รู้จักโรคเอดส์ต่างกับโรคติดเชื้อไวรัส HIV อย่างไร วิธีรักษาและป้องกัน
Key Takeaways
- โรคเอดส์คือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องซึ่งจะพบในระยะสุดท้ายของการติดเชื้อไวรัส HIV ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังผู้ป่วยเป็นโรคติดเชื้อไวรัส HIV แล้วนานประมาณ 8 – 10 ปี
- เมื่อสงสัยว่าจะได้รับเชื้อไวรัส HIV ควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อปรึกษาขอรับยาต้านไวรัสหลังสัมผัสเสี่ยง (PEP) ในทันที หรือภายใน 72 ชั่วโมง
- การติดเชื้อไว้รัส HIV สามารถติดต่อผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งที่มีเลือดของผู้ติดเชื้อ HIV ปนเปื้อน
โรคเอดส์ คืออะไร
โรคเอดส์ Acquired Immunodeficiency Syndrome (AIDS) หรือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง คือ กลุ่มอาการในระยะสุดท้ายของการติดเชื้อไวรัส Human Immunodeficiency Virus (HIV) ซึ่งโรคเอดส์จะปรากฏขึ้นภายหลังผู้ป่วยมีการติดเชื้อไวรัส HIV นานประมาณ 8 – 10 ปี โดยในระยะนี้ปริมาณเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ในร่างกายจะมีปริมาณลดลงเหลือน้อยกว่า 200 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง จึงมีโอกาสสูงในการเกิดการติดเชื้อโรคฉวยโอกาสต่าง ๆ เช่น โรควัณโรคปอด โรคปอดอักเสบจากเชื้อรา ท้องเสียเรื้อรังจากเชื้อโพรโทซัว โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา เป็นต้น
BeDee Tips: รู้จักซิฟิลิสโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพิ่มเติม อ่านเลย
ปรึกษาเรื่องอาการโรคเอดส์กับคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก เป็นส่วนตัว ไม่มีค่าจัดส่งยา
โรคเอดส์กับโรคติดเชื้อไวรัส HIV ต่างกันอย่างไร
หลายคนอาจยังสับสนว่า AIDS กับ HIV นั้นแตกต่างกันอย่างไร ก่อนที่จะเกิดโรคเอดส์ได้นั้นผู้ป่วยจะต้องผ่านการติดเชื้อไวรัส Human Immunodeficiency Virus หรือ HIV ก่อนนั่นเอง ซึ่งระยะของการติดเชื้อ HIV จะแบ่งระยะตามอาการและระยะเวลาของการติดเชื้อ
ระยะของ HIV สู่โรคเอดส์
โรคติดเชื้อไวรัส HIV แบ่งอาการได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่
- ระยะที่ 1 ระยะแรกเริ่มของการติดเชื้อไวรัส HIV (Primary Infections: Acute HIV Infection)
อาการมักเกิดขึ้นในช่วง 2-4 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อไวรัส HIV โรค hiv อาการในช่วงนี้ผู้ป่วยอาจมีไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีต่อมน้ำเหลืองอักเสบ และมีผื่น หรือในบางรายอาจไม่มีอาการแสดงใด ๆ เนื่องจากอาการ HIV ระยะแรก ร่างกายของผู้ป่วยจะยังสามารถเพิ่มจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อไวรัส HIV ได้ จึงจะปรากฏอาการไม่สบายช่วงสั้น ๆ และที่สำคัญคือหลังการติดเชื้อในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีปริมาณไวรัส HIV ในร่างกายเพิ่มมากขึ้น จึงสามารถแพร่เชื้อ HIV ให้กับผู้อื่นได้ด้วย หากยังไม่ได้รับยาต้านไวรัสเพื่อรักษา ผู้ป่วยจึงควรรีบเข้ารับการตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาโดยการรับประทานยาต้านไวรัส HIV โดยเร็วที่สุด - ระยะที่ 2 ระยะติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ (Clinical Latent Infection: Chronic HIV Infection)
