ไข้ทับระดู

อาการป่วยในช่วงมีประจำเดือนของผู้หญิงนั้นมีมากมาย หลายคนเรียกได้ว่าร่างกายรวนไปเลยก็ว่าได้ในช่วงมีเมนส์ ไหนจะต้องรับมือกับอาการ PMS ปวดท้อง ปวดหัว ยังมีอาการไข้ทับระดูอีก สำหรับใครที่เคยป่วยเป็นไข้ทับระดูน่าจะเข้าใจกันดีเลยว่าในช่วงนั้นร่างกายจะอ่อนแอ อยากนอนเฉย ๆ เป็นอีกอาการที่ทรมานผู้หญิงอย่างหนึ่งเลยทีเดียว

สารบัญบทความ

ไข้ทับระดู คืออะไร


ไข้ทับระดู คือ อาการป่วยคล้ายไข้หวัดของผู้หญิงที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีรอบเดือนนอกเหนือจากอาการปวดท้องประจำเดือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายของผู้หญิงในช่วงมีประจำเดือนทำให้ร่างกายอ่อนแอลง ภูมิคุ้มกันลดลง จึงทำให้ป่วยได้ง่าย อาการไข้ทับระดูที่สังเกตได้ง่าย ๆ เช่น มีไข้ ปวดหัว อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เป็นต้น

อาการไข้ทับระดู

หลายคนอาจจะสงสัยว่าไข้ทับระดู อาการเป็นอย่างไร ? อาการที่เราเป็นอยู่ใช่อาการไข้ทับระดูหรือไม่ สามารถสังเกตอาการดังนี้ 

  • มีไข้ 
  • ปวดหัว เวียนหัว
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดข้อ
  • ปวดท้องน้อย
  • หนาวสั่น
  • ไอ เจ็บคอ
  • มีน้ำมูก
  • คลื่นไส้
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  • ท้องเสีย

สาเหตุของไข้ทับระดู

ไข้ทับระดู เกิดจากอะไร

ไข้ทับระดู สาเหตุเกิดจากการเปลี่ยนของระดับฮอร์โมนในร่างกายของผู้หญิง กล่าวคือในช่วงไข่ตกระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะต่ำลง และโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ซึ่งทำหน้าที่คล้ายฮอร์โมนจะสูงขึ้น ทำให้เกิดอาการปวดท้องประจำเดือน มีไข้ ท้องเสีย คลื่นไส้ อ่อนเพลีย อ่อนแรง รู้สึกเหมือนมีไข้ อาการไข้ทับระดูทั้งหมดนี้มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนนั่นเอง

ประเภทของไข้ทับระดู

โดยทั่วไปแล้วไข้ทับระดูสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. ไข้ทับระดูทั่วไป

ใครที่เป็นไข้ทับระดูทั่วไปจะมีลักษณะอาการที่สังเกตได้ คือ มีไข้ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง

ปวดหัว เวียนหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดท้องน้อย หนาวสั่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก คลื่นไส้ และท้องเสีย เป็นต้น 

2. ไข้ทับระดูที่มีสภาวะโรคแอบแฝง

สำหรับอาการไข้ทับระดูที่มีสภาวะโรคอื่น ๆ แอบแฝงนั้นกล่าวคือผู้ป่วยอาจเกิดอาการไข้ทับระดูทั่วไปร่วมกับอาการที่แอบแฝงมาด้วย เช่น การติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง บริเวณมดลูก ท่อนำไข่ รังไข่ และเยื่อบุช่องท้องในอุ้งเชิงกราน จนทำให้เกิด “ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ” ผู้ป่วยไข้ทับระดูที่มีสภาวะโรคแอบแฝงมักมีอาการรุนแรงกว่าไข้ทับระดูทั่วไปเพียงอย่างเดียว เช่น มีไข้สูง อ่อนเพลียมาก หนาวสั่น ปวดหัวมาก ปวดหลัง มีประจำเดือนมาก เป็นต้น ผู้ป่วยไข้ทับระดูในกลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์โดยด่วนเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

การรักษาบรรเทา และดูแลตัวเองเมื่อเป็นไข้ทับระดู

ผู้ป่วยที่มีอาการไข้ทับระดู วิธีรักษาอาการไข้ทับระดูเบื้องต้นนั้นมีดังนี้

  1. รับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล หรือยาแก้ปวดกลุ่ม Non-steroidal antiinflammatory drugs หรือ NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen), ไดโคลฟีแน็ก (diclofenac) และอื่น ๆ อย่างไรก็ตามการับประทานยาในกลุ่ม NSAIDs ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น
  2. ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบบริเวณท้องน้อยหากมีอาการปวดท้องประจำเดือน
  3. พักผ่อนให้เพียงพอ
  4. ล้างทำความสะอาดช่องคลอดและอวัยวะเพศด้วยน้ำเปล่า ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาล้างจุดซ่อนเร้นหรือสบู่ 
  5. ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 3-4 ชั่วโมง หรือบ่อยกว่านั้นหากประจำเดือนมามาก

