Key Highlight กระเพาะปัสสาวะอักเสบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะปัสสาวะโดยเฉพาะเชื้ออีโคไล (Escherichia coli) ที่พบบ่อยที่สุด ผู้ป่วยมักรู้สึกปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะไม่สุด ปวดท้องน้อย ปัสสาวะขุ่น หากมีอาการควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาปฏิชีวนะ สารบ
โรคกระเพาะอาหารอักเสบ ปวดท้องแบบไหนเสี่ยง?
Key Takeaways
- โรคกระเพาะอาหารอักเสบคือภาวะที่เยื่อบุภายในกระเพาะอาหารเกิดการอักเสบหรือระคายเคือง สาเหตุที่พบบ่อยคือการติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter Pylori
- อาการของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ เช่น ปวดท้อง หลังจากกินอาหารหรือขณะท้องว่าง ท้องอืด แน่นท้อง เรอบ่อย มีลมในท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
- หากมีอาการปวดท้อง สงสัยโรคกระเพาะอาหารอักเสบควรรีบปรึกษาแพทย์
โรคกระเพาะอาหารคืออะไร?
โรคกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) คือ ภาวะที่เยื่อบุภายในกระเพาะอาหารเกิดการอักเสบหรือระคายเคือง สาเหตุที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบและแผลในกระเพาะอาหารคือการติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter Pylori ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดท้องโรคกระเพาะแบบเรื้อรัง ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ หรืออาเจียน เป็นต้น
ส่วนโรคกระเพาะอาหารอักเสบแบบเฉียบพลันสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ยาบางชนิด การดื่มสารกัดกร่อน การติดเชื้อบางชนิด หรือความเจ็บป่วยหนักทางด้านร่างกาย โรคกระเพาะอาหารอักเสบอาจวินิจฉัยได้ยากจากการซักประวัติหรือตรวจร่างกาย ผู้ป่วยควรตรวจด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหารหรือตรวจชิ้นเนื้อจึงจะวินิจฉัยได้อย่างแน่ชัด คำว่าโรคกระเพาะอาหารจึงมักถูกใช้เป็นคำรวม ๆ เพื่อเรียกอาการ Dyspeptic Symptoms มากกว่า
โรคกระเพาะอาหารรักษาอย่างไรดี? ปรึกษาคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก ส่งยาถึงที่
อาการของโรคกระเพาะอาหาร
โรคกระเพาะอาหารอาการอาจแตกต่างออกไปตามความรุนแรง โดยทั่วไปแล้วอาการของโรคกระเพาะที่พบบ่อย ได้แก่
- ปวดท้องหรือ แสบกระเพาะอาหาร แสบร้อนที่บริเวณช่องท้องส่วนบนหรือลิ้นปี่ มักเกิดหลังจากกินอาหารหรือขณะท้องว่าง
- ท้องอืด หรือรู้สึกแน่นท้อง
- เรอบ่อย หรือมีลมในท้อง
- คลื่นไส้ และอาเจียน
- อาเจียนเป็นเลือด หรืออุจจาระเป็นสีดำ บ่งบอกถึงอาการเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือระบบทางเดินอาหาร
- เบื่ออาหาร หรือรู้สึกอิ่มเร็วแม้ทานอาหารไม่มาก
- น้ำหนักลด กรณีที่อาการรุนแรงมาก
อาการโรคกระเพาะที่ควรพบแพทย์ทันที
- ปวดท้องกระเพาะรุนแรง ปวดท้องจนทนไม่ไหว
- ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ หรือมีเลือดปนในอุจจาระ
- อาเจียนเป็นเลือด
- น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- คลื่นไส้ อาเจียนต่อเนื่อง
- ท้องอืด แน่นท้องผิดปกติ โดยเฉพาะหากอาการไม่ดีขึ้นหลังจากรับประทานยาหรือปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร
- คลำได้ก้อนบริเวณท้อง หรือคลำได้ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณอื่น
- ตรวจพบร่วมกับอาการซีดโดยไม่ทราบสาเหตุ
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร
โรคกระเพาะเกิดจากอะไร? โดยทั่วไปแล้วโรคกระเพาะอาหารอักเสบเกิดได้จากหลายปัจจัยที่ส่งผลให้เยื่อบุกระเพาะอาหารถูกทำลาย เกิดการระคายเคืองจนกระเพาะอักเสบ เช่น
- การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter Pylori (H. Pylori) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดการอักเสบหรือเป็นแผลในเยื่อบุกระเพาะอาหาร สามารถแพร่เชื้อได้ผ่านทางน้ำลาย อาเจียน อุจจาระ การรับประทานน้ำหรืออาหารร่วมกัน
- การติดเชื้ออื่น ๆ เช่น กลุ่มแบคทีเรีย Enterococci, Mycobacterium หรือ ไวรัสกลุ่ม Cytomegalovirus, Enterovirus
- การทานยากลุ่ม NSAIDs เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน เนื่องจากยากลุ่มนี้จะลดการสร้างสาร Prostaglandin ซึ่งช่วยทำให้กระเพาะสร้างเมือกและสารป้องกันตัวเองจากกรด จึงเกิดการระคายเคืองเยื่อบุกระเพาะอาหาร เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดแผลในกระเพาะอาหารหากใช้เป็นเวลานาน
- โรคทางภูมิคุ้มกัน (Autoimmune Gastritis)
- การดื่มแอลกอฮอล์
- การสูบบุหรี่
- ความเครียดทางร่างกาย เช่น ผู้ป่วยหนัก หรือความเครียดทางจิตใจ เช่น โรคเครียด
- การรับประทานอาหารไม่เป็นเวลาทำให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมาโดยไม่มีอาหารไปช่วยดูดซับ ทำให้เกิดการระคายเคืองได้
- การรับประทานอาหารที่มีกรดหรือมีรสจัด สาเหตุหนึ่งที่ทำให้กรดในกระเพาะอาหารเยอะเกิดจากการทานอาหารรสเผ็ด เปรี้ยว หรืออาหารที่มีกรดสูง
แนวทางการรักษาโรคกระเพาะอาหาร
ปวดท้องกระเพาะกินยาอะไรดี ? ยาแก้ปวดท้องกระเพาะควรกินตัวไหน ? ก่อนอื่นควรทำความเข้าใจถึงวิธีการรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบก่อน แนวทางการรักษาโรคกระเพาะอาหารในปัจจุบันนั้นจะเน้นการรักษาด้วยยาร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อช่วยบรรเทาอาการและป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ
- การรักษาโรคกระเพาะอาหารด้วยยา
- กลุ่มยาลดการสร้างกรด เช่น รานิทิดีน ฟาโมทิดีน โอเมพราโซล และแลนโซพราโซล
- กลุ่มยาลดความเป็นกรดในกระเพาะ เช่น Antacids, Alum milk
- กลุ่มยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ร่วมกับยาลดกรด กรณีที่ตรวจพบการติดเชื้อ H. Pylori
- การปรับพฤติกรรม
- หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มรสเผ็ด เปรี้ยว ของมัน คาเฟอีน แอลกอฮอล์ และอาหารหมักดอง
- แบ่งทานอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ และบ่อยขึ้น เพื่อช่วยลดการหลั่งกรดและป้องกันไม่ให้กระเพาะอาหารว่างนานเกินไป
- ลดหรือหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม Non-steroidal Anti-inflammatory drugs (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen), เมเฟนามิค แอซิด (Mefenamic acid), ไดโคลฟีแนค (Diclofenac), นาพรอกเซน (Naproxen) เป็นต้น เพราะจะทำให้กัดกระเพาะ
- พยายามหลีกเลี่ยงความเครียด เนื่องจากความเครียดสามารถกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร
- พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
- ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ ช่วยบรรเทาอาการและช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากนิโคตินสามารถเพิ่มการหลั่งกรดและทำให้แผลในกระเพาะอาหารหายช้า
ปรึกษาการทานยาโรคกระเพาะและยาอื่น ๆ กับเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวันถึงเที่ยงคืน
ไม่มีค่าปรึกษา ส่งยาถึงที่
การป้องกันโรคกระเพาะอาหาร
