วิธีลดผมร่วง

ปัญหา “ผมร่วง” เป็นปัญหาใหญ่ของหลายคนที่แม้จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อร่างกาย ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด แต่ทำให้สูญเสียความมั่นใจเป็นอย่างมาก ผมร่วงพบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แม้ไม่ได้หวีผม สระผม แค่นั่งอยู่เฉย ๆ บางทีผมก็ขาดร่วงไม่หยุด มาทำความเข้าใจสาเหตุ วิธีลดผมร่วง และวิธีรักษาผมร่วงเลย

สารบัญบทความ

ผมร่วงอาการเป็นอย่างไร

อาการ “ผมร่วง” (Hair Loss) คือ การหลุดร่วงของเส้นผมหรือเส้นขนบริเวณอื่น ๆ ในร่างกาย ซึ่งความรุนแรงของอาการผมร่วงอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล จุดที่คนทั่วไปมักสังเกตสัญญาณเตือนอาการผมร่วงได้ เช่น มีผมหลุดร่วงบนหมอนหรือที่นอน ผมขาดร่วงเวลาสระผมซึ่งจะไปรวมกันอยู่ที่บริเวณท่อน้ำ หรือการที่ศีรษะล้านเป็นหย่อม ผมบางลง เป็นต้น

อาการผมร่วงผิดปกติ ที่ควรปรึกษาแพทย์

โดยปกติแล้วเส้นผมของคนเราสามารถหลุดร่วงได้วันละประมาณ 120-160 เส้น หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วเมื่อไหร่อาการผมร่วงของเราจึงเรียกว่าเข้าขั้นผิดปกติต้องรีบพบแพทย์ สำหรับ อาการผมร่วงผิดปกติที่ควรพบแพทย์ เช่น สังเกตเห็นผมร่วงเวลาสระผมเยอะผิดปกติไปจากเดิมหรือประมาณ 70-100 เส้นสำหรับคนที่สระผมทุกวัน และมากกว่า 200 เส้นสำหรับผู้ที่สระผม 3-4 วันครั้ง นอกจากนี้หากสังเกตพบว่ามีผมร่วงเป็นหย่อมบนหนังศีรษะ มีผมร่วงบนหมอนเยอะกว่าปกติ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมก่อนที่ผมจะร่วงมากขึ้น

 

ปรึกษาอาการผมร่วงกับคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก ไม่มีค่าจัดส่งยา

ผมร่วงเกิดจากอะไร

สาเหตุของผมร่วง

สาเหตุหลักในการเกิดผมร่วงมีดังนี้

  1. พันธุกรรม สาเหตุหลักที่ทำให้ผมร่วงคือการที่คนในครอบครัวมีประวัติผมบาง ศีรษะล้าน ผมร่วงจากพันธุกรรมนั้นเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนแอนโดรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายซึ่งส่งผลต่อการเกิดขึ้นของเส้นผมหรือเส้นขนตามร่างกาย อาการผมร่วงที่เกิดขึ้นจากพันธุกรรมนั้นพบได้ทั้งเพศชายและหญิง แต่อาจเกิดขึ้นกับช่วงอายุที่แตกต่างกันไป
  2. อายุ พบว่าเมื่ออายุมากขึ้นร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเพศลดลงทำให้ผมเริ่มหลุดร่วง ผมบางลง โดยเฉพาะหลังช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป เส้นผมจะค่อย ๆ บางลง ในบางรายอาจผมร่วงจนสังเกตเห็นหนังศีรษะได้
  3. การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน เช่น ช่วงตั้งครรภ์ หรือช่วงหลังคลอด วัยทอง การรับประทานยาคุมกำเนิด เป็นต้น
  4. โรค ภาวะความเจ็บป่วย เช่น โรคเครียด บางคนสงสัยว่าทำไมตัวเองจึงผมร่วงเยอะมากทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ หรือทำเคมีกับเส้นผม จริง ๆ แล้วการเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจอย่างรุนแรง การผ่าตัด หนังศีรษะติดเชื้อ โรคดีแอลอีหรือโรคแพ้ภูมิตนเอง และโรคอื่น ๆ สามารถทำให้เกิดผมร่วงได้
  5. การใช้ยารักษาบางชนิด เช่น คีโมผลข้างเคียงซึ่งทำให้ผมร่วง ยารักษาโรคซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิต และยารักษาโรคข้ออักเสบบางชนิด 
  6. น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว
  7. ขาดสารอาหารบางประเภท สาเหตุผมร่วงอีกอย่างหนึ่งก็คือการรับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ เช่น การขาดวิตามินเอ วิตามินบี โปรตีน หรือธาตุเหล็ก เป็นต้น ซึ่งการใช้ชีวิตในปัจจุบันที่เร่งรีบ แข่งกับเวลา และปริมาณงานจำนวนมหาศาลอาจทำให้หลายคนรับประทานอาหารสำเร็จรูป ซึ่งไม่มีสารอาหารที่ครบถ้วนและจำเป็นได้

