โรคเริม

จู่ๆ ก็มีตุ่มน้ำใสขนาดเล็กขึ้นที่ริมฝีปากหรืออวัยวะเพศหลายจุด รู้สึกปวดแสบปวดร้อน บางครั้งก็ลุกลามไปยังพื้นที่ใกล้เคียง หากกำลังมีอาการเหล่านี้อยู่ อย่าปล่อยทิ้งไว้ เพราะนี่อาจเป็นอาการของ “โรคเริม”

 

เริม (Herpes simplex) เป็นโรคติดต่อทางผิวหนังที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะช่วงที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง ทำให้คนที่ได้รับเชื้อเริมมีอาการแสดงออกมา

 

ถึงแม้ว่าเริมจะเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง แต่ก็อาจทำให้รู้สึกรำคาญหรือความมั่นใจลดลงได้ ฉะนั้น BeDee จะมาตอบทุกข้อสงสัยว่า เริมเกิดจากอะไร? เป็นเริมหายเองได้ไหม? ถ้าเป็นแล้วจะต้องรักษาเริมอย่างไร?

สารบัญบทความ

เริมคืออะไร

เริม (herpes simplex) คือ โรคติดต่อทางผิวหนังที่มาจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งสามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อไวรัสเริมโดยตรง เช่น การสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่มาจากตุ่มเริม การใช้ภาชนะหรือสิ่งของส่วนตัวร่วมกัน หรือจากการมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

 

เมื่อติดเชื้อเริม ผู้ที่ได้รับเชื้อจะยังไม่มีอาการใดๆ จนกระทั่งช่วงที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงหรือมีปัจจัยอื่น ๆ มากระตุ้น เช่น เป็นโรคเครียด เหนื่อยล้า เจ็บป่วย ฯลฯ ก็จะทำให้เริมเริ่มแสดงอาการออกมา ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการน้อยมากจนแพร่เชื้อไวรัสไปสู่ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว

อาการของเริม

คนที่เป็นโรคเริม อาการแสดงที่เห็นได้ชัดเจนจะมีลักษณะ ดังนี้

  • มีตุ่มน้ำพอง หรือเกิดแผลพุพองที่ผิวหนัง โดยเฉพาะรอบริมฝีปาก บนริมฝีปาก หรืออวัยวะเพศ
  • รู้สึกแสบร้อนที่แผล
  • สังเกตเห็นว่า เมื่อตุ่มพองแตกออก เริมมีการลุกลามไปยังพื้นที่ใกล้เคียง 
  • บางคนที่ไม่เคยเป็นเริมมาก่อน อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เป็นไข้ รู้สึกปวดเมื่อยตัว ปวดหัว ต่อมน้ำเหลืองบวม อ่อนเพลีย หรืออาการคล้ายไข้หวัด
  • เริมสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก เพียงแต่การเป็นเริมในครั้งถัดๆไป จะมีความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นน้อยกว่าการเป็นเริมครั้งแรก

ประเภทของเริม

เริม อาการเริ่มต้น

โดยทั่วไป เชื้อไวรัสเริมจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่

1. Herpes Simplex Virus ชนิดที่ 1: HSV-1

เชื้อ herpes simplex virus ชนิดที่ 1 คือ เชื้อที่มักแพร่กระจายด้วยการสัมผัสทางปาก ซึ่งจากข้อมูลองค์การอนามัยโลก(WHO) พบว่า คนที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี ประมาณ 3.7 พันล้านคนทั่วโลก(คิดเป็น 67%) มีการติดเชื้อไวรัสเริมชนิดนี้ 

 

โดยคนที่ได้รับเชื้อเริมชนิดที่ 1 มีโอกาสที่จะเกิดอาการแสดงของเริมในตำแหน่งที่สูงกว่าเอวขึ้นไป บริเวณที่พบบ่อย ได้แก่ ภายในช่องปาก บนริมฝีปาก รอบริมฝีปาก จมูก และใบหน้า

2. Herpes Simplex Virus ชนิดที่ 2: HSV-2

ส่วนเชื้อ HSV ชนิดที่ 2 คือ เชื้อที่มักมีการแพร่กระจายผ่านทางเพศสัมพันธ์ จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก(WHO) แสดงให้เห็นว่า คนที่มีอายุ 15-49 ปี ประมาณ 491 ล้านคนทั่วโลก(คิดเป็น 13%) ติดเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 2 นี้

