากาศ หรืออาการแพ้ทางผิวหนังอื่น ๆ และโรคผิวหนังต่าง ๆ ทั้งนี้การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรอย่างใกล้ชิด ไม่ควรซื้อยามาทาเอง

วิธีดูแลตนเองเมื่อเป็นผื่นแพ้อากาศ

ผื่นแพ้อากาศเกิดจากพฤติกรรมและปัจจัยภายนอก ดูแลตนเองเมื่อต้องเผชิญกับอาการผื่นแพ้อากาศได้ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นเพราะจะทำให้ผิวแห้งกว่าเดิม
  • ใช้สบู่และโลชันสูตรอ่อนโยน ให้ความชุ่มชื้น เหมาะกับผิวแพ้ง่าย ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ สี และน้ำหอม
  • สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกจากบ้านหรือเผชิญกับสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ 
  • หลีกเลี่ยงการเกาบริเวณที่เกิดผื่นคัน เพราะจะทำให้ผื่นลุกลามและอาจกลายเป็นแผลได้
  • ทาครีมบำรุงผิวเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นหลังอาบน้ำ 
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ 
  • ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อรักษาภูมิคุ้มกัน

วิธีป้องกันผื่นแพ้อากาศ

ป้องกันผื่นแพ้อากาศ

ผื่นแพ้อากาศเกิดจากพฤติกรรมและปัจจัยภายนอก สามารถป้องกันการเกิดผื่นแพ้อากาศได้ดังนี้

  • สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกจากบ้านหรือเผชิญกับสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ 
  • รักษาความสะอาดของร่างกาย รวมถึงทำความเสื้อผ้าหรือชุดเครื่องนอนอยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงการเกาบริเวณที่เกิดผื่นคัน เพราะจะทำให้ผื่นลุกลามและอาจกลายเป็นแผลได้
  • ทาครีมบำรุงผิวเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นหลังอาบน้ำ 
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ 
  • ทำความสะอาดห้องนอน สิ่งแวดล้อมไม่ให้มีฝุ่นหรือขนสัตว์อยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นเพราะจะทำให้ผิวแห้งกว่าเดิม
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับผื่นแพ้อากาศ

ผื่นแพ้อากาศใช้เวลารักษานานเท่าไร?

การรักษาผื่นแพ้อากาศ อาจใช้เวลาในการรักษาประมาณ 2-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและการตอบสนองต่อการรักษา โดยที่ผู้ป่วยจะต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอากาศแพ้ เช่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสขนสัตว์ ในกรณีที่ท่านแพ้ขนสัตว์ เป็นต้น นอกจากนี้ การใช้ผลิตภัณฑ์เพิ่มความชุ่มชื้นที่ผิวหนังสามารถช่วยลดอาการระคายเคืองลงได้เช่นกัน

สรุปเรื่องผื่นแพ้อากาศ

ผื่นแพ้อากาศในแต่ละบุคคลนั้นอาจมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยกระตุ้นที่เราแพ้ ระยะเวลาในการรักษาก็แตกต่างกัน ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุการเกิดผื่นคันอย่างตรงจุด เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอาการผื่นแพ้อากาศ 

BeDee มีทีมแพทย์ผิวหนังผู้เชี่ยวชาญและเภสัชกร พร้อมให้คำปรึกษา สะดวก ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS

Content powered by BeDee Expert

ภก.กฤตานน สินทรัพย์ 

เภสัชกร

เรียบเรียงโดย

กรวรรณ ใจซื่อกุล

Eczema types: Atopic dermatitis: Tips for coping. American Academy of Dermatology. (n.d.). https://www.aad.org/public/diseases/eczema/atopic-dermatitis-coping 

Intrinsic eczema: Symptoms, causes, and treatments – healthcentral. (n.d.). https://www.healthcentral.com/condition/eczema/intrinsic-eczema

บทความที่เกี่ยวข้อง

พูดถึงเรื่องสัญญาณที่บ่งบอกถึงวัยคงหนีไม่พ้นเรื่องของ “ริ้วรอย” เรียกได้ว่าริ้วรอยเป็นศัตรูอย่างหนึ่งของทั้งคุณผู้หญิงหรือแม้แต่ผู้ชาย อย่างไรก็ตามด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันทำให้คนเรารับมือและจัดการกับริ้วรอยได้มากขึ้น มีการพัฒนาและคิดค้นส่วนผสมที่จะช่วยล

Key Takeaway   โรคเซ็บเดิร์มมักเกิดบริเวณที่มีการผลิตน้ำมันบนผิวหนังอย่างมาก เช่น เซ็บเดิร์มที่หน้า เซ็บเดิร์มหนังศีรษะ เซ็บเดิร์มที่จมูก ผู้ป่วยเซ็บเดิร์มมักพบผิวลอกเป็นขุย หรือเป็นแผ่นสีขาว บริเวณหัวคิ้ว ข้างจมูก ใบหู รอบปาก หนังศีรษะ มีอาการปวด คั