เทคฮอร์โมน

Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง

ในปัจจุบันมีผู้คนหลากหลายที่มีความสนใจในการเปลี่ยนแปลงตนเองให้ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศ การเทคฮอร์โมนจึงเป็นหนึ่งในวิธีที่นิยมมาก แต่มีผู้คนไม่น้อยที่ไม่ทราบการเทคฮอร์โมนอย่างถูกต้อง และอาจไปซื้อยามาเทคฮอร์โมนเองจนเกิดอันตรายต่อร่างกาย 

 

ดังนั้นก่อนจะไปเทคฮอร์โมน ทาง Bedee เราจะพาคุณไปทราบข้อมูลเกี่ยวกับการเทคฮอร์โมนอย่างละเอียด ข้อควรรู้ ข้อควรระวัง ผลข้างเคียง รวมถึงตอบคำถามเกี่ยวกับการเทคฮอร์โมนที่หลายคนสงสัยกันในบทความนี้

สารบัญบทความ

การเทคฮอร์โมน คืออะไร?

การเทคฮอร์โมน (Transgender hormone therapy) คือ หนึ่งในวิธีการเปลี่ยนสรีระร่างกายโดยใช้ฮอร์โมนเพศตรงข้าม เพื่อปรับภาพลักษณ์โดยรวมของร่างกายให้ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศที่ต้องการ เนื่องจากฮอร์โมนเพศมีผลต่อการแสดงออกถึงสรีระโครงสร้างร่างกาย การเทคฮอร์โมนนั้นไม่จำกัดเฉพาะการเทคฮอร์โมนชายเป็นหญิงเท่านั้น แต่ยังสามารถเทคฮอร์โมนชายในชายข้ามเพศได้เช่นกัน

การเทคฮอร์โมนสำหรับหญิงข้ามเพศ (Trans woman)

การเทคฮอร์โมนสำหรับหญิงข้ามเพศ (Feminizing hormone therapy) เป็นการเพิ่มฮอร์โมนเพศหญิงเข้าสู่ร่างกาย พร้อมกับให้ยากดฮอร์โมนเพศชายที่มีตามเพศสภาพให้ลดลง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากการเทคฮอร์โมนในกลุ่มนี้จะทำให้สรีระร่างกายใกล้เคียงเพศหญิงมากขึ้น เช่น มีหน้าอก เสียงเล็กแหลมขึ้น หนวดเคราน้อยลง กล้ามเนื้อเล็กลง เป็นต้น

การเทคฮอร์โมนสำหรับชายข้ามเพศ (Trans man)

การเทคฮอร์โมนสำหรับชายข้ามเพศ (Masculinizing hormone therapy) เป็นการให้ฮอร์โมนเพศชายเพิ่มเข้าสู่ร่างกาย และลดการสร้างหรือหลั่งฮอร์โมนเพศหญิงที่มีตามเพศสภาพให้น้อยลง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากการเทคฮอร์โมนของผู้ชายข้ามเพศจะทำให้สรีระมีความเป็นชายมากขึ้น เช่น ขน หนวด เคราดกและหนาขึ้น เสียงทุ้มและหนา กล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้น ไขมันบางส่วนในร่างกายลดลง การตกไข่ค่อย ๆ ลดลงจนประจำเดือนค่อย ๆ ขาดหายไป เป็นต้น

 

ปรึกษาเรื่องการเทคฮอร์โมนหรือปัญหาเรื่องเพศทางเลือกอื่น ๆ กับแพทย์ที่แอป BeDee สะดวก ไม่ต้องเดินทาง เป็นส่วนตัว

การเทคฮอร์โมน มีกี่แบบ

ประเภทการเทคฮอร์โมน

การเทคฮอร์โมนเพื่อปรับสรีระให้ตรงกับความต้องการนั้นมีทั้งหมด 3 รูปแบบ ได้แก่การเทคฮอร์โมนแบบรับประทาน การเทคฮอร์โมนแบบฉีด และการเทคฮอร์โมนแบบทา ซึ่งแต่ละรูปแบบก็มีข้อเด่นและข้อจำกัดต่างกัน ดังนี้