 

ผู้ที่ติดเชื้อเริมชนิดที่ 2 มักจะมีอาการแสดงของเริมที่ตำแหน่งต่ำกว่าเอว โดยบริเวณที่มักพบบ่อย ได้แก่ อวัยวะเพศ ช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก บั้นท้าย หรือถุงอัณฑะ เป็นต้น ซึ่งการมีเชื้อไวรัสชนิดนี้ อาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการได้รับและแพร่เชื้อเอชไอวีมากขึ้น

บริเวณการเกิดเริม

อ่านมาจนถึงจุดนี้ หลายๆคนก็คงเริ่มรู้สึกกังวล อยากตรวจสอบว่าตัวเองเป็นอยู่รึเปล่า งั้นเราลองมาดูกันดีกว่าว่า เริม ขึ้นที่ไหนได้บ้าง?

เริมที่ปาก

เริมที่ปาก มักมาจากเชื้อไวรัส HSV ชนิดที่ 1 เป็นหลัก สามารถพบได้บ่อยทั้งบริเวณภายในช่องปาก บนริมฝีปาก และรอบๆ ริมฝีปาก มีอาการที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน ซึ่งหากเป็นเริมที่ปาก จะมีลักษณะเป็นตุ่มใสขนาดเล็กขึ้นเป็นกลุ่ม ให้ความรู้สึกคัน แสบร้อน และซ่าๆ 

 

หลังจากนั้นเมื่อตุ่มพองแตกออก เริมก็จะเริ่มหายไป ซึ่งเริมที่ปากส่วนใหญ่จะมีระยะเวลาอยู่ที่ 2-3 สัปดาห์

เริมที่อวัยวะเพศ

เริมที่อวัยวะเพศ ส่วนใหญ่มาจากเชื้อไวรัส HSV ชนิดที่ 2 มักมีระยะเวลาในการเป็นเริมอยู่ที่ 2-6 สัปดาห์ โดยสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง ซึ่งบริเวณที่พบบ่อย ได้แก่…

เริมที่อวัยวะเพศหญิง

เริมที่อวัยวะเพศหญิง มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งบริเวณรอบอวัยวะเพศ ช่องคลอด ปากมดลูก ซึ่งจะมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำพองขนาดเล็กๆ มีอาการคัน แสบร้อน บวมแดง และเป็นไข้ นอกจากนี้ หากกรณีเป็นที่ภายในอวัยวะเพศ ก็อาจทำให้ลักษณะของตกขาวเกิดการเปลี่ยนแปลงไปได้ 

เริมที่อวัยวะเพศชาย

เริมที่อวัยวะเพศชาย มักจะเกิดขึ้นบริเวณรอบอวัยวะเพศและถุงอัณฑะ ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกันคือ มีตุ่มน้ำพองที่ทำให้เกิดอาการแสบร้อน คัน และเป็นไข้ เมื่อปัสสาวะก็อาจทำให้เกิดอาการปวดหรือแสบบริเวณนั้นได้

เริมที่เกิดส่วนอื่น ๆ

บริเวณอื่นๆ ก็มีโอกาสเกิดเริมได้เช่นกัน เพียงแต่จะมีโอกาสเกิดน้อยกว่า โดยนอกจากเริมที่ปากและเริมที่อวัยวะเพศแล้ว ยังสามารถเกิดขึ้นได้ที่บริเวณจมูก รอบดวงตา คอ บั้นท้าย และทวารหนักได้อีกด้วย ซึ่งก็จะมีลักษณะที่คล้ายๆ กัน เพียงแต่ต้องระมัดระวังไม่ให้เชื้อลุกลามไปยังอวัยวะสำคัญ เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

สาเหตุของเริม

เริม เกิดจากอะไร

อย่างที่เรารู้กันว่า เริมเป็นโรคติดต่อทางผิวหนังที่ถือว่าเป็นภัยเงียบ เพราะผู้ที่ได้รับเชื้อเกือบทุกคน ไม่มีอาการแสดงและมักไม่รู้ตัวว่าได้รับเชื้อมาตอนไหน รวมถึงผู้ที่แพร่กระจายเชื้อก็มักไม่รู้ตัวด้วยเช่นเดียวกัน

 

แล้วแบบนี้ เริมเกิดจากอะไรได้บ้าง? มาดูและสังเกตพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราไปพร้อมๆ กัน