การป้องกันไข้ทับระดู

ไข้ทับระดูป้องกันอย่างไร

เราสามารถป้องกันอาการไข้ทับระดูเบื้องต้นได้ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ 
  2. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นการรับประทานกากใย ผัก ผลไม้ ธัญพืช แป้งไม่ขัดสีเพื่อช่วยในการขับถ่าย นอกจากนี้ยังควรเน้นรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม ปลาตัวเล็ก ถั่วเหลือง เต้าหู้ งาดำ ผักใบเขียว เลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์และอาหารที่ให้ไขมันสูง 
  3. พักผ่อนให้เพียงพอ ควรเข้านอนไม่เกิน 22.00 น. เพื่อให้ร่างกายซ่อมแซมและฟื้นฟูตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  4. ออกกำลังกาย ครั้งละ 20-30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน หรืออย่างน้อย 150 นาที / สัปดาห์ 
  5. หลีกเลี่ยงความเครียด ความวิตกกังวล พยายามหากิจกรรมที่ทำแล้วผ่อนคลาย มีความสุข
  6. ควรพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี อาทิ ตรวจเต้านม ตรวจภายในและตรวจมะเร็งปากมดลูก การตรวจแมมโมแกรม ซึ่งการตรวจในแต่ละบุคคลอาจเป็นไปตามข้อบ่งชี้จากการพิจารณาของแพทย์

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับไข้ทับระดู

ไข้ทับระดูอันตรายไหม?

จริง ๆ แล้วไข้ทับระดูไม่ใช่ภาวะที่อันตราย ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองอยู่ที่บ้าน รับประทานยาแก้ปวด ดื่มน้ำมาก ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอภายใน 1-2 วันอาการก็จะดีขึ้น แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไข้ทับระดูที่มีสภาวะโรคแอบแฝง เช่น เกิดการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง บริเวณมดลูก ท่อนำไข่ รังไข่ และเยื่อบุช่องท้องในอุ้งเชิงกราน จนทำให้เกิด “ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ” โดยผู้ป่วยไข้ทับระดูที่มีสภาวะโรคแอบแฝงมักมีอาการรุนแรงกว่าไข้ทับระดูทั่วไปเพียงอย่างเดียว ผู้ป่วยไข้ทับระดูในกลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์โดยด่วนเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

เป็นไข้ทับระดู กินยาพาราได้ไหม?

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีไข้สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้เบื้องต้นได้ แต่เนื่องจากอาการและร่างกายรวมถึงโรคประจำตัวของผู้ป่วยแต่ละคนแตกต่างกัน ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพิ่มเติมทุกครั้งก่อนใช้ยา

เป็นไข้ทับระดู เป็นกี่วันถึงจะหาย?

โดยปกติแล้วอาการไข้ทับระดูมักจะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังจากประจำเดือนมาหรือ 1-2 วันหลังประจำเดือนมาวันแรก หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติ มีอาการรุนแรง หรือมีอาการไข้ทับระดูนานหลายวัน ควรปรึกษาแพทย์โดยด่วน

ไข้ทับระดูเป็นกี่วัน

สรุปไข้ทับระดูแอบแฝง ภัยเงียบที่อาจไม่รู้ตัว

ไข้ทับระดูอาจแฝงมาด้วยโรคอื่น ๆ รีบปรึกษาหมอออนไลน์หรือปรึกษาเภสัชกร ที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เรามีแพทย์และเภสัชกรพร้อมให้คำปรึกษา เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS

 

 

Content powered by BeDee Expert

ภญ.กมลวรรณ พัดศรีเรือง

เภสัชกร

Sreenivas, S. (2022, April 22). What is period flu? WebMD. https://www.webmd.com/women/pms/period-flu

 

Santos-Longhurst, A. (2019b, July 29). How To Manage the ‘Period Flu’ (Yes, It’s a Thing). Healthline. https://www.healthline.com/health/period-flu#treatment

บทความที่เกี่ยวข้อง

อาการ “คันช่องคลอด” หรือคันอวัยวะเพศหญิง เป็นปัญหาหนักใจของสาว ๆ หลายคน ด้วยอาการคันน้องสาวที่สร้างความรำคาญในการใช้ชีวิตประจำวัน สร้างความไม่มั่นใจ แต่จะไปหาหมอหรือไปซื้อยาก็เขินอาย ไม่มั่นใจว่าควรกินยาหรือใช้ยาอะไรดี สารบัญบทความ อาการคันช่องคลอด อ

ยาคุมฉุกเฉินออกฤทธิ์เปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน เพื่อชะลอการตกไข่ หรือรบกวนการปฏิสนธิไม่ให้เกิดขึ้น อสุจิสามารถมีชีวิตรอดอยู่ภายในร่างกายผู้หญิงได้ประมาณ 48 – 72 ชั่วโมง จึงควรทานยาคุมฉุกเฉินภายในช่วงเวลาดังกล่าว ยาคุมฉุกเฉินไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ไ