ประเภทของผมร่วง

ผมร่วงที่เซลล์รากผมถูกทำลาย (Scarring)

อาการผมร่วงที่เกิดจากเซลล์รากผมถูกทำลายมักเกี่ยวข้องกับโรคดังต่อไปนี้

  • โรคเชื้อราที่หนังศีรษะ
  • โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น โรคดีแอลอีหรือโรคแพ้ภูมิตนเอง หรือกลุ่มโรคไลเคน พลาโนพิลาธิส (Lichen planopilaris) หรือโรค LPP
  • โรคที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคหนังศีรษะและต่อมขนอักเสบ (Dissecting cellulitis, Dissecting folliculitis) 
  • โรคที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัส เช่น เริม งูสวัด

 เมื่อผู้ป่วยเกิดอาการผมร่วงจากสาเหตุเหล่านี้จะทำให้เกิดผมร่วงอย่างถาวร ควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมเพื่อหาทางรับมือต่อไป

ผมร่วงที่เซลล์รากผมยังไม่ถูกทำลาย (Non Scarring)

อาการผมร่วงที่เซลล์รากผมยังไม่ถูกทำลายโดยส่วนใหญ่มักเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ทำลายเซลล์รากผมเอง มักไม่ทราบสาเหตุ อาการผมร่วงประเภทนี้สามารถรักษาได้ สาเหตุที่ทำให้เกิดผมร่วงในกลุ่มนี้ ได้แก่

  • กรรมพันธุ์ สาเหตุหลักที่พบว่าทำให้ผมร่วงคือการที่คนในครอบครัวมีประวัติผมบาง ผมร่วง ศีรษะล้านเร็ว อาการผมร่วงที่เกิดขึ้นจากพันธุกรรมนั้นพบได้ทั้งเพศชายและหญิง แต่อาจเกิดขึ้นกับช่วงอายุที่แตกต่างกันไป 
  •  โรคดีแอลอีหรือโรคแพ้ภูมิตนเอง จะทำให้เกิดผมร่วงเป็นหย่อม 
  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน เช่น ช่วงตั้งครรภ์ หรือช่วงหลังคลอด วัยทอง การรับประทานยาคุมกำเนิด เป็นต้น
  • การใช้ยารักษาบางชนิด เช่น การรับคีโมซึ่งทำให้เกิดผลข้างเคียง ยารักษาโรคซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิต และยารักษาโรคข้ออักเสบบางชนิด 
  • น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว
  • อายุ เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเพศลดลงทำให้ผมเริ่มหลุดร่วง ผมบางลง โดยเฉพาะหลังช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป 
  • โรคเครียด

การรักษาผมร่วงทางการแพทย์

วิธีรักษาผมร่วง

การรักษาผมร่วงในทางการแพทย์มีแนวทางการรักษาดังนี้

  1. รักษาด้วยการรับประทานยา กลุ่มตัวยาหลักที่แพทย์ใช้จะมุ่งเน้นลดการออกฤทธิ์ของฮอร์โมน Dihydrotestosterone (DHT) หรือฮอร์โมนเพศชายที่มีส่วนทำให้ผมร่วงบางลง โดยยาที่แพทย์จ่ายจะช่วยให้เส้นผมค่อย ๆ กลับมาขึ้นตามปกติ ใช้ได้ดีกับผู้ป่วยที่เกิดผมร่วงบางลงเนื่องจากสาเหตุทางพันธุกรรม
     
  2. การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น PRP (Platelet-rich Plasma) เข้าไปที่หนังศีรษะเพื่อกระตุ้นการทำงานของสเต็มเซลล์บริเวณรากผม ลดการอักเสบ ช่วยให้รากผมแข็งแรง ลดอาการผมร่วง ผมบาง

  3. ทายากระตุ้นเส้นผม วิธีนี้คล้ายกับการรับประทานยา แต่ให้ผลข้างเคียงที่น้อยกว่า

  4. การทำเลเซอร์กระตุ้นเส้นผม เพื่อกระตุ้นการทำงานของเส้นผมและรากผม ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณหนังศีรษะ ทั้งนี้การใช้เลเซอร์เพื่อรักษาผมร่วงมีหลายรูปแบบ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม

วิธีแก้ผมร่วง และการดูแลรักษาเส้นผมด้วยตัวเอง

วิธีลดผมร่วงด้วยตัวเอง

เรามีวิธีแก้ปัญหาผมร่วงง่าย ๆ ด้วยตัวเองแค่ปรับพฤติกรรม ดังนี้

  1. หวีผมให้ถูกวิธี วิธีแก้ผมร่วงด้วยการดูแลเส้นผมทั้งในผู้ที่ยังไม่มีปัญหาผมร่วงหรือผู้ที่เริ่มมีปัญหาผมร่วงแล้วก็คือการหวีผมให้ถูกต้อง ไม่ควรหวีผมในขณะที่ผมเปียกเพราะจะทำให้ผมร่วงมากยิ่งขึ้น ควรหวีเบา ๆ ไม่กระชากรุนแรงจนทำให้เส้นผมร่วงหรือหนังศีรษะเป็นแผล นอกจากนี้ยังควรเลือกใช้หวีซี่ห่างหรือแปรงที่มีก้านหรือขนนุ่มเพื่อถนอมเส้นผม ช่วยให้ผมเงางาม ไม่พันกัน

  2. ใช้ผ้าขนหนูนุ่ม ๆ หรือผ้าไมโครไฟเบอร์เนื้อนุ่มในการเช็ดผมหลังสระเสร็จ ไม่ควรเช็ดอย่างรุนแรงจนเส้นผมร่วงติดผ้า

  3. ใช้ยาสระผมสูตรอ่อนโยนต่อเส้นผมและหนังศีรษะ ยาสระผมสมุนไพร หลีกเลี่ยงการใช้แชมพูที่มีซิลิโคนหรือสารที่ทำให้เกิดฟองปริมาณมาก
     
  4. หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีรุนแรงกับเส้นผม เช่น การย้อมสีผม ดัด ยืด รวมถึงการใช้ความร้อนกับเส้นผม

  5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะกลุ่มวิตามินแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น 
  • สังกะสี (Zinc) จากเนื้อแดง ไข่ไก่ ธัญพืช ผักผลไม้ อาหารทะเล 
  • วิตามินบี จากถั่วเหลือง ผัก รำข้าว ไข่แดง
  • วิตามินเอ จาก ไข่แดง ผักสีส้ม เหลือง และเขียวเข้ม
ลดผมร่วงด้วย Blackmores Biotin H+

             6. พักผ่อนให้เพียงพอ และพยายามไม่เครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอทำให้ร่างกายอ่อนแอและไม่สามารถฟื้นฟูและซ่อมแซมเซลล์ในร่างกายได้

             7. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่มีสารเคมีมากมายซึ่งจะเข้าไปทำลายผนังเส้นเลือดและระบบไหลเวียนของเลือด ทำลายเซลล์ผมและรากผม ทำลายฮอร์โมนที่จะช่วยฟื้นฟูเส้นผม ผลจากการสูบบุหรี่จึงทำให้เกิดผมร่วงและดูแก่ก่อนวัยนั่นเอง

เรื่องของผมร่วงที่หลายคนมักเข้าใจผิด

  • รับประทานผงชูรสแล้วทำให้ผมร่วงจริงหรือไม่ ?

หลายคนเมื่อเกิดอาการผมร่วงมักจะคิดว่าตัวเองรับประทานผงชูรสมากเกินไปจึงทำให้ผมร่วง โมโนโซเดียมกลูตาเมท (MSG) หรือที่เราเรียกกันว่า “ผงชูรส” นั้น ประกอบด้วยโซเดียมและกรดกลูตามิกซึ่งเป็นแหล่งให้พลังงานกับร่างกาย ช่วยสร้างกรดอะมิโนอื่น ๆ ให้กับร่างกาย และยังเป็นส่วนประกอบของสารกลูตาไธโอน

 

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลในปัจจุบันพบว่าการรับประทานผงชูรส หรือ โมโนโซเดียมกลูตาเมท (MSG) นั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาการผมร่วง ซึ่งองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (USFDA) ได้ประกาศให้ MSG เป็นสารที่ปลอดภัยอีกด้วย

 

  • ใส่หมวกแล้วทำให้ผมร่วง หัวล้าน จริงหรือไม่ ?

จริง ๆ แล้วการสวมหมวกไม่ได้ทำให้ผมร่วงหรือหัวล้าน ยกเว้นในกรณีที่สวมหมวกบ่อย ๆ จนทำให้เกิดเชื้อรา หรือเกิดการติดเชื้ออื่น ๆ จนทำให้เป็นแผลบนหนังศีรษะ จึงอาจทำให้เกิดผมร่วงได้