  • โรคเริม สาเหตุหลักมาจากการที่เราสัมผัสกับเชื้อโดยตรง ซึ่งเชื้อมักจะอยู่ตามบาดแผล น้ำเหลือง น้ำลาย หรือจากการมีเพศสัมพันธ์
  • การไม่ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันขณะมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดหรือทวารหนัก
  • การใช้ภาชนะหรือสิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้ที่มีเชื้อเริม เช่น แก้วน้ำ ช้อนส้อม แปรงสีฟัน เป็นต้น
  • สำหรับสตรีที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์แล้วเป็นโรคเริมที่อวัยวะเพศ ทารกจะมีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อระหว่างการคลอด

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากโรคเริม

ถึงแม้ว่าเริมจะเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง แต่ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้ ดังนี้

  • เชื้อเริมชนิดที่ 2 (HSV-2) ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ HIV เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า
  • หากดูแลความสะอาดไม่ดี ตุ่มน้ำพองมีโอกาสกลายเป็นหนองได้
  • เมื่อเชื้อเริมเกิดการลุกลามไปยังอวัยวะสำคัญ อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น เชื้อเริมลุกลามบริเวณดวงตา อาจอันตรายถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น 
  • ทารกแรกเกิดที่ได้รับเชื้อโรคเริมขณะคลอด อาจเสี่ยงต่อความบกพร่องทางระบบประสาทหรือเสียชีวิตได้
  • กรณีที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก คือ โรคเริมจาก HSV-1 ทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบหรือโรคกระจกตาอักเสบ ส่วนโรคเริมจาก HSV-2 ก็อาจทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบได้เช่นกัน

เริมสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้หรือไม่?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดจากโรคเริม จึงทำให้เชื้อไวรัสเริมยังคงฝังอยู่ในปมประสาทและมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำอีกได้ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมียาที่ช่วยลดระดับความรุนแรงและควบคุมการลุกลามของเชื้อเริมได้

สำหรับคนที่เป็นเริมบ่อยมากๆ แนะนำว่า ให้ลองสังเกตตนเองและพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นเริมหรือระมัดระวังเท่าที่จะสามารถทำได้ ได้แก่

  • การเจ็บป่วยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยเล็กน้อย หรือการเจ็บป่วยรุนแรง
  • ความเหนื่อยล้าทางร่างกาย ควรหลีกเลี่ยงการหักโหมมากจนเกินไป
  • พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • สภาวะอารมณ์ ความเครียด ความวิตกกังวล ฯลฯ
  • การบาดเจ็บหรือมีการผ่าตัด
  • การใช้ยาหรือการรักษาที่มีการกดภูมิคุ้มกัน เช่น การทำเคมีบำบัด การใช้ยาสเตียรอยด์ 
  • การมีประจำเดือน

การตรวจและวินิจฉัยเริม

การตรวจวินิจฉัยเริม ในเบื้องต้น แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจดูลักษณะตุ่มน้ำที่พุพอง และสอบถามเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้น จากนั้นจะทดสอบเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสเริมและชนิดของเริม เช่น การทดสอบด้วย PCR Test (Polymerase chain reaction) การเพาะเลี้ยงเชื้อเพื่อตรวจสอบตัวอย่างไวรัสเริม หรือการตรวจเลือดเพื่อหาแอนติบอดีที่ร่างกายสร้างมาต้านทานเชื้อไวรัสเริม

วิธีรักษาเริม

ถ้าตรวจพบว่าเป็นเริมรักษาอย่างไรได้บ้าง? โรคเริม วิธีรักษาหลักๆ คือ การบรรเทาอาการ ลดระดับความรุนแรงของโรค และควบคุมไม่ให้เกิดการลุกลามหรือแพร่กระจายของเชื้อ โดยการใช้วิธีการรักษาเริม ดังนี้

