ยาลดไขมัน

Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง

ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติเป็นสภาวะที่เกิดจากการมีความไม่สมดุลกันของไขมันชนิดต่าง ๆ ภายในกระแสเลือด ได้แก่ การมีปริมาณมีคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ หรือ ไขมันชนิดไม่ดี (LDL) ในกระแสเลือดสูงเกินไป และการมีไขมันชนิดดี (HDL) ที่ต่ำเกินไป สภาวะดังกล่าวสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการรับประทานอาหารจำพวกของมัน ของทอดบ่อยครั้ง อาหารที่มีน้ำตาลสูง การดื่มแอลกอร์ฮอล์ การสูบบุหรี่ เป็นต้น มาทำความรู้จักยาลดไขมันในเลือดแต่ละชนิด ข้อควรระวังในการรับประทานยา และผลข้างเคียงของยาลดไขมันในเลือด รวมถึงวิธีการดูแลตนเองควบคู่กับการใช้ยาลดไขมันในเลือด

สารบัญบทความ

ยาลดไขมัน คือ

ยาลดไขมันในเลือด คือ ยาที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะระดับไขมันในเลือดผิดปกติ หรือ ภาวะ Dyslipidemia ซึ่งเกิดจากความไม่สมดุลของไขมันชนิดต่าง ๆ ภายในกระแสเลือด ไม่ว่าจะเป็นคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ ไขมันชนิดไม่ดี (LDL) และไขมันชนิดดี (HDL) ซึ่งการมีสภาวะระดับไขมันในเลือดผิดปกติที่ไม่สามารถควบคุมได้ และไม่ได้รับการรักษา สามารถนำไปสู่โรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือดที่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น ภาวะไขมันอุดตันในเส้นเลือด หรือโรคหลอดเลือดสมอง ดังนั้นการใช้ยาลดไขมันในเลือดจะช่วยรักษาสภาวะระดับไขมันในเลือดที่ผิดปกติและช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

อาการแบบใดควรใช้ยาลดไขมัน

 

จากแนวทางการรักษาโรคไขมันในเลือดผิดปกติโดย ESC/EAS Guidelines ปี 2019 แนะนำว่าผู้ป่วยที่มีระดับ LDL หรือไขมันไม่ดีตั้งแต่ 190 mg/dL ขึ้นไปและไม่สามารถควบคุมระดับไขมันในเลือดได้ด้วยการปรับพฤติกรรม ควรได้รับยาลดไขมัน นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่มี LDL ในเลือดสูงเกิน 190 mg/dL หรือผู้ป่วยที่แพทย์พิจารณาแล้วว่ามีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจสูง แพทย์จะพิจารณาเริ่มให้ยาลดไขมันในเลือดให้แก่ผู้ป่วย

 

ประเภทของยาลดไขมัน

ยาลดไขมันมีกี่แบบ

ยาลดไขมันในเลือดสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มตามกลไกการออกฤทธิ์ของยา ได้แก่

1. ยากลุ่มสแตติน (Statins)

ยากลุ่มสแตตินหรือที่รู้จักกันในนาม “ยาลดคอเลสเตอรอล” จะไปยับยั้งเอนไซม์ที่ช่วยในการสังเคราะห์คอเรสเตอรอลในร่างกาย เมื่อคอเลสเตอรอลลดลงจะส่งผลให้ระดับไขมันที่ไม่ดีกับร่างกาย (LDL) และระดับไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดลดลงตามไปด้วย ตัวอย่างยาที่อยู่ในกลุ่มสแตติน ได้แก่ 

  • ยาซิมวาสแตติน เช่น Bestatin ®, Zimmex ®, Zimva ®,
  • ยาโรซูวาสแตติน เช่น Crestatin ®, Otagil ®, Rovas ®, Vivacor ®,
  • ยาอะทอร์วาสแตติน เช่น Xarator ®, Chlovas ®, Atorsan ®, Atorvin ®
  • ยาพิทาวาสแตติน เช่น Pitasor ®
  • ยาพราวาสแตติน เช่น Mevalotin ®
  • ยาฟลูวาสแตติน เช่น Lescol XL ®

3. ยากลุ่มเรซิน (Resins)

ยากลุ่มเรซิน หรือ ไบล์แอซิดซีเควสแตรนต์ (Bile acid sequestrants) ออกฤทธิ์ลดไขมันโดยการจับกับน้ำดีในทางเดินอาหาร ป้องกันการดูดซึมกลับของน้ำดีเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลกระตุ้นให้ตับดึงคอเลสเตอรอลเข้าสู่เซลล์ตับมากขึ้น ระดับคอเลสเตอรอลและ LDL ในกระเเสเลือดจึงลดลงได้ ตัวอย่างยาในกลุ่มเรซิน ได้แก่ 

  • ยาคอเลสไทรามีน
  • ยาคอเลสติพอล

4. ยากลุ่มอิเซททิไมบ์ (Ezetimibe)

ยาอิเซททิไมบ์ ออกฤทธิ์ลดระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี (LDL) ในเลือด โดยยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอลที่ลำไส้ ยาลดไขมันนี้มักจะใช้ร่วมกับยาในกลุ่มสแตติน ตัวอย่างยาที่มีส่วนประกอบของยาอิเซททิไมบ์ เช่น Ezetrol ®, Ezentia ®, Mibeaz ®, Co-Ezetimibe TEVA ®, Atozet ®, Vytirin ®

5. ยากลุ่มไนอะซิน (Niacin)

ยาลุ่มไนอะซิน หรือ กรดไนอะซิน เป็นอนุพันธุ์ของวิตามินบี 3 ในขนาดสูง ออกฤทธิ์ลดไขมันโดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ตับและเนื้อเยื่อไขมัน มีผลช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี (LDL) และเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลที่ดี (HDL) ในเลือด ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น Niaspan ®

คำแนะนำการใช้ยาลดไขมัน

  • การใช้ยาลดไขมัน ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งและปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยาของเภสัชกร เพื่อให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพสูงสุดและปลอดภัยต่อตนเอง 
  • หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัว ยาประจำตัว และประวัติแพ้ยา ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบเพื่อป้องกันการทำปฎิกิริยาระหว่างยาแต่ละชนิดที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้ 
  • ไม่ควรแบ่งยาให้ผู้อื่น หรือรับยาลดไขมันของผู้อื่นมารับประทาน เนื่องจากสภาวะของผู้ป่วยแต่ละรายเหมาะสมกับขนาดและตัวยาที่แตกต่างกัน 
  • กรณีลืมรับประทานยาลดไขมัน ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าหากใกล้กับการรับประทานยาครั้งต่อไป ให้ผู้ป่วยรับประทานยาครั้งถัดไปโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า 
  • หากผู้ป่วยใช้ยาแล้วเกิดผื่นตามร่างกาย หายใจลำบาก ปากบวม คอบวม ตาบวม และริมฝีปากบวมซึ่งเป็นอาการแสดงของการแพ้ยา ผู้ป่วยควรหยุดยาและพบแพทย์โดยทันที 
  • หากผู้ป่วยรับประทานยาลดไขมันแล้วมีอาการปวดกล้ามเนื้อร่วมกับปัสสาวะสีเข้มเหมือนน้ำล้างเนื้อ ควรหยุดยาและพบแพทย์โดยทันที

วิธีดูแลตัวเองควบคู่กับการใช้ยาลดไขมัน

ดูแลตัวเองคู่กับการใช้ยาลดไขมัน

วิธีการดูแลตัวเองควบคู่กับการใช้ยาลดไขมันในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระดับไขมันในเลือดเพื่อป้องกันการเกิดโรคทางหัวใจและหลอดเลือด สามารถทำได้ดังนี้ 

  1. ไม่ควรสูบบุหรี่ในทุกรูปแบบ ทั้งบุหรี่แบบปกติ บุหรี่ไฟฟ้า และรูปแบบอื่น ๆ 
  2. รับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวต่ำ เช่น น้ำมันพืช ปลา อะโวคาโด
  3. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัวสูง ได้แก่ น้ำมันจากสัตว์ เช่น น้ำมันหมู หนังและส่วนติดไขมันสัตว์ เนื้อสัตว์แปรรูป น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กะทิ เนย นม และผลิตภัณฑ์จากนมแบบชนิดไขมันเต็มส่วน 
  4. เน้นการรับประทานอาหารจำพวกธัญพืช ผัก ผลไม้ ปลา และข้าวไม่ขัดสีมากขึ้น 
  5. ออกกำลังกาย 30 – 60 นาทีต่อครั้ง อย่างน้อย 5 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือ 3.5 – 7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 
  6. ควบคุมน้ำหนักให้ค่า BMI อยู่ระหว่าง 20-25 กก/ตร.ม. และเส้นรอบเอวไม่เกิน 90 ซ.ม. ในผู้ชาย และ ไม่เกิน 80 ซ.ม. ในผู้หญิง

คำถามพบบ่อย

1.ไม่ควรรับประทานยาลดไขมันคู่กับยาหรืออาหารอะไรบ้าง?

