ยาคุมกินตอนไหน

Key Takeaways

  • ยาคุมกำเนิดใช้เพื่อลดโอกาสในการตั้งครรภ์
  • การทานยาคุมไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ควรใช้ถุงอนามัยร่วมด้วย
  • อาการที่พบได้บ่อยจากการทานยาคุม เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้ น้ำหนักตัวเพิ่ม อารมณ์แปรปรวน หรือมีเลือดออกกระปริบกระปรอย

Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง

สารบัญบทความ

ยาคุมคืออะไร

ยาคุมกำเนิด (Birth Control Pills) หรือที่เรามักเรียกสั้น ๆ ว่า “ยาคุม” คือ ยาที่ใช้เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ หรือใช้เพื่อป้องกันการท้องในวัยเรียน ยาคุมมีหลายประเภทด้วยกัน เช่น ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมซึ่งมีส่วนผสมทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ยาคุมชนิดฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอย่างเดียว และยาคุมฉุกเฉิน นอกจากใช้คุมกำเนิดป้องกันการตั้งครรภ์แล้ว ยาคุมยังสามารถใช้รักษาโรคอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น ช่วยปรับรอบเดือนให้เป็นปกติ ลดอาการปวดท้องเมนส์ และใช้รักษาภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)

 

ยาคุมกินยังไง? วิธีกินยาคุมครั้งแรกควรกินอย่างไรดี? ปรึกษาเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวันถึงเที่ยงคืน ไม่มีค่าปรึกษา! 

หลักการออกฤทธิ์ของยาคุมกำเนิดทำงานอย่างไร

ยาคุมช่วยอะไร ? หลักการออกฤทธิ์ของยาคุมกำเนิดแบ่งเป็นหลายวิธี โดยหลักแล้วการทำงานของยาคุมกำเนิดมีดังนี้

1. ยับยั้งการตกไข่

ฮอร์โมนในยาคุมกำเนิดจะยับยั้งการหลั่งของฮอร์โมนที่ทำหน้าที่กระตุ้นการตกไข่จากต่อมใต้สมอง (FSH และ LH) เมื่อไม่มีการตกไข่ ก็จะไม่มีไข่ที่พร้อมจะถูกผสมกับอสุจิ ทำให้ไม่มีการตั้งครรภ์

2. เปลี่ยนแปลงเยื่อบุโพรงมดลูก

ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในยาคุมกำเนิดจะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลง ทำให้ไม่เหมาะสมต่อการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้ว ทำให้ตัวอ่อนที่อาจเกิดขึ้นไม่สามารถเจริญเติบโตได้

3. เพิ่มความหนาของมูกที่ปากมดลูก

ฮอร์โมนในยาคุมกำเนิดจะทำให้มูกที่ปากมดลูกข้นขึ้น ทำให้อสุจิเข้าสู่มดลูกได้ยากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้อสุจิเคลื่อนที่ได้ช้าลงและมีโอกาสน้อยที่จะเข้าถึงไข่ได้

4. ยับยั้งการเจริญเติบโตของไข่

ฮอร์โมนในยาคุมกำเนิดอาจยับยั้งการเจริญเติบโตของไข่ในรังไข่ ทำให้ไม่มีไข่ที่พร้อมสำหรับการผสม

ยาคุมกำเนิดใช้หลักการหลายอย่างร่วมกันเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ ได้แก่ การยับยั้งการตกไข่ การเปลี่ยนแปลงเยื่อบุโพรงมดลูก การเพิ่มความหนาของมูกที่ปากมดลูก และการยับยั้งการเจริญเติบโตของไข่ ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยให้ความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ลดลงอย่างมีประสิทธิภาพ

ยาคุมมีกี่ประเภท

ยาคุมแบบไหนดี

ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดมีหลายประเภทซึ่งสามารถแบ่งออกได้ตามลักษณะการใช้งานและส่วนประกอบของฮอร์โมนหลัก ๆ ดังนี้

1. ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม (Combined Pill)

ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ทานวันละ 1 เม็ดในเวลาเดียวกันทุกวัน มีทั้งแบบ 21 วัน (หยุดทาน 7 วัน) และ 28 วัน (ไม่มีการหยุดทาน)

2. ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Progesterone Pill)

ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ทานวันละ 1 เม็ดในเวลาเดียวกันทุกวัน ไม่มีช่วงหยุดทานเหมือนยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหากับฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น คุณแม่ให้นมบุตร

3. ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน

ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินใช้ในกรณีฉุกเฉินเมื่อมีการร่วมเพศโดยไม่มีการป้องกันหรือใช้สำหรับผู้ที่ถูกข่มขืน ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถุงยางอนามัยหลุด ถุงยางอนามัยฉีกขาด ลืมกินยาคุมกำเนิดแบบประจำ หรือไม่ได้ฉีดยาคุมหรือฝังยาคุมตามกำหนดการ

 

สำหรับยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด ควรกินหลังจากมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกันให้เร็วที่สุด ภายในเวลา 72 ชั่วโมง และสำหรับยาคุมฉุกเฉินแบบ 2 เม็ด ควรกินยาคุมฉุกเฉิน 1 เม็ด (เม็ดแรก) หลังจากมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกันให้เร็วที่สุด ซึ่งควรกินภายในเวลา 72 ชั่วโมง หลังจากนั้น ให้กินยาคุมฉุกเฉินเม็ดที่ 2 ภายใน 12 ชั่วโมงถัดจากเม็ดแรก หรือกินพร้อมกัน 2 เม็ดในครั้งเดียวก็ได้

ยาคุมแบบ 21 เม็ด VS แบบ 28 เม็ด ต่างกันอย่างไร กินแบบไหนดีกว่า

ยาคุมกำเนิดชนิด 21 เม็ดและชนิด 28 เม็ดมีลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันดังนี้

 

  • ยาคุมกำเนิดชนิด 21 เม็ด

หลายคนอาจเกิดคำถามว่ายาคุม 21 เม็ดควรเริ่มกินตอนไหน ยาคุมกำเนิดชนิด 21 เม็ดประกอบด้วยฮอร์โมนฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ควรทานวันละ 1 เม็ดทุกวันในเวลาเดียวกันต่อเนื่องกันเป็นเวลา 21 วัน แล้วหยุดทานยาเป็นเวลา 7 วัน ซึ่งในช่วง 7 วันนี้จะมีประจำเดือน หลังจากนั้นเริ่มทานแผงใหม่

 

  • ยาคุมกำเนิดชนิด 28 เม็ด

ยาคุมประเภทนี้ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจำนวน 21 เม็ด และเม็ดแป้งหรือเม็ดหลอกจำนวน 7 เม็ด วิธีกินยาคุม 28 เม็ดคือให้ทานยาวันละ 1 เม็ดในเวลาเดียวกันทุกวันต่อเนื่องกันเป็นเวลา 28 วัน แล้วเริ่มแผงใหม่ทันทีโดยไม่ต้องหยุดทานยา ข้อดีของยาคุมกำเนิดชนิด 28 เม็ดคือช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องนับวันหยุด ทำให้จดจำได้ง่ายว่าเมื่อไรต้องเริ่มแผงใหม่

การเลือกใช้ยาคุมรายเดือนชนิดใดดีกว่ากันนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติม

วิธีการรับประทานยาคุมกำเนิดที่ถูกต้องทำอย่างไร

การรับประทานยาคุมกำเนิดอย่างถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์และลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น วิธีกินยาคุมอย่างถูกต้องมีดังนี้

  • ยาคุมชนิด 21 เม็ด ให้เริ่มรับประทานเม็ดแรกในวันที่ 1 ของรอบเดือน (วันแรกที่มีประจำเดือนมา) และรับประทานต่อเนื่องทุกวันจนหมดแผง จากนั้นเว้น 7 วันแล้วเริ่มทานแผงใหม่
  • ยาคุมชนิด 28 เม็ด ให้เริ่มรับประทานเม็ดแรกในวันที่ 1 ของรอบเดือน และรับประทานทุกวันตามลำดับจนครบ 28 วัน แล้วเริ่มแผงใหม่
  • ควรรับประทานยาในเวลาเดียวกันทุกวัน เพื่อรักษาระดับฮอร์โมนในร่างกายให้คงที่
  • หากลืมรับประทานยา 1 เม็ด ให้รับประทานทันทีที่นึกได้ และรับประทานเม็ดถัดไปตามปกติ