อาการติดเชื้อไวรัส HIV ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีปริมาณไวรัสในเลือดลดลงเมื่อเทียบกับระยะแรก แต่ยังคงพบอยู่ในร่างกาย ระยะนี้อาจกินเวลาอยู่หลายปี ผู้ติดเชื้ออาจไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่จำเพาะเพียงเล็กน้อย แต่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยเฉพาะเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 จะถูกไวรัสทำลายลงอย่างช้า ๆ ถ้ายังไม่ได้รับการรักษา HIV ซึ่งระยะนี้ยังคงสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้เช่นเดียวกัน - ระยะที่ 3 ระยะโรคเอดส์ (Progression to AIDS)
ในระยะนี้จะเกิดขึ้นหลังจากผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัส HIV แล้วนานประมาณ 8 – 10 ปี เป็นช่วงที่ระดับเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 จะลดลงเหลือต่ำกว่า 200 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ซึ่งแสดงถึงภูมิคุ้มกันที่ลดลงอย่างมาก ด้วยสาเหตุนี้เองทำให้โรคเอดส์อาการเริ่มต้นมักมีอาการแสดงที่เกิดจากการติดเชื้อโรคฉวยโอกาสต่าง ๆ เช่น โรควัณโรคปอด โรคปอดอักเสบจากเชื้อรา ท้องเสียเรื้อรังจากเชื้อโพรโทซัว โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา เป็นต้น ซึ่งการติดเชื้อโรคฉวยโอกาสต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างรวดเร็วภายใน 2-3 ปีหลังเข้าสู่ระยะของโรคเอดส์
BeDee Tips: เริมกับเริมที่ปาก ติดต่อได้ไหม มีอาการอย่างไร อ่านเลย
โรคเอดส์และ HIV เกิดจากอะไร ติดต่อได้อย่างไร
โรค AIDS เกิดจากเชื้อไวรัส HIV ซึ่งการติดต่อหรือวิธีการรับเชื้อไวรัส HIV นั้นผู้ป่วยจะได้รับเชื้อผ่านการสัมผัสสารคัดคลั่งที่มีการปนเปื้อนเลือดของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ และยังไม่ได้รับการรักษาด้วยการรับประทานต้านไวรัส ผ่านวิธีการ เช่น
- การมีบาดแผลเปิดที่สัมผัสกับสารคัดหลั่งที่มีการปนเปื้อนเลือดของผู้ป่วยติดเชื้อ
- การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อโดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกันทั้ง ชาย-หญิง และ ชาย-ชาย
- การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ป่วยติดเชื้อ
- การรับเชื้อจากมารดาที่ตรวจพบมีการติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ และยังไม่ได้รับการรักษาก่อนการคลอด
BeDee Tips: ไวรัส HPV ไม่ได้ทำให้เกิดโรคมะเร็งเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิด หูดหงอนไก่ ได้อีกด้วย อ่านเพิ่มเติมเลย
ปรึกษาเรื่องโรคเอดส์กับคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก เป็นส่วนตัว ไม่มีค่าจัดส่งยา
โรคเอดส์ อาการเป็นอย่างไร
อาการแสดงของโรคเอดส์ โดยทั่วไปแล้วมักเกิดขึ้นหลังจากที่ระดับภูมิคุ้มกันหรือปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ลดลงมีปริมาณน้อยกว่า 200 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตรทำให้ร่างกายอ่อนแอลงมาก และแสดงอาการของการติดเชื้อโรคฉวยโอกาส เช่น โรควัณโรคปอด โรคปอดอักเสบจากเชื้อรา ท้องเสียเรื้อรังจากเชื้อโพรโทซัว โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา เป็นต้น โดยมีอาการที่อาจพบได้ เช่น
- มีไข้เรื้อรัง
- ไอเรื้อรัง
- ท้องเสียเรื้อรัง
- พบฝ้าขาว ร่วมกับเจ็บในช่องปาก และในคอ
- มีอาการกลืนลำบาก หรือกลืนแล้วเจ็บ
- มีผื่นคันตามตัว
- ไอปนเลือด
- อ่อนเพลียไม่ทราบสาเหตุ