ยาที่ไม่ควรรับประทานคู่กับยาลดไขมัน คือ

– ยาต้านไวรัส HIV

– ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางชนิด

– ยาต้านเชื้อราบางชนิด

อาหารที่ไม่ควรรับประทานคู่กับยาลดไขมันในเลือด คือ

– เซนต์จอห์นเวิร์ต เกรปฟรุ๊ต แปะก๊วย พริกไทยดํา ทับทิม และ ส้มโอ

ยาและอาหารที่กล่าวมาข้างต้นจะยับยั้งการทำลายยาลดไขมันในร่างกายซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดกล้ามเนื้อ หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้

2. ควรรับประทานยาลดไขมันเวลาใด?

ยาลดไขมันในเลือดควรรับประทานก่อนนอน เนื่องจากโดยปกติแล้ว ร่างกายคนเราจะมีการสร้างโคเลสเตอรอลสูงที่สุดในช่วงเวลากลางคืน

3. ยาลดไขมันต้องรับประทานตลอดชีวิตหรือไม่?

ยาลดไขมันไม่จำเป็นต้องรับประทานตลอดชีวิต หากผู้ป่วยมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไขมันต่ำ ควบคุมน้ำหนักและระดับไขมันในเลือดได้โดยไม่ต้องใช้ยา แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาด้วยตนเอง การลดยาไขมันในเลือดควรได้รับการพิจารณาจากแพทย์

4. สตรีตั้งครรภ์ควรรับประทานยาลดไขมันชนิดใด? 

สตรีตั้งครรภ์สามารถรับประทานยาลดไขมันในกลุ่มเรซินซึ่งเป็น Bile Acid Sequestrant เนื่องจากยากลุ่มนี้ไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดของแม่ และไม่สามารถผ่านรกได้ แต่อย่างไรก็ตามยากลุ่มนี้ลดการดูดซึมของวิตามินที่ละลายในไขมันได้ ดังนั้นแพทย์อาจสั่งจ่ายวิตามินดีเสริมให้แก่ผู้ป่วยได้ 

อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้ใช้ยาลดไขมันกลุ่มอื่น ๆ ในผู้ป่วยตั้งครรภ์ ยกเว้นแพทย์พิจารณาแล้วว่าผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องใช้

5. การรับประทานยาลดไขมันเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการกล้ามเนื้อพังจริงหรือไม่? 

การรับประทานยาลดไขมันในขนาดปกติสามารถใช้รักษาได้อย่างปลอดภัย แต่ต้องระมัดระวังในการใช้ ไม่รับประทานร่วมกับยาหรืออาหารที่ยับยั้งการทำลายยาลดไขมันในร่างกาย เพราะอาจทำให้ระดับยาในเลือดสูงเกินระดับที่ปลอดภัยและทำลายกล้ามเนื้อได้

6. สามารถซื้อยาลดไขรับประทานเองได้หรือไม่?

ในการเริ่มรักษาโรคไขมันในเลือดสูงนั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์ก่อนเพื่อตรวจวัดระดับไขมันในเลือดและค่าอื่น ๆ ตามที่แพทย์เห็นสมควรเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและจ่ายยาที่เหมาะสมกับโรคและร่างกายผู้ป่วยมากที่สุด ในกรณีที่ผู้ป่วยรับยาบางส่วนจากโรงพยาบาลหรือต้องการซื้อยาเพิ่มเติม สามารถซื้อยากับเภสัชกรโดยแจ้งตัวยา ขนาด ปริมาณ และจำนวนที่รับประทาน ยาและวิตามินอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงยาที่แพ้ ทั้งนี้ผู้ป่วยควรพบแพทย์ตามนัดและไม่ควรปรับยาเองโดยเด็ดขาด

 

สอบถามเรื่องยากับเภสัชกรได้ทุกวันถึงเที่ยงคืน ไม่มีค่าใช้จ่าย!