สิว

ปัญหาผิวเรื่องใหญ่ของหลายคนไม่ว่าจะเพศอะไรคงหนีไม่พ้นเรื่องของ “สิว” ปัญหาเรื้อรังที่จัดการได้ยาก ทำลายความมั่นใจ พอหายแล้วก็ยังทิ้งรอยสิวและหลุมสิวไว้อีกนาน หลายคนอยากมีผิวขาว ดูมีสุขภาพดี จึงหมั่นรับประทานวิตามินซี และวิตามินบำรุงผิวอื่น ๆ แต่ไม่ว่าจะดูแลผิวอย่างไรก็ยังมีสิวขึ้นอยู่เรื่อย ๆ แบบไม่ทราบสาเหตุ และหากดูแลรักษาสิวไม่ดีก็อาจเกิดริ้วรอยตามมาได้ จริง ๆ แล้วสาเหตุของการเกิดสิวนั้นมีอะไรบ้าง สิวแบ่งออกเป็นกี่ประเภทและควรรักษาอย่างไร

สารบัญบทความ

สิวคืออะไร


สิว (Acne) คือภาวะความผิดปกติที่รูขุมขนและต่อมไขมันจากสาเหตุต่าง ๆ จนทำให้เกิดการอุดตันและทำให้เกิดสิวตามมา อย่างที่เราทราบกันดีว่าสิวมีหลายประเภท ในบางรายอาจเกิดเป็นสิวอักเสบ สิวหัวช้าง สิวหัวหนอง สิวผด หรือสิวไม่มีหัว โดยสิวมักเกิดขึ้นบริเวณผิวหนังที่มีต่อมไขมันมาก เช่น ใบหน้า หลัง หน้าอก คอ ไหล่ หรือต้นแขน สิวสามารถพบได้ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ และมักพบมากในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

สาเหตุและปัจจัยของการเกิดสิว

สิวเกิดจากอะไร
  1. ฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในช่วงวัยรุ่น โดยเฉพาะฮอร์โมนแอนโดรเจนในเพศชาย โดยฮอร์โมนนี้จะกระตุ้นทำให้ต่อมไขมันใหญ่ขึ้นและผลิตไขมันมากขึ้น เมื่อไขมันที่ถูกผลิตออกมาทางผิวหนังผสมกับแบคทีเรียหรือสิ่งสกปรกภายนอกผิวหนังก็จะทำให้เกิดการอุดตัน เกิดเป็นสิวฮอร์โมน สิวอักเสบ สิวหัวหนอง บวม นูน เป็นตุ่มแดง นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในสตรีตั้งครรภ์ ช่วงมีประจำเดือน หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น โรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (Polycystic ovary syndrome หรือ PCOS) สามารถทำให้เกิดสิวได้เช่นกัน 
  2. กรรมพันธุ์ พบว่าหากคนในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ เคยเป็นสิวมากในช่วงวัยรุ่น อาจส่งผลให้ลูกมีสิวมากในช่วงวัยรุ่นเช่นกัน 
  3. อาหาร อาหารบางชนิด เช่น อาหารทอด อาหารมัน ช็อกโกแลต นม และอาหารที่มีน้ำตาลสูงอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดสิวในบางรายได้ ทั้งนี้ควรหมั่นสังเกตตัวเอง
  4. เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ผลิตภัณฑ์บางอย่างที่เราใช้ ไม่ว่าจะใช้บริเวณใบหน้าหรือลำตัวอาจมีส่วนผสมที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง มีสีหรือน้ำหอม หรือแม้กระทั่งยาสระผม ก็สามารถทำให้เกิดสิวได้
  5. ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต่อมไขมันทำงานมากขึ้น
  6. การใช้ยาบางชนิด เช่น  สเตียรอยด์
 