รู้จักกับวัฏจักรของเส้นผม เข้าใจอาการผมร่วงได้มากขึ้น

วัฏจักรเส้นผม

โดยปกติเส้นผมของเรามีวงจรชีวิตแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะการเจริญเติบโต ระยะหยุดการเจริญเติบโต และระยะพัก ในระยะการเจริญเติบโตซึ่งถือเป็น 80-90% ของวงจรเส้นผม เป็นระยะที่รากผมจะสร้างเซลล์เส้นผมขึ้นทั้งศีรษะโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 3-7 ปี ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมของแต่ละบุคคล เมื่อเส้นผมเจริญงอกงามขึ้นแล้วจะเข้าสู่ระยะหยุดการเจริญเติบโต คือภาวะที่รากผมจะหยุดการแบ่งเซลล์และบริเวณต่อมรากผมจะค่อย ๆ เลื่อนตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ และระยะสุดท้ายคือระยะพัก ซึ่งเป็นระยะที่รากผมจะสร้างเซลล์ผมใหม่ และดันเส้นผมเก่าให้หลุดร่วง

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับผมร่วง

ผมร่วงเยอะมากต้องกินอะไรถึงจะหาย?

โดยทั่วไปแล้วพบว่ายังไม่มีอาหารที่รับประทานแล้วหยุดอาการผมร่วงได้ แต่แพทย์จะเน้นให้ผู้ป่วยที่ผมร่วงรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นที่กลุ่ม

  • โปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ ถั่ว และนม 
  • ไบโอติน เช่น ถั่ว แครอท วอลนัท และดอกกะหล่ำ 
  • ธาตุเหล็ก ได้แก่ เนื้อแดง ตับ เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล ไข่ และธัญพืช ทั้งนี้ในผู้ที่มีปัญหาด้านคอเลสเตอรอลหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ไม่ควรรับประทานอาหารในกลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน
  • Zinc ได้แก่ อาหารทะเล เมล็ดทานตะวัน ถั่วลิสง เนื้อวัว เนื้อแกะ เนื้อหมู และธัญพืช เป็นต้น
  • วิตามินเอ ได้แก่ ผักสีส้ม สีเหลือง สีเขียวเข้ม น้ำมันตับปลา
ลดผมร่วงด้วย Vistra Zinc

สระผมบ่อยทำให้ผมร่วงจริงหรือไม่?

โดยปกติเส้นผมของคนเราสามารถหลุดร่วงได้วันละประมาณ 120-160 เส้นอยู่แล้ว แต่หากสระผม 3-4 วันครั้ง อาจทำให้ผมร่วงได้ถึง 200 เส้นได้เช่นกัน หากพบว่ามีผมร่วงที่พื้นห้องน้ำเยอะไปจากเดิมควรปรึกษาแพทย์ และควรระวังการใช้ความร้อนในการจัดแต่งทรงผมหลังการสระผมด้วย

ผมร่วงรีบปรึกษาแพทย์

ผมร่วงอาจไม่ได้สร้างความรู้สึกเจ็บปวดให้กับร่างกายเหมือนโรคอื่น ๆ แต่ส่งผลต่อความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างยิ่ง ไม่ควรนิ่งนอนใจต่อปัญหาผมร่วงเพราะเมื่อปล่อยไว้จะทำให้ผมค่อย ๆ หลุดร่วงไปเรื่อย ๆ ซึ่งอาการผมร่วงในแต่ละคนมีสาเหตุที่แตกต่างกัน จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยสาเหตุจากแพทย์เพื่อการรักษาที่ตรงจุดและเกิดประสิทธิภาพต่อไป

 

มีปัญหาผมร่วงปรึกษาหมอออนไลน์หรือปรึกษาเภสัชกร ที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เรามีแพทย์และเภสัชกรพร้อมให้คำปรึกษาและจัดส่งสินค้าถึงมือ เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS

 

Content powered by BeDee Expert

 ภญ.วรรณพร เกตุเลิศประเสริฐ

เภสัชกร

 

เรียบเรียงโดย

กรวรรณ ใจซื่อกุล

Hair loss: Who gets and causes. (n.d.). https://www.aad.org/public/diseases/hair-loss/causes/18-causes


Website, N. (2023, May 4). Hair loss. nhs.uk. https://www.nhs.uk/conditions/hair-loss/

บทความที่เกี่ยวข้อง

Key Takeaways ฝีดาษลิงเกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Orthopoxvirus ซึ่งเป็นไวรัสในกลุ่มเดียวกับโรคฝีดาษ ฝีดาษลิงมักมีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายเองได้ใน 2-4 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามในรายที่มีอาการฝีดาษลิงรุนแรงควรปรึกษาแพทย์ทันที สารบัญบทความ ฝีดาษลิงคืออะไร? โ

Key Takeaway   ไข่ไก่ให้โปรตีนสูง ช่วยให้อิ่มท้องแบบแคลอรี่ต่ำโดยในไข่ไก่ 1 ฟองให้โปรตีนประมาณ 7 กรัม  ประโยชน์ของการกินไข่ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท และภูมิคุ้มกัน และมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างและซ่อมแซมสมอง ความจำ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโร