วัยทอง

อาการวัยหมดประจำเดือน หรือ อาการวัยทองในผู้หญิง เป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงทุกคน ซึ่งแต่ละคนอาจมีอาการและความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไป หลายคนเมื่อใกล้เข้าสู่วัยทองมักมีความกังวลเนื่องจากได้ยินเรื่องความเปลี่ยนของร่างกายในช่วงนี้มามาก มาทำความเข้าใจอาการวัยทองพร้อมวิธีการรับมือและเตรียมตัวให้เข้าสู่วัยทองอย่างไร้ความกังวลกันเลย

สารบัญบทความ

วัยทอง (Menopause) คืออะไร?


“วัยทอง” (Menopause) คือ ช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในเพศหญิง กล่าวคือ ภาวะที่รังไข่หยุดผลิตไข่ทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ทำให้ไม่มีประจำเดือน โดยทั่วไปอาการวัยทองมักพบได้ในผู้หญิงอายุช่วง 45-55 ปี สัญญาณเตือนก่อนเข้าสู่ช่วงวัยทองที่สังเกตได้คือ ประจำเดือนมาคลาดเคลื่อน หรือมีประจำเดือนกระปริบกะปรอย ประจำเดือนขาด 1 ปี แล้วกลับมามีประจำเดือนอีกครั้งก่อนที่ประจำเดือนจะหมดถาวร ไม่ใช่แค่ด้านร่างกายเท่านั้น แต่อาการวัยทองยังส่งผลทางด้านจิตใจอีกด้วย บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า ต้องปรึกษาจิตแพทย์ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาให้ฮอร์โมนทดแทนหรือยาอื่น ๆ ในการรักษาภาวะวัยทอง

สาเหตุของวัยทอง

สาเหตุวัยทอง

สาเหตุของการเข้าสู่วัยทองมีดังนี้

  1. รังไข่ผลิตฮอร์โมนน้อยลงจนหยุดสร้างฮอร์โมน กรณีที่พบว่าคนในครอบครัวมีประวัติการหมดประจำเดือนเร็วอาจทำให้เกิดภาวะวัยทองเร็วขึ้นได้เช่นกัน
  2. การผ่าตัดเอารังไข่ออก การรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือรังสีซึ่งทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง
  3. ความผิดปกติของโครโมโซม X
  4. การสูบบุหรี่

อาการวัยทอง

อาการวัยทองในบางรายอาจไม่รุนแรงและไม่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน แต่เมื่อไหร่ที่อาการวัยทองเริ่มรุนแรงมากขึ้นจนรบกวน ควรพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและรักษาเพิ่มเติม

อาการวัยทองที่ควรพบแพทย์

  • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย

อาการของวัยทองอย่างหนึ่งที่สังเกตได้ง่าย ๆ คืออารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดไม่มีสาเหตุ น้อยใจคนในครอบครัว โดยที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์นั้นได้ซึ่งสาเหตุเนื่องมาจากฮอร์โมนที่ลดลง ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยมักไม่รู้ตัว บางรายอาจรุนแรงจนถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า โรคเครียด และ โรควิตกกังวลได้เช่นกัน

  • นอนไม่หลับ 

เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยทอง ผู้ป่วยส่วนมากมักมีอาการนอนไม่หลับ ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากอาการทางจิตใจและอารมณ์ มีความรู้สึกวิตกกังวล หงุดหงิด คิดมากเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย หรือบางรายอาจมีอาการร้อนวูบวาบในร่างกายผู้หญิง ปวดเมื่อยตามร่างกาย เหงื่อออกจนทำให้นอนไม่หลับ 

  • ปัสสาวะเล็ด 

ปัสสาวะเล็ด เป็นปัญหาหนึ่งที่พบได้เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยทองเช่นกัน สาเหตุเกิดจากการหย่อนยานของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน กล้ามเนื้อหูรูดบริเวณท่อปัสสาวะอ่อนแอ ทำให้เกิดการอักเสบ ส่งผลให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะติดขัด ปัสสาวะบ่อย 

 

  • ร้อนวูบวาบ

อาการร้อนวูบวาบในร่างกายผู้หญิงเป็นอาการที่พบได้บ่อยในช่วงวัยทองหลายคนมักมีอาการเหงื่อออก โดยเฉพาะช่วงกลางคืนเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน มักรู้สึกร้อนบริเวณลำคอ หน้าอก ศีรษะ ใจเต้นเร็ว หงุดหงิด ซึ่งอาจทำให้นอนไม่หลับได้ บางรายอาจมีอาการเพียงแค่ไม่กี่นาที หรืออาจยาวนานกว่านั้น 

 

  • ผิวหนังแห้ง เหี่ยวย่น

การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนในช่วงวัยทองทำให้ร่างกายขาดคอลลาเจนถึงร้อยละ 30 ในช่วง 10 ปีแรก ส่งผลให้ผิวหนังเหี่ยวย่น ผิวหนังบางลง ผิวแห้ง ผิวคัน เล็บเปราะ ผมบาง เกิดริ้วรอยได้ง่ายและชัดเจนมากขึ้น 

 

  • ความต้องการทางเพศลดลง

เมื่อร่างกายเข้าสู่ช่วงวัยทองและขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้ผิวหนังและขนบริเวณอวัยวะเพศบางลง ช่องคลอดแห้ง ส่งผลให้เกิดอาการแห้ง ระคายเคืองและคันช่องคลอดได้ง่าย มีความต้องการทางเพศลดลงรวมถึงเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์

โรคที่พบบ่อยช่วงวัยทอง

  1. ปัสสาวะเล็ด 

อาการหนึ่งที่พบได้บ่อยเมื่อร่างกายเข้าสู่ช่วงวัยทองคืออาการ “ปัสสาวะเล็ด” ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทหรือกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ และความอ่อนแอของอุ้งเชิงกราน ทำให้เกิดอาการปัสสาวะไหลเล็ดออกมาขณะไอ จาม หัวเราะ หรือยกของหนัก เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้จึงทำให้ปัสสาวะเล็ดออกมาโดยไม่ตั้งใจ อาการปัสสาวะเล็ดเกิดได้กับทุกเพศ ตั้งแต่วัยทำงานจนถึงวัยทอง เมื่อเกิดอาการปัสสาวะเล็ดบ่อย อาจรู้สึกไม่มั่นใจ และกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

 

 

       2. โรคทางจิตเวช 

โรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อยในช่วงวัยทอง เช่น โรคซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้อาจต้องอาศัยการปรับตัวและการปรับความเข้าใจกับสมาชิกในครอบครัวหรือคนรอบข้าง หากอาการรุนแรงสามารถปรึกษาจิตแพทย์เพิ่มเติมได้

 

 

       3. โรคหัวใจและหลอดเลือด 

ผลจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้ไขมัน LDL หรือไขมันเลวเพิ่มขึ้น และไขมันดี หรือ HDL ลดลง ทำให้ไขมันเกาะที่ผนังหลอดเลือดมากขึ้น จึงทำให้เสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ปัจจัยอื่น ๆ อย่างการมีค่าความดันโลหิตสูง โรคอ้วน การสูบบุหรี่ มีความเครียดหรือมีคอเลสเตอรอลสูงยังเป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม : ค่าความดันคืออะไร? มีวิธีวัดค่าความดันอย่างไร?

 

 

       4. โรคกระดูกพรุน 

อาการหนึ่งที่พบได้บ่อยในวัยทองคือภาวะกระดูกพรุน กระดูกเปราะบางและแตกหักได้ง่าย สาเหตุมาจากความเสื่อมของร่างกาย พบว่าในช่วง 5 ปีแรกของวัยหมดประจำเดือนร่างกายจะสูญเสียมวลกระดูกมากถึงร้อยละ 20

วัยทองรักษาอย่างไร?

ในกรณีที่อาการวัยทองรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมากแพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยวิธีดังนี้

  • การให้ฮอร์โมนเพศหญิงทดแทน (Hormone Replacement Therapy: HRT) ใช้รักษาในผู้ที่มีอาการวัยทองรุนแรงและอยู่ในกลุ่มที่สามารถรักษาด้วยการรับฮอร์โมนได้ 
  • รักษาด้วยยาที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มฮอร์โมนทดแทน (Non-Hormonal Treatment) เช่น ยารักษากลุ่มโรคซึมเศร้า 
  • รับประทานวิตามินเสริมตามอาการ เช่น รับประทานวิตามินอี วิตามินซี หรือคอลลาเจน ในผู้ที่มีปัญหาและความกังวลด้านผิวพรรณ ริ้วรอย

วิธีดูแลสุขภาพและการเตรียมพร้อมเมื่อเข้าสู่วัยทอง

สตรีที่อยู่ในช่วงใกล้เข้าสู่วัยทองสามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ 

  2. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นการรับประทานกากใย ผัก ผลไม้ ธัญพืช แป้งไม่ขัดสีเพื่อช่วยในการขับถ่าย นอกจากนี้ยังควรเน้นรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม ปลาตัวเล็ก ถั่วเหลือง เต้าหู้ งาดำ ผักใบเขียว เลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์และอาหารที่ให้ไขมันสูง ควรรับประทานเนื้อปลาแทนเนื้อหมูหรือไก่

  3. พักผ่อนให้เพียงพอ ควรเข้านอนไม่เกิน 22.00 น. เพื่อให้ร่างกายซ่อมแซมร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพ

  4. ออกกำลังกาย ครั้งละ 20-30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน การออกกำลังกายที่เหมาะกับช่วงวัยทอง เช่น การเดิน เต้นแอโรบิก รำมวยจีน รำไม้พลอง หรือโยคะ เป็นต้น

  5.  หลีกเลี่ยงความเครียด ความวิตกกังวล พยายามหากิจกรรมที่ทำแล้วผ่อนคลาย มีความสุข

  6. ควรพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี อาทิ ตรวจเต้านม ตรวจภายในและตรวจมะเร็งปากมดลูก การตรวจแมมโมแกรม การตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก ซึ่งการตรวจในแต่ละบุคคลอาจเป็นไปตามข้อบ่งชี้จากการพิจารณาของแพทย์

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับวัยทอง 

1. วัยทองรักษาได้หรือไม่?

อาการวัยทองสามารถรักษาได้ โดยแพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการให้ฮอร์โมนทดแทนหรือยากลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ฮอร์โมนตามอาการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับร่างกายแต่อาการของแต่ละบุคคลด้วย

2. อายุเท่าไหร่ถึงเข้าสู่วัยทอง?

โดยทั่วไปแล้วสตรีที่เข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือนหรือ “วัยทอง” คือผู้ที่ประจำเดือนหมดหรือไม่มาต่อเนื่องครบ 1 ปี สามารถพบได้ในผู้หญิงช่วงอายุตั้งแต่ 45-55 ปี นอกจากนี้ผู้หญิงที่มีความจำเป็นต้องรับการผ่าตัดรังไข่ทั้ง 2 ข้างออกก่อนที่จะหมดประจำเดือนก็จัดอยู่ในกลุ่มสตรีที่หมดประจำเดือนแล้วเช่นกัน

3. วัยทองทำให้เป็นซึมเศร้าได้หรือไม่?

เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยทองอาจทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ได้ เนื่องจากปริมาณฮอร์โมนที่ลดลง หากพบว่ามีอาการดังกล่าวแนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์หรือแพทย์เฉพาะทางเพิ่มเติม

4. ผู้ชายเป็นวัยทองได้หรือไม่?

ถึงแม้ว่ากลไกร่างกายเพศชายจะไม่มีประจำเดือนหรือระบบสืบพันธุ์เช่นเดียวกับเพศหญิง แต่ผู้ชายสามารถเข้าสู่ช่วงวัยทองได้เช่นเดียวกับผู้หญิงเนื่องจากระดับฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ที่ลดลงตามวัย เราเรียกอาการวัยทองในเพศชายว่า “แอนโดรพอส” (Andropause)

สรุปเรื่องวัยทอง

เมื่อผู้หญิงทุกคนก้าวเข้าสู่ช่วงวัยทอง อาการที่เกิดขึ้นอาจจะมีความรุนแรงต่างกันไป การที่เรามีความรู้ ทำความเข้าใจอาการที่อาจเกิดขึ้น พร้อมวิธีรับมือจะช่วยให้รับมือกับช่วงวัยทองได้อย่างเข้าใจ ดังนั้น ไม่ควรเครียด วิตกกังวลมากเกินไป หากมีปัญหาที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวหรือมีอาการทางร่างกายรุนแรงควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม เพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสม 

 

 

Content powered by BeDee Expert

ภญ.วุฒิรัต ธรรมวุฒิ

เภสัชกร

Menopause – Symptoms and causes – Mayo Clinic. (2023, May 25). Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/menopause/symptoms-causes/syc-20353397

 

What is menopause? (n.d.). National Institute on Aging. https://www.nia.nih.gov/health/what-menopause

หากกังวลเรื่องวัยทอง ควรปรึกษาแพทย์



กังวลเรื่องอาการวัยทอง มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รับมือและจัดการกับอาการที่เกิดขึ้นไม่ได้หรืออยากขอคำแนะนำเพิ่มเติม ปรึกษาหมอออนไลน์หรือปรึกษาเภสัชกร ที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เรามีแพทย์และเภสัชกรพร้อมให้คำปรึกษา เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS

บทความที่เกี่ยวข้อง

เมื่อพูดถึงอาการ ปวดท้องเมนส์ หรือ ปวดท้องประจำเดือนแล้ว เรียกได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ของผู้หญิงจำนวนมากที่ต้องเผชิญทุกเดือนเลยทีเดียว บางรายอาจจะมีอาการปวดเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย บางคนปวดรุนแรงจนถึงขั้นเป็นลม ต้องเข้าโรงพยาบาล ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนถึง

อาการป่วยในช่วงมีประจำเดือนของผู้หญิงนั้นมีมากมาย หลายคนเรียกได้ว่าร่างกายรวนไปเลยก็ว่าได้ในช่วงมีเมนส์ ไหนจะต้องรับมือกับอาการ PMS ปวดท้อง ปวดหัว ยังมีอาการไข้ทับระดูอีก สำหรับใครที่เคยป่วยเป็นไข้ทับระดูน่าจะเข้าใจกันดีเลยว่าในช่วงนั้นร่างกายจะอ่อนแ