ปรึกษาเรื่องสิวกับแพทย์ผิวหนังที่แอป BeDee สะดวก ไม่ต้องเดินทาง ไม่มีค่าจัดส่งยา

สิวเกิดที่บริเวณใดได้บ้าง

1. สิวที่หน้าผาก 

สิวขึ้นหน้าผากพบได้บ่อยเนื่องจากเป็นส่วนที่มีเหงื่อออกเยอะ และเป็นบริเวณที่มีรูขุมขนและเป็นแหล่งผลิตน้ำมันบนใบหน้าเยอะจึงมีความมันมากกว่าบริเวณอื่นบนใบหน้า บางคนมีผมหน้าม้าหรือลูกผมอาจทำให้สิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่อยู่กับเส้นผมหรือฝุ่น ควัน มลภาวะ มาสัมผัสบริเวณหน้าผากได้เช่นกัน

2. สิวที่คาง

สิวขึ้นคางเป็นปัญหาของคนส่วนใหญ่เลยก็ว่าได้ เนื่องจากคางเป็นจุดที่ผิวหนังผลิตน้ำมันออกมามาก นอกจากนี้บริเวณคางยังเป็นจุดที่สัมผัสกับมือของเราบ่อยโดยไม่รู้ตัว เช่น การเท้าคาง การเกา หรือเสียดสีกับหน้ากากอนามัย จึงทำให้เกิดสิ่งสกปรกสะสมจนทำให้สิวขึ้นคางได้ในที่สุด

3. สิวที่คอ

สิวที่คอมักเกิดจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้ดูแลเส้นผม รวมถึงเหงื่อไคล สิ่งสกปรกที่เกาะอยู่กับเส้นผม ทำให้เมื่อเส้นผมสัมผัสคลออยู่บริเวณคอจึงทำให้เกิดสิวที่คอได้ หรือในบางคนอาจเกิดจากการแพ้ฝุ่นและมลภาวะทางอากาศได้เช่นกัน เนื่องจากคอของเราเป็นส่วนอยู่บริเวณนอกร่มผ้า จึงทำให้มีสิวผดขึ้นได้ง่าย

4. สิวที่แก้ม

สิวที่แก้มเรียกได้ว่าเป็นบริเวณที่หลายคนมักเป็นสิวรุนแรง เนื่องจากแก้มมักเป็นจุดที่สัมผัสกับหลายสิ่ง ทั้งเส้นผม หน้ากากอนามัย ปลอกหมอน โทรศัพท์มือถือ ดังนั้นผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย หรือมีสิวที่แก้มบ่อยควรหมั่นเปลี่ยนหรือซักผ้าขนหนูสำหรับเช็ดหน้ารวมถึงปลอกหมอนทุกอาทิตย์เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดสิวที่แก้ม

5. สิวที่จมูก

สิวที่บริเวณจมูกหรือที่หลายคนเรียกว่า “สิวเสี้ยน” นั้นคือเส้นขนที่จับตัวกับต่อมไขมันและสิ่งสกปรกต่าง ๆ จนทำให้เกิดจุดขาว ๆ ลักษณะคล้ายสิวขึ้นที่บริเวณปลายจมูก

6. สิวที่ปาก

สิวที่ปากหรือสิวบริเวณรอบ ๆ ริมฝีปากสามารถเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับสิวบริเวณอื่น ๆ แต่สิวที่ปากโดยมากมักเกิดจากคราบอาหารหรือการดูแลความสะอาดไม่ดีพอ นอกจากนี้สิวที่ปากสามารถเกิดจากการแพ้ยาสีฟัน ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการดูแลช่องปากต่าง ๆ ลิปสติก หรือการใส่หน้ากากอนามัยได้ด้วยเช่นกัน หรือแม้แต่คุณผู้หญิงที่อยู่ในช่วงใกล้มีประจำเดือน หรืออยู่ในช่วงมีประจำเดือน อาจพบว่ามีสิวที่ปากได้บ่อยเนื่องจากฮอร์โมนในช่วงนี้นั่นเอง

7. สิวที่หลัง

สิวที่หลังเรียกได้ว่าเป็นปัญหายอดฮิตของหลายคน แผ่นหลังเป็นส่วนหนึ่งที่มีความมันและยากต่อการดูแลและทำความสะอาด เป็นส่วนที่มีเหงื่อออกง่าย อยู่ในร่มผ้าและเกิดการอับชื้นได้บ่อยจึงเป็นจุดที่ทำให้เกิดสิวที่หลังได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจากฮอร์โมนและกรรมพันธุ์ได้เช่นกัน