เทคฮอร์โมนแบบรับประทาน

เทคฮอร์โมนแบบรับประทานจะอยู่ในรูปของยาเม็ด ซึ่งยาอาจประกอบไปด้วยฮอร์โมนเพศตรงข้ามที่ต้องการเพิ่มเติม และยาลดการทำงานของฮอร์โมนเพศเดิม ทำให้ลักษณะทางสรีระของเพศเดิมค่อย ๆ ลดลงไป 

โดยข้อดีของการเทคฮอร์โมนแบบรับประทานคือสามารถรับประทานได้เอง ไม่เจ็บตัว แต่ก็เป็นวิธีที่ให้ผลลัพธ์แบบค่อยเป็นค่อยไป และยังมีข้อจำกัดคือจะต้องรับประทานอย่างสม่ำเสมอ และต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้ชำนาญการเท่านั้น เพราะการปรับเปลี่ยนฮอร์โมนในร่างกายอาจส่งผลต่อสุขภาพด้านอื่น ๆ ได้ในระยะยาว

เทคฮอร์โมนแบบฉีด

การเทคฮอร์โมนแบบฉีดจะส่งผลให้ระดับฮอร์โมนถึงระดับเป้าหมายได้เร็วกว่าการเทคฮอร์โมนแบบยาเม็ดรับประทาน เพราะตัวยาฮอร์โมนจะเข้าสู่กระแสเลือดได้โดยตรง โดยมี 2 รูปแบบคือยาฉีดระยะสั้นและยาฉีดระยะยาว ซึ่งทั้งสองรูปแบบก็ยังมีข้อแตกต่างกันดังนี้

  • ยาฉีดระยะสั้น เป็นรูปแบบยาที่ออกฤทธิ์ในช่วงเวลาสั้น ๆ โดยการออกฤทธิ์จะค่อย ๆ เพิ่มระดับฮอร์โมนสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกแล้วค่อย ๆ ลดระดับลงมาภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งยากลุ่มนี้จะต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อเทคฮอร์โมนบ่อย ๆ แต่ข้อดีคือราคาค่อนข้างต่ำ และสามารถปรับระดับฮอร์โมนได้ง่ายกว่า
  • ยาฉีดระยะยาว เป็นรูปแบบยาที่ออกฤทธิ์ได้ยาวนาน โดยระดับฮอร์โมนจะค่อย ๆ สูงขึ้นเรื่อย ๆ แล้วจะค่อย ๆ ลดลงช้า ๆ ในช่วงเวลาประมาณ 3 เดือน ซึ่งยากลุ่มนี้มีราคาค่อนข้างสูง ปรับระดับฮอร์โมนยากกว่า แต่เพราะตัวยาออกฤทธิ์ได้นานทำให้ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลมาเทคฮอร์โมนบ่อย ๆ แถมระดับฮอร์โมนจะค่อนข้างคงที่ ไม่สวิง

เทคฮอร์โมนแบบทาผิวหนัง

การเทคฮอร์โมนแบบทาผิวหนังเป็นรูปแบบเทคฮอร์โมนที่สะดวก ไม่ต้องเจ็บตัวจากการฉีดยา หรือต้องมารับประทานยาเม็ด แต่จะใช้วิธีการทาบนผิวหนังที่ไม่มีขนหนาปกคลุมเพื่อให้ตัวยาฮอร์โมนสามารถซึมเข้าสู่ผิวและเข้าสู่กระแสเลือดได้ดี ซึ่งส่วนใหญ่บริเวณหน้าท้อง ต้นแขน หรือต้นขาจะเป็นบริเวณที่นิยมทากัน 

 

ข้อดีสำหรับการเทคฮอร์โมนแบบทาคือสะดวก ไม่ต้องกินไม่ต้องฉีด ให้ทาบนผิวเหมือนกับทาครีมบำรุงในทุก ๆ วัน แต่ตัวยานั้นมีระยะการออกฤทธิ์ที่สั้นและมีราคาสูงเมื่อเทียบกับการเทคฮอร์โมนแบบอื่น ๆ 

 

ปรึกษาเรื่องการใช้ยาฮอร์โมนกับเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวันถึงเที่ยงคืน ไม่มีค่าปรึกษา