- อาการปวดศีรษะเรื้อรัง
- น้ำหนักตัวลดลง
- คลำได้ก้อนต่อมน้ำเหลืองตามตัว
โรคติดเชื้อไวรัส HIV มีวิธีวินิจฉัยอย่างไร
การวินิจฉัยโรคเอดส์ (AIDS) เป็นกลุ่มอาการโดยต้องตรวจพบการติดเชื้อไวรัส HIV มาก่อนนานเป็นระยะเวลาหนึ่ง ร่วมกับมีอาการแสดงของการติดเชื้อโรคฉวยโอกาส ซึ่งภูมิคุ้มกันที่ลดลงเกิดจากการติดเชื้อไวรัส HIV (Human Immunodeficiency Virus) โดยทั่วไปแล้วการตรวจหาเชื้อ HIV แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่
การตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อ HIV (Antibody Tests)
- การตรวจเลือด (Blood Test): เป็นวิธีการตรวจมาตรฐานเนื่องจากมีความแม่นยำสูง การตรวจหาแอนติบอดีเชื้อ HIV ในเลือดสามารถให้ผลตรวจที่ชัดเจนภายในระยะเวลา 2-8 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อ
- การตรวจน้ำลาย (Oral Fluid Test): การเก็บตัวอย่างน้ำลายจากเหงือกและกระพุ้งแก้มสามารถนำมาตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อ HIV ได้ แต่มีความแม่นยำน้อยกว่าการตรวจเลือด และจำเป็นต้องได้รับการตรวจเลือดเพื่อยืนยันการวินิจฉัย
- การตรวจปัสสาวะ (Urine Test): การตรวจหาการติดเชื้อ HIV จากปัสสาวะ แต่มีความแม่นยำน้อยกว่าการตรวจเลือด และจำเป็นต้องได้รับการตรวจเลือดเพื่อยืนยันการวินิจฉัย
การตรวจหาแอนติเจนต่อเชื้อ HIV (Antigen Tests)
- การตรวจหาแอนติเจนต่อเชื้อ HIV (Antigen Tests)
การตรวจ p24 Antigen: แอนติเจน p24 เป็นโปรตีนที่อยู่ในตัวเชื้อไวรัส HIV การตรวจนี้สามารถใช้ตรวจพบการติดเชื้อในช่วงระยะเวลาที่เร็วกว่าแอนติบอดี คือภายใน 2-4 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อ
การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ HIV (Nucleic Acid Amplification Test, NAAT)
การตรวจ Nucleic Acid Amplification Test หรือ NAAT: เป็นการตรวจที่สามารถพบเชื้อ HIV ได้ภายใน 7-14 วันหลังจากติดเชื้อ เป็นการตรวจที่มีความแม่นยำสูงมาก แต่มีค่าใช้จ่ายในการตรวจที่สูง จึงไม่นิยมนำมาใช้เพื่อการตรวจเชิงคัดกรอง แต่จะใช้ในกรณีที่มีข้อจำกัดในการตรวจ และแปลผลด้วยวิธีมาตรฐาน หรือเพื่อยืนยันการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมจากการตรวจด้วยวิธีการตรวจแอนติเจน และแอนติบอดีมาตรฐาน เช่น การตรวจในทารกแรกเกิดที่มีความเสี่ยงจากมารดาที่ได้รับการวินิจฉัยติดเชื้อ HIV หรือการตรวจยืนยันในผู้ที่มีผลการตรวจคัดกรองในเบื้องต้นเป็นบวกแต่มีความขัดกันของผลในแต่ละชุดตรวจ
โรคติดเชื้อไวรัส HIV รักษาอย่างไร
สำหรับการรักษาโรคติดเชื้อไวรัส HIV นั้น ทันทีที่ผู้ป่วยทราบว่าตนเองมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส HIV ควรรีบพบแพทย์ในทันทีเพื่อรับการตรวจประเมินความเสี่ยง และรับยาต้านไวรัสหลังสัมผัสเสี่ยง PEP (Post-Exposure Prophylaxis) โดยเร็วที่สุด หรือภายใน 72 ชั่วโมง และในกรณีเมื่อผู้ป่วยได้รับการยืนยันแล้วว่าตรวจพบเชื้อไวรัส HIV แพทย์จะแนะนำการรักษา และจ่ายยาต้านไวรัส HIV ให้ผู้่ป่วยรับประทานต่อเนื่อง ยิ่งผู้ป่วยได้รับยาต้านไวรัสเร็ว จะยิ่งช่วยในการควบคุมการติดเชื้อได้เร็วขึ้น ลดโอกาสการเกิดโรคเอดส์ที่จะตามมา และที่สำคัญคือลดโอกาสในการแพร่กระจายโรคติดเชื้อไวรัส HIV ไปสู่ผู้อื่นอีกด้วย
ปรึกษาเรื่องโรคเอดส์กับคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก เป็นส่วนตัว ไม่มีค่าจัดส่งยา