ประเภทของสิว

ประเภทของสิว

1. สิวหัวดำ

สิวหัวดำ (Blackheads) เป็นสิวหัวเปิดประเภทหนึ่งที่สามารถมองเห็นหัวสิวได้ สิวหัวดำเกิดจากน้ำมันส่วนเกินและเซลล์ที่ตายแล้วอุดตันที่รูขุมขนแล้วทำปฏิกิริยา Oxidation ทำให้หัวสิวกลายเป็นสีดำ

2. สิวหัวช้าง

สิวหัวช้าง (Nodule) คือลักษณะสิวเป็นก้อนนูนขนาดใหญ่ ไม่มีหัว เมื่อกดจะรู้สึกเจ็บมาก สิวหัวช้างเกิดจากการอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียที่เจริญเติบโตบริเวณผิวหนังซึ่งสิวหัวช้างรักษาได้ยากกว่าสิวประเภทอื่น ๆ

3. สิวอักเสบ

สิวอักเสบ (Inflammatory acne) คือ สิวอุดตัน โดยมีแบคทีเรีย Cutibacterium acnes หรือที่รู้จักกันในชื่อ Propionibacterium acnes (P.acnes) เจริญเติบโตอยู่ในตุ่มสิว P.acnes จะดึงเม็ดเลือดขาวเข้ามาในตุ่มสิว ทำให้เกิดการอักเสบ และยังมีเอนไซม์ช่วยในการย่อยน้ำมัน (Sebum) ในตุ่มสิวให้กลายเป็นกรดไขมันที่มีฤทธิ์ส่งผลให้เกิดสิวอักเสบอีกด้วย

4. สิวหัวขาว

สิวหัวขาว (Whiteheads) คือสิวที่มีตุ่มนูนเล็ก ๆ สีขาวหัวปิด ซึ่งเกิดจากการอุดตันของน้ำมันและเซลล์ผิวที่ตายแล้ว หากปล่อยไว้อาจกลายเป็นสิวอักเสบได้

5. สิวผด

หลายคนเข้าใจว่าสิวผด (Acne aestivalis) คือสิวประเภทหนึ่ง จริง ๆ แล้วสิวผดจัดเป็นผื่นประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นจากแสงแดดหรืออาการแพ้ มีลักษณะเป็นผดผื่นเม็ดเล็ก ๆ ขึ้นเป็นจำนวนมากบนใบหน้า บางคนอาจมีอาการคันร่วมด้วย สิวผดมักไม่มีหนอง เมื่อสัมผัสแล้วรู้สึกสากเหมือนเม็ดทราย

6. สิวหัวหนอง


สิวหัวหนอง (Pustules) คือสิวที่มีลักษณะเป็นตุ่มแดงขนาดใหญ่ บวม มีหนอง สิวหัวหนองเกิดจากการติดเชื้อที่รูขุมขนจึงเกิดเป็นตุ่มหนอง

วิธีรักษาสิว

สิวที่ไม่รุนแรง

ในกรณีที่เป็นสิวในระดับเล็กน้อยไม่รุนแรง เช่น สิวผด สิวอุดตัน สามารถทายารักษาสิว เช่น กลุ่ม Benzoyl Peroxide หรือยาทากลุ่ม Retinoid เพื่อบรรเทาอาการสิวเบื้องต้นได้ 

สิวอักเสบปานกลาง – มาก 

สำหรับสิวที่มีการอักเสบในระดับปานกลางถึงมากสามารถใช้ยาทาปฏิชีวนะแต้มเฉพาะจุดที่เป็นร่วมด้วย ไม่ควรใช้เฉพาะยาปฏิชีวนะเดี่ยว ๆ เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการดื้อยาได้ หากเป็นสิวในระดับรุนแรงแพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะหรือกลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอชนิดรับประทานร่วมด้วย

 

ปรึกษาวิธีการรักษาสิวกับแพทย์ผิวหนังที่แอป BeDee สะดวก ไม่ต้องเดินทาง ไม่มีค่าจัดส่งยา