โรคกระเพาะอาหารอักเสบนอกจากจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter Pylori (H. Pylori) แล้วยังอาจเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราได้อีกด้วยโดยเฉพาะไลฟ์สไตล์ของคนเราในปัจจุบันที่มักจะรีบเร่ง มีความเครียดความกดดันสูง รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา โรคกระเพาะอาหารอักเสบวิธีป้องกัน ได้แก่
- รับประทานอาหารให้ตรงเวลา
- ไม่ควรงดอาหารเช้า
- รับประทานอาหารช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียด และไม่ควรทานในปริมาณมากจนแน่นท้อง
- หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มรสเผ็ด เปรี้ยว ของมัน คาเฟอีน แอลกอฮอล์ และอาหารหมักดอง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม Non-steroidal Anti-inflammatory drugs (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen), เมเฟนามิค แอซิด (Mefenamic acid), ไดโคลฟีแนค (Diclofenac), นาพรอกเซน (Naproxen) เป็นต้น เพราะจะทำให้กัดกระเพาะ
- พยายามหลีกเลี่ยงความเครียด เนื่องจากความเครียดสามารถกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการโรคกระเพาะอาหาร
1. โรคกระเพาะอาหาร หายขาดได้ไหม?
โรคกระเพาะอาหารอักเสบสามารถรักษาให้อาการสงบได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้ป่วย ผู้ป่วยโรคโรคกระเพาะอาหารอักเสบหลายคนมักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เนื่องจากพฤติกรรมของผู้ป่วยพอรู้สึกว่าอาการหายดีแล้วก็จะกลับมาทานอาหารไม่ตรงเวลาหรือกลับมาทานอาหารไม่เหมาะสมเหมือนเดิม หากมีอาการโรคกระเพาะอักเสบเรื้อรังควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม
2. โรคกระเพาะรักษาเองได้ไหม?
ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคกระเพาะอาหารอักเสบในผู้ป่วยแต่ละราย บางสาเหตุสามารถรักษาด้วยตัวเองได้ด้วยการปรับพฤติกรรมและทานยาลดกรด บางสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ H. pylori ควรได้รับการรักษาที่เฉพาะเจาะจงให้หายขาด แต่หากเป็นโรคกระเพาะรุนแรงหรือเรื้อรัง แนะนำปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจน
3. ปวดท้องหลังกินข้าว ทําไงดี?
อาการปวดท้องหลังกินข้าวเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ แผลในกระเพาะอาหาร หรือกรดไหลย้อน หากมีอาการปวดท้องเบื้องต้นให้ทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย ดื่มน้ำเปล่า งดชา กาแฟ แอลกอฮอล์ อาหารรสเผ็ดหรือเปรี้ยวจัด อาหารรสมัน และปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการเพิ่มเติมเพื่อทำการรักษาต่อไป
สงสัยโรคกระเพาะอาหารหรือมีอาการปวดท้องรีบปรึกษาคุณหมอ
โรคกระเพาะอาหารอักเสบสร้างความลำบากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หากปล่อยไว้อาจลุกลามและยากต่อการรักษามากขึ้น นอกจากนี้อาการปวดท้องยังเกิดได้จากหลายสาเหตุ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาต่อไป
ปรึกษาหมอออนไลน์ นักกำหนดอาหาร พยาบาล และปรึกษาเภสัชกรแบบไม่มีค่าใช้จ่ายบนแอป BeDee ได้ทุกวัน ส่งยาและสินค้าถึงที่ สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
พญ.ภาวิตา คงธนาสมบูรณ์
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
Gastritis – Symptoms and causes. (n.d.). Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/gastritis/symptoms-causes/syc-20355807
Website, N. (2024e, June 19). Gastritis. nhs.uk. https://www.nhs.uk/conditions/gastritis/
Azer SA, Awosika AO, Akhondi H. Gastritis. [Updated 2024 Jun 22]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2024 Jan-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK544250/