วิธีรับมือเมื่อลืมทานยาคุมควรทำอย่างไร

กินยาคุมไม่ตรงเวลาแต่กินทุกวัน

ยาคุมชนิด 21 เม็ด

  • ลืมทาน 1 เม็ดหรือลืมกินยาคุม 1 วัน ให้ทานยาคุมเม็ดที่ลืมทันทีที่นึกได้ แล้วทานเม็ดถัดไปตามปกติโดยไม่ต้องใช้วิธีป้องกันเพิ่มเติม (ในวันนั้นจะทานยารวมเป็น 2 เม็ด)
  • ลืมทาน 2 เม็ดหรือมากกว่า หากลืมกินยาคุม 2 วัน ให้ทิ้งเม็ดก่อนหน้าและทานเม็ดล่าสุดที่ลืมทันทีที่นึกได้ และทานเม็ดถัดไปตามปกติ (ในวันนั้นจะทานยารวมเป็น 2 เม็ด) แต่ควรใช้วิธีป้องกันอื่น ๆ เช่น ถุงยางอนามัย ควบคู่ไปด้วยเป็นเวลา 7 วัน
    และให้พิจารณาเพิ่มเติมดังนี้ หากลืมทานยาคุมในช่วงสัปดาห์แรกของการเริ่มแผงยา (เม็ดที่ 1-7) และมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ให้ทานยาคุมฉุกเฉินร่วมด้วย หากลืมทานยาคุมในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของแผงยา (เม็ดที่ 15 – 21) หลังทานยาคุมเม็ดที่ 21 ครบแล้วไม่ต้องมี ช่วงเว้นทานยา 7 วัน ให้เริ่มทานยาคุมแผงใหม่ได้ทันทีหลังทานเม็ดที่ 21

 

ยาคุมชนิด 28 เม็ด (แผง 28 เม็ด)

  • ลืมทาน 1 เม็ด (เม็ดฮอร์โมน) ให้ทานเม็ดที่ลืมทันทีที่นึกได้ และทานเม็ดถัดไปตามปกติ (ในวันนั้นจะทานยารวมเป็น 2 เม็ด)
  • ลืมทาน 2 เม็ดหรือมากกว่า (เม็ดฮอร์โมน) ให้ทิ้งเม็ดก่อนหน้าและให้ทานเม็ดล่าสุดที่ลืมทันทีที่นึกได้ และทานเม็ดถัดไปตามปกติ (ในวันนั้นจะทานยารวมเป็น 2 เม็ด) แต่ควรใช้วิธีป้องกันอื่น ๆ เช่น ถุงยางอนามัย ควบคู่ไปด้วยเป็นเวลา 7 วัน
    และให้พิจารณาเพิ่มเติมดังนี้ หากลืมทานยาคุมในช่วงสัปดาห์แรกของการเริ่มแผงยา (เม็ดที่ 1-7) และมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ให้ทานยาคุมฉุกเฉินร่วมด้วย หากลืมทานยาคุมในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของแผงยา (เม็ดที่ 15 – 21) หลังทานยาคุมเม็ดที่ 21 ครบแล้วไม่ต้องทานเม็ดแป้งหรือเม็ดหลอก 7 วัน ให้เริ่มทานยาคุมแผงใหม่ได้ทันทีหลังทานเม็ดที่ 21 
  • ลืมเม็ดแป้ง (เม็ดที่ไม่มีฮอร์โมน) ให้ทิ้งเม็ดที่ลืมและทานเม็ดถัดไปตามปกติ ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีป้องกันเพิ่มเติม

ผลข้างเคียงของยาคุมที่พบได้บ่อยมีอะไรบ้าง

ผลข้างเคียงจากการทานยาคุมหรือที่บางคนเรียกว่าอาการแพ้ยาคุมนั้นมีหลายอย่างด้วยกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละบุคคลและชนิดของยาคุมที่ใช้ ผลข้างเคียงที่พบบ่อยมีดังนี้

  • คลื่นไส้และอาเจียน เกิดขึ้นในช่วงแรกของการใช้ยาและมักจะหายไปเองเมื่อร่างกายปรับตัว
  • ปวดศีรษะ
  • น้ำหนักเพิ่ม
  • อารมณ์แปรปรวน เช่น รู้สึกเครียดหรือความเศร้า
  • เจ็บหรือคัดหน้าอก
  • เลือดออกกะปริบกะปรอย พบได้ในช่วงแรกของการใช้ยา

 

หากพบว่ามีผลข้างเคียงยาคุมที่ไม่สบายใจหรือรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินอาการและปรับเปลี่ยนยาคุม