การดูแลตนเองเมื่อเป็นสิว

  1. รักษาความสะอาดใบหน้าหรือส่วนที่เกิดสิวให้แห้งสะอาดอยู่เสมอ ไม่ควรปล่อยให้เกิดการหมักหมมของเหงื่อและความมัน หลีกเลี่ยงการแต่งหน้าในช่วงที่เป็นสิวมากเพราะอาจทำให้เกิดการอุดตันและทำให้สิ่งสกปรกสะสมได้ 
  2. ทายา ครีมรักษาสิว หรือรับประทานยารักษาสิวตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ
  3. ไม่ซื้อยาฮอร์โมน ยาคุมกำเนิด หรือยาสเตียรอยด์มารับประทานเองโดยเด็ดขาด

ปรึกษาเรื่องยารักษาสิวกับเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวันถึงเที่ยงคืน ไม่มีค่าปรึกษา !

วิธีป้องกันสิว

 

  1. ดูแลรักษาความสะอาดใบหน้าหรือส่วนที่เกิดสิว ให้แห้งสะอาดอยู่เสมอ ไม่ควรปล่อยให้เกิดการหมักหมมของเหงื่อและความมัน นอกจากอาบน้ำทั้งเช้าและเย็นแล้วยังควรอาบน้ำทำความสะอาดหลังออกกำลังกายทันทีเพื่อไม่ให้เกิดการหมักหมมของสิ่งสกปรก

  2. พักผ่อนให้เพียงพอ การพักผ่อนเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับร่างกาย รวมถึงผิวพรรณ ขณะที่นอนหลับร่างกายจะมีการซ่อมแซมระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย มีการสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาแทนที่เซลล์เก่าในร่างกาย ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ลดรอยคล้ำใต้ดวงตา ผิวสว่างกระจ่างใส ตรงข้ามกับคนที่นอนดึกหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ ผิวหนังจะเกิดริ้วรอยและสิวได้ง่าย ผิวไม่สดใส ไม่เต่งตึง

    การนอนหลับที่ดี คือ การนอนหลับที่ครบทั้งระยะเวลาและคุณภาพ แม้เราจะนอนครบ 6-8 ชั่วโมงแต่เข้านอนดึกมากเกินไป หรือนอนหลับไม่สนิม ย่อมไม่ดีต่อสุขภาพแน่นอน ซึ่งช่วงเวลาที่ควรเข้านอนมากที่สุด คือ ตั้งแต่ 20.00-22.00 น.
     
  3. รับประทานผักผลไม้ อยากมีผิวสุขภาพดี แน่นอนว่าอาหารมีผลอย่างมาก นอกจากการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่แล้ว สิ่งที่ควรเน้นเลยก็คือ ผักและผลไม้ที่มีแร่ธาตุและวิตามิน ควรรับประทานให้หลากหลาย แต่ด้วยการใช้ชีวิตประจำวันในปัจจุบันอาจทำให้การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในแต่ละวันเป็นเรื่องยาก สามารถเสริมได้ด้วยการรับประทานวิตามินและอาหารเสริมที่ได้มาตรฐาน เชื่อถือได้ ควรมีแพทย์และเภสัชกรคอยให้คำแนะนำอย่างชัดเจน 

  4. ออกกำลังกาย ลองสังเกตว่าเวลาเราออกกำลังกายผิวหน้าของเราจะดูดีเปล่งปลั่งขึ้น เคล็ดลับผิวสุขภาพดีก็คือการออกกำลังกาย เนื่องจากการออกกำลังกายช่วยให้ร่างกายได้รับออกซิเจนมากขึ้น ส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ดี ผิวพรรณก็เปล่งปลั่งสดใส นอกจากนี้เมื่อเราออกกำลังกาย ร่างกายจะขับของเสียออกมาพร้อมกับเหงื่อ เมื่อร่างกายขับของเสียออกมาแล้ว ผิวพรรณก็สดใสตามมาเช่นกัน