  • ใช้ยาต้านไวรัสรูปแบบทานและรูปแบบทาในการรักษา
  • อาจพิจารณาจ่ายยาอื่นๆ เพิ่มเติม ในกรณีที่มีอาการอื่นร่วมด้วย
  • หากเป็นเริมในช่องปาก สามารถใช้เครื่องดื่มเย็นหรือทานไอศกรีม เพื่อบรรเทาอาการได้
  • กรณีเป็นเริมที่อวัยวะเพศ อาจใช้วิธีการอาบน้ำอุ่น แช่น้ำอุ่น หรือสวมเสื้อผ้าหลวมๆ เพื่อบรรเทาอาการปวด
  • ควบคุมความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อเริม ด้วยการปรับพฤติกรรม เช่น การพูดคุยกับคู่เกี่ยวกับเรื่องเริม การสวมถุงยางอนามัยป้องกันขณะมีเพศสัมพันธ์ การไม่ใช้ภาชนะหรือสิ่งของส่วนตัวร่วมกัน

ยารักษาเริม

สำหรับยารักษาเริม โดยปกติแล้วจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่ ยารักษาเริมแบบรับประทาน และยาทาเริม

ยารักษาเริมแบบรับประทาน จะมีการพิจารณาจ่ายยาต้านไวรัส ซึ่งแนะนำให้ทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากมีอาการ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อเริม

หากมีอาการอื่นๆ ร่วม เช่น มีไข้ ปวดบริเวณตุ่มพอง อักเสบ อาจต้องทานยาบรรเทาอาการปวด ได้แก่ พาราเซตามอล(Paracetamol) นาพรอกเซน(Naproxen) หรือไอบูโพรเฟน(Ibuprofen) ร่วมด้วย

 นอกจากนี้ ยังมียาทาเริมที่ใช้ทาลงบนตุ่มเริม เพื่อลดอาการปวดและทำให้ตุ่มพองแห้งเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งมักจะมีลักษณะเป็นเนื้อครีม โดยยาทาที่นิยมใช้ เช่น เบนโซเคน (Benzocaine) เพื่อบรรเทาอาการปวด และยาต้านไวรัสชนิดทา

“พบแพทย์ที่ไหนดี?” แอปBeDee มีบริการปรึกษาหมอออนไลน์ สะดวกสบาย ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง มีบริการปรึกษาเภสัชกรและพยาบาลไม่มีค่าใช้จ่าย ส่งสินค้ารวดเร็วภายใน 90 นาทีทั่วกรุงเทพฯ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Line Official : @BeDeebyBDMS

การป้องกันโรคเริม

ไม่อยากเป็นเริม ทำอย่างไรดี? สำหรับผู้ที่อยากป้องกันหรือไม่อยากกลับมาเป็นซ้ำอีก วิธีเหล่านี้ช่วยคุณได้

  • หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะหรือสิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะแก้วน้ำ ช้อนส้อม
  • ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ 
  • ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ
  • แบ่งเวลาให้มีการพักผ่อนที่เพียงพอ
  • หาวิธีการจัดการความเครียด ความวิตกกังวล ให้เหมาะสม
  • รักษาสุขอนามัยเป็นประจำ เช่น การล้างมือให้สะอาด
  • ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันขณะมีเพศสัมพันธ์
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่อาจทำให้เริมกลับมาเป็นซ้ำ

โรคที่มีลักษณะคล้ายเริม

ในบางกรณี ก็มีโอกาสเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคที่เป็นได้ เนื่องจากเริมมีลักษณะใกล้เคียงกับหลายโรค ยกตัวอย่างเช่น

  • ร้อนใน มีความคล้ายกับเริมตรงที่สามารถเกิดขึ้นภายในช่องปากได้เหมือนกัน ให้ความรู้สึกเจ็บ แต่ต่างกันตรงที่เริมมักจะเป็นตุ่มใสที่มีอาการคันร่วมด้วย ส่วนร้อนในมักเป็นแผลขนาดเล็ก ตื้นๆ
  • ปากนกกระจอก มีลักษณะบวมแดง ให้ความรู้สึกตึงที่บริเวณมุมปาก ส่วนเริมแม้จะมีความคล้าย แต่ไม่เหมือนกันในแง่ที่เริมจะไม่มีอาการบวมใดๆ และตุ่มมักขึ้นเป็นกลุ่มๆ ขนาดเล็ก ให้ความรู้สึกคัน
  • โรคอีสุกอีใส มีลักษณะเป็นตุ่มและคันคล้ายเริม เพียงแต่โรคอีสุกอีใสจะเป็นผื่นแดง กระจายทั่วตัว
  • โรคงูสวัด สามารถเป็นตุ่มนูนและให้ความรู้สึกแสบร้อนได้เหมือนเริม แต่ต่างกันตรงที่โรคงูสวัดจะเกิดตุ่มนูนเรียงตัวตามแนวของเส้นประสาท

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเริม

สำหรับพาร์ทสุดท้าย BeDee ได้รวบรวมคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเริม เพื่อมาตอบทุกข้อคำถาม คลายความสงสัยให้กับทุกคนกัน 

เริมเป็นโรคติดต่อทางผิวหนังหรือไม่?

เริมเป็นโรคติดต่อไหม? ต้องขอตอบเลยว่า “เป็น” โดยเริมเป็นโรคติดต่อทางผิวหนังที่มาจากเชื้อไวรัส HSV-1 หรือ HSV-2 เมื่อได้รับเชื้อเริม อาจยังไม่แสดงอาการในทันที และโรคนี้แม้ไม่รุนแรงมากนัก แต่ก็ไม่สามารถหายขาดได้ มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำเรื่อยๆ เมื่อภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง

เป็นเริมกี่วันจึงจะหาย?

เป็นเริมกี่วันหาย? แต่ละคนอาจมีช่วงระยะเวลาที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดของเริม ความรุนแรง และการฟื้นตัวของร่างกาย โดยทั่วไปหากเป็นเชื้อเริมชนิด HSV-1 ก็อาจจะใช้ระยะเวลาอยู่ที่ 2-3 สัปดาห์ แต่ถ้าหากเป็น HSV-2 ก็อาจจะใช้ระยะเวลาอยู่ที่ 2-6 สัปดาห์

เป็นเริม ห้ามกินอะไร? 

หากเป็นเริม ห้ามกินอะไร? ในช่วงที่เป็นเริม ไม่ควรทานอาหารประเภทของหมักดอง ปลาร้า อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และโดยเฉพาะคนที่เป็นเริมที่ปาก ไม่ควรทานอาหารเผ็ดร้อน หรือมีรสเปรี้ยวมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดความรู้สึกแสบและแผลมีโอกาสหายช้าได้

สรุปโรคเริม

“โรคเริม” เป็นโรคติดต่อทางผิวหนังที่มาจากการสัมผัสเชื้อไวรัส HSV-1 หรือ HSV-2 โดยตรง แม้เริมจะเป็นโรคที่ไม่รุนแรง แต่ก็อาจสร้างความรำคาญใจแก่ผู้ที่เป็น เพราะโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาด และมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ 

จึงควรรักษาสุขอนามัยเป็นประจำ ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ หากเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบเข้าพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาทันที 

ปรึกษาหมอออนไลน์หรือปรึกษาเภสัชกร ที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เรามีแพทย์และเภสัชกรพร้อมให้คำปรึกษาและจัดส่งสินค้าถึงมือ เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS

 

 

 

 Content powered by BeDee Expert

ภญ.วรรณพร เกตุเลิศประเสริฐ

เภสัชกร

Dresden, D. (2023, January 12). Symptoms, causes, and treatment of herpes. MedicalNewsToday. https://www.medicalnewstoday.com/articles/151739

 

Herpes simplex virus. (2023, April 5). World Health Organization. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/herpes-simplex-virus

 

Raypole, C. (2023, February 10). Everything You Need to Know About Oral and Genital Herpes. Healthline. https://www.healthline.com/health/herpes-simplex#What-is-herpes-simplex?

 

WebMD Editorial Contributors. (2022, August 23). Herpes Simplex Virus: HSV-1 & HSV-2. https://www.webmd.com/genital-herpes/pain-management-herpes

 

WebMD Editorial Contributors. (2022, August 30). Herpes Test: What You Should Know. https://www.webmd.com/genital-herpes/herpes-tests-what-you-should-know

บทความที่เกี่ยวข้อง

Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง ในปัจจุบันมีผู้คนหลากหลายที่มีความสนใจในการเปลี่ยนแปลงตนเองให้ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศ การเทคฮอร์

“เริม” เป็นโรคติดต่อทางผิวหนังที่อาจไม่รุนแรง แต่เมื่อติดเชื้อแล้วกลับสร้างผลกระทบได้อย่างมากมาย โดยเฉพาะการเป็นเริมที่ปาก ที่นอกจากจะทำให้เรารู้สึกรำคาญใจแล้ว ยังทำให้รู้สึกไม่มั่นใจ อาย ไม่กล้าเจอใครเพราะกลัวโดนทักทุกครั้งที่ปากเป็นเริม   น้อยคนที่