คุณสมบัติของผู้ที่ต้องการเทคฮอร์โมน มีอะไรบ้าง

การเทคฮอร์โมนนั้นจำเป็นต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ เนื่องจากร่างกายของแต่ละคนอาจจะเหมาะหรือไม่เหมาะสมกับการเทคฮอร์โมนแตกต่างกันไป ผู้ที่สามารถรับฮอร์โมนเพิ่มเติมได้โดยทั่วไปควรมีคุณสมบัติดังนี้

  • ผู้ที่อายุตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์เป็นต้นไป หากเป็นผู้ที่อายุ 18-20 ปี ต้องมีเอกสารเซ็นยินยอมในการเทคฮอร์โมนโดยผู้ปกครองเป็นลายลักษณ์อักษรตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมเรื่องเกณฑ์การรักษาเพื่อแปลงเพศ พ.ศ.2552
  • จะต้องผ่านการประเมินจากจิตแพทย์จำนวน 2 ท่านเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า เป็นผู้ที่มีภาวะ Gender dysphoria (GD) หรือภาวะไม่พึงพอใจกับสรีระเดิมของตนเอง แต่จะต้องไม่ใช่ผู้ที่มีปัญหาทางจิตเวช
  • ผ่านการตรวจสุขภาพกายมาแล้วว่าจะไม่มีปัญหาทางสุขภาพเพิ่มในภายหลัง เช่น การตรวจวัดระดับฮอร์โมนในเลือด การตรวจมะเร็ง ไขมันในเลือด น้ำตาลในเลือด และการตรวจอื่น ๆ อีกมากมาย
  • ไม่มีประวัติแพ้ยา
  • กรณีเป็นชายข้ามเพศจะต้องไม่ตั้งครรภ์

 

การเตรียมตัวก่อนเทคฮอร์โมน 

อยากเทคฮอร์โมน เตรียมตัวอย่างไร

เมื่อผ่านการตรวจประเมินจากจิตแพทย์เป็นที่เรียบร้อยแล้วและมีคุณสมบัติที่เหมาะสมแก่การรับฮอร์โมนควรเตรียมตัวดังนี้

  • ดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิต เตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงจากฮอร์โมน
  • ศึกษาเรื่องผลกระทบและผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากการเทคฮอร์โมน

การเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่อเทคฮอร์โมน 

เมื่อเข้ารับการเทคฮอร์โมนกับแพทย์เป็นที่เรียบร้อย โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเริ่มเห็นผลลัพธ์ไปประมาณ 3-6 เดือนหลังเทคฮอร์โมน โดยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีดังนี้

การเปลี่ยนแปลงหลังรับการเทคฮอร์โมนสำหรับหญิงข้ามเพศ 

  • สรีระโดยรวมดูเล็กลง
  • กล้ามเนื้อเล็กลง
  • ขนตามร่างกายน้อยลง
  • เสียงเล็กแหลมขึ้น
  • หน้าอกใหญ่ขึ้น
  • มีไขมันสะสมใต้ผิวมากขึ้น 
  • ขนาดขององคชาต อัณฑะเล็กลง และส่งผลให้องคชาตแข็งตัวยากขึ้น 
  • อารมณ์ทางเพศลดลง
  • ปัญหาผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้านที่เกิดจากฮอร์โมนน้อยลง

การเปลี่ยนแปลงหลังรับการเทคฮอร์โมนสำหรับชายข้ามเพศ

  • เสียงแตกหนุ่มขึ้น
  • กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น
  • มีขนตามร่างกายมากขึ้น
  • ผิวมัน อาจมีสิวขึ้นง่าย
  • ไข่ตกน้อยลง ประจำเดือนมาน้อยลง จนค่อย ๆ หมดประจำเดือน
  • อาจมีอารมณ์ทางเพศมากและบ่อยขึ้น
  • อาจพบปัญหาผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้านจากฮอร์โมนเพศชายได้

การตรวจติดตามหลังเทคฮอร์โมน

หลังจากเริ่มเทคฮอร์โมนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต้องเข้ามาตรวจติดตามผลกับแพทย์ว่าการเทคฮอร์โมนเหมาะสมสำหรับร่างกายหรือไม่ หากระดับฮอร์โมนไม่เหมาะสมอาจต้องปรับยาและวางแผนการรักษาใหม่ โดยเกณฑ์ที่มักตรวจหลังเทคฮอร์โมนมีดังนี้

  • การตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมน ค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การทำงานของตับ ระดับไขมันระดับน้ำตาลในเลือด ระดับความดันโลหิต เป็นต้น
  • ตรวจวัดความหนานแน่นมวลกระดูกเมื่อเริ่มใช้ฮอร์โมน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น หญิงข้ามเพศที่เริ่มเทคฮอร์โมนตั้งแต่วัยรุ่น
  • การประเมินลักษณะการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก 
  • การตรวจคัดกรองมะเร็ง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลําไส้ใหญ่ และมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น เนื่องมะเร็งดังกล่าวมีความไวและเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน

 

การตรวจสุขภาพหลังเทคฮอร์โมนนั้นแพทย์จะนัดทุก ๆ 3-6 เดือนในปีแรก และทุก ๆ 6-12 เดือนในปีอื่น ๆ เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงขึ้น หากพบผลไม่พึงประสงค์จากการเทคฮอร์โมนจะได้สามารถปรับแผนการรักษาได้ทันท่วงที

ผลข้างเคียงจากการเทคฮอร์โมน 

หลังจากเทคฮอร์โมนแล้วอาจพบผลข้างเคียงดังนี้

  • มวลกระดูกลดลง อาจนำไปสู่ปัญหากระดูกพรุน กระดูกเปราะ
  • เสี่ยงต่อการเกิดภาวะไขมันในเลือดสูง
  • เสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน
  • เลือดอาจข้นหนืดขึ้น
  • เสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น
  • อารมณ์ไม่คงที่ และอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า

ข้อควรระวังเมื่อเทคฮอร์โมน 

เทคฮอร์โมน ผลข้างเคียง

ก่อนจะตัดสินใจปรับสรีระให้ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศจะต้องคำนึงถึงข้อควรระวังอะไรบ้าง?

  • สุขภาพกาย เพราะการที่เทคฮอร์โมนเพศตรงข้ามเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบต่าง ๆ ในร่างกาย
  • สุขภาพจิตใจ เพราะฮอร์โมนส่งผลต่ออารมณ์ การที่ร่างกายมีระดับฮอร์โมนไม่คงที่ทำให้อารมณ์แปรปรวนง่ายขึ้น และอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า
  • หากตัดสินใจเทคฮอร์โมนแล้ว จะต้องมีวินัยในการรับยา หากได้รับยาไม่สม่ำเสมออาจทำให้ได้ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้

 

ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนโครงสร้างร่างกายให้ตรงกับเพศทางจิตใจแล้ว แต่อาจต้องรับผลอื่นจากฮอร์โมนเพศนั้น ๆ มาด้วย เช่น ปัญหาผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้าน สิวอักเสบ หรือสิวอุดตันมากขึ้นในเพศชาย

Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการเทคฮอร์โมน 

1. จำเป็นต้องเทคฮอร์โมนไปตลอดชีวิตหรือไม่?

หากต้องการให้โครงสร้างร่างกายตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศหรือเพศทางจิตใจจะต้องเทคฮอร์โมนเพศตรงข้ามไปตลอดชีวิต เพราะร่างกายของเราไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเพศตรงข้ามได้มากพอจนแสดงลักษณะของเพศตรงข้ามได้ชัดเจน ถึงแม้ว่าจะได้รับยากดฮอร์โมนเพศเดิมแล้วก็ตาม

2. เทคฮอร์โมนด้วยตนเองได้ไหม?

ไม่สามารถปรับระดับฮอร์โมนในร่างกายด้วยตนเองได้ จำเป็นต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญประเมินและวางแผนการรักษาเท่านั้น เนื่องจากฮอร์โมนไม่ได้ส่งผลต่อสรีระทางร่างกายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อสุขภาพโดยรวมของร่างกายอีกด้วย

3. ผ่าตัดหน้าอกจำเป็นต้องหยุดเทคฮอร์โมนไหม?

ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดหน้าอก หรือจะเป็นการผ่าตัดรูปแบบไหนก็ตาม ก่อนเข้ารับการผ่าตัดจะต้องปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง เพราะส่วนใหญ่แล้วยาฮอร์โมนอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด แพทย์จึงมักจะพิจารณาให้หยุดเทคฮอร์โมนก่อนผ่าตัดประมาณ 4-6 สัปดาห์

4. เทคฮอร์โมนแล้วสามารถมีลูกได้ไหม? 

การเทคฮอร์โมนสามารถทำให้เกิดภาวะเป็นหมันได้ แต่ในปัจจุบันยังไม่ทราบระยะเวลาที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นหมัน

5. ยาคุมกำเนิดช่วยในการข้ามเพศหรือไม่?

ยาคุมกำเนิดสามารถช่วยในการข้ามเพศได้น้อยมาก เนื่องจากปริมาณฮอร์โมนของยาคุมกำเนิดค่อนข้างต่ำ และใช้เพื่อคุมกำเนิดหรือลดอาการปวดประจำเดือนของเพศหญิงเท่านั้น แต่สำหรับหญิงข้ามเพศจำเป็นต้องใช้ปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สูงมาก

6. ผู้ที่กำลังเทคฮอร์โมนสามารถบริจาคเลือดได้หรือไม่?

ผู้ที่เทคฮอร์โมนไม่สามารถบริจาคเลือดได้ เนื่องจากผู้ที่เทคฮอร์โมนจะมีปริมาณฮอร์โมนในเลือดสูงและอาจพบปริมาณสเตียรอยด์ในเลือดซึ่งเกิดจากตัวยาเทคฮอร์โมน ทำให้เลือดที่บริจาคมาไม่สามารถนำไปใช้ได้ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของสภากาชาดไทย

สรุป เทคฮอร์โมน คืออะไร สำคัญกับคนข้ามเพศอย่างไร

การเทคฮอร์โมนเป็นหนึ่งในวิธีที่ทำให้สรีระร่างกายของเราตรงกับอัตลักษณ์เพศมากขึ้น แต่การเทคฮอร์โมนนั้นจำเป็นต้องผ่านการประเมินจากแพทย์และจิตแพทย์ นอกจากนี้ผู้ที่ต้องการเทคฮอร์โมนจำเป็นต้องทราบผลข้างเคียง และข้อควรระวังก่อน ที่สำคัญจะต้องเทคฮอร์โมนโดยอยู่ในการดูแลของแพทย์ผู้ชำนาญการเท่านั้นเพื่อความปลอดภัย

ปรึกษาหมอออนไลน์ พยาบาล หรือปรึกษาเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เรามีแพทย์ จิตแพทย์ และเภสัชกรพร้อมให้คำปรึกษาและจัดส่งสินค้าถึงมือ เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS

 

Content powered by BeDee Expert

ภก. ธวัชชัย กิจการพัฒนาเลิศ

เภสัชกร

 

 

Gardner, Ivy H. Safer, Joshua D. (2013). Progress on the road to better medical care for transgender patients. Current Opinion in Endocrinology & Diabetes and Obesity, 20(6): 553-558. DOI: 10.1097/01.med.0000436188.95351.4d 

 

Mayo Clinic Staff. (2023, February 21). Masculinizing hormone therapy. Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/masculinizing-hormone-therapy/about/pac-20385099

 

Unger CA. (2016). Hormone therapy for transgender patients. Translational andrology and urology, 5(6): 877–884. https://doi.org/10.21037/tau.2016.09.04

บทความที่เกี่ยวข้อง

Key Takeaways โรคซิฟิลิส (Syphilis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum ติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือการสัมผัสสารคัดคลั่งของผู้ติดเชื้อ  มักพบแผลริมแข็ง กดแล้วไม่เจ็บบริเวณอวัยวะเพศ  หากปล่อยไว้นานอาการอาจหายไปจนผู้ป่วยคิดว่าหายเป็นปกติ แต่เชื้อยังแฝ

Key Takeaways เมื่อมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง ควรป้องกันโรคติดต่อและการท้องไม่พร้อม ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยและยาคุมกำเนิด  ปัจจัยเสี่ยงในการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรคือ อาจทำให้เนื้อเยื่อในช่องคลอดฉีกขาด เนื่องจากร่างกายยังไม่พร้อมต่อการมีเพศสัมพันธ์ เมื่