  5. หลีกเลี่ยงแสงแดดจัด เนื่องจากการใช้ยารักษาสิวบางชนิดอาจทำให้ผิวหนังไวต่อแสงแดด ควรทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน สำหรับวิธีการเลือกครีมกันแดดนั้น ควรเลือกครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพป้องกันได้ทั้งรังสี UVA และ UVB มีค่า Sun protection factor (SPF) มากกว่า 30 ขึ้นไป อีกทั้งควรเลือกครีมกันแดดที่มีค่า Protection grade of UVA (PA) ที่เหมาะสมขึ้นกับสถานที่และกิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวัน โดยค่า PA สูงสุดคือ 4 ระดับ ซึ่ง PA++++ คือมีค่าประสิทธิภาพการป้องกันรังสียูวีเอสูงที่สุด นอกจากนี้ยังควรเลือกครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพในการกันน้ำและกันเหงื่อด้วย เพื่อให้อยู่กับผิวหนังได้นานยิ่งขึ้น
ป้องกันสิวด้วยครีมกันแดด eucerin

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับสิว 

เป็นสิวแบบไหนจึงควรทานยา? 

โดยทั่วไปการรักษาสิวจะเริ่มต้นด้วยการใช้ยาทาแต่ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีความรุนแรงของสิวตั้งแต่ระดับปานกลางขึ้นไป แพทย์อาจจะพิจารณาเพิ่มยาในรูปแบบรับประทาน

โดยยารักษาสิวรูปแบบรับประทานนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักที่แพทย์มักจะพิจารณาให้ใช้ ได้แก่ ยากลุ่มยาปฏิชีวนะ หรือ Antibiotic ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้รับประทานเมื่อผู้ป่วยใช้ยาทาแล้วไม่ดีขึ้นหรือมีอาการติดเชื้อ เช่น สิวมีอาการบวมแดง มีหนอง 

อีกกลุ่มคืออนุพันธุ์ของกรดวิตามินเอในรูปแบบรับประทาน แพทย์จะพิจารณาจ่ายเมื่อสิวมีอาการระดับรุนแรง เช่น มีสิวอักเสบแดง สิวหนอง สิวหัวช้างจำนวนมาก และมีการอักเสบอยู่นานหรือรักษาด้วยยากลุ่มอื่นแล้วไม่ดีขึ้น ทั้งนี้การรับประทานยาเพื่อรักษาสิวจำเป็นต้องผ่านตรวจวินิจฉัยจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเท่านั้น

สรุปเรื่องสิว

 สิวทำลายความมั่นใจและหากดูแลรักษาไม่ถูกต้องอาจลุกลามและทิ้งร่องรอยเอาไว้ ยากต่อการรักษา การรักษาสิวนั้นควรรักษาให้ตรงจุดโดยผู้เชี่ยวชาญ 

ปรึกษาปัญหาสิวและผิวหนังกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่แอป BeDee ทีมแพทย์และเภสัชกรคุณภาพพร้อมให้คำแนะนำและจัดส่งยาถึงมือทุกวัน สะดวก ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS

 

 

Content powered by BeDee expert

ภญ.นันทวรรณ ภักดีประพันธ์

เภสัชกร

 

เรียบเรียงโดย

กรวรรณ ใจซื่อกุล

  1. Dessinioti, C.; Katsambas, A.D. The role of Propionibacterium acnes in acne pathogenesis: Facts and controversies. Clin. Dermatol. 2010, 28, 2–7.
  2. Lavers, I. (2014). Diagnosis and management of acne vulgaris. Nurse Prescribing, 12(7), 330–336. https://doi.org/10.12968/npre.2014.12.7.330
  3. Draelos, Z. Novel topical therapies in cosmetic dermatology. Curr. Probl. Dermatol. 2000, 12, 235–239.
บทความที่เกี่ยวข้อง

Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังอีกประเภทหนึ่งที่สร้างความรำคาญและสร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิต บา

พูดถึงเรื่องสัญญาณที่บ่งบอกถึงวัยคงหนีไม่พ้นเรื่องของ “ริ้วรอย” เรียกได้ว่าริ้วรอยเป็นศัตรูอย่างหนึ่งของทั้งคุณผู้หญิงหรือแม้แต่ผู้ชาย อย่างไรก็ตามด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันทำให้คนเรารับมือและจัดการกับริ้วรอยได้มากขึ้น มีการพัฒนาและคิดค้นส่วนผสมที่จะช่วยล