Key Takeaways สาเหตุการเกิด PM 2.5 มีหลายปัจจัย เช่น ธรรมชาติ การก่อสร้าง การคมนาคม การเผาไหม้ ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ผื่นคัน ไอเรื้อรัง และอาจทำให้เกิดมะเร็งได้ หากมีอาการแพ้ฝุ่น PM 2.5 ควรปรึกษาแพทย์ สารบัญบทความ ฝุ่น PM 2.5 เก
ปากกาลดน้ำหนักช่วยลดความอ้วนได้จริงหรือไม่? มีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง
Key Takeaways
- ปากกาลดน้ำหนักเหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องลดน้ำหนัก หรือผู้ที่ไม่สามารถลดน้ำหนักการออกกำลังกายและคุมอาหารได้
- การใช้ปากกาลดน้ำหนักจำเป็นต้องปรึกษาและจ่ายยาโดยแพทย์เท่านั้นเพื่อความปลอดภัย
- ไม่ควรใช้ปากกาลดน้ำหนักเป็นวิธีหลักในการลดน้ำหนัก ควรออกกำลังกายและคุมอาหารควบคู่ไปด้วย
รู้จักปากกาลดน้ำหนักคืออะไร
ช่วงที่ผ่านมาหลายคนคงเห็นหรือได้ยินถึงตัวช่วยหรือนวัตกรรมในการลดน้ำหนักที่ชื่อว่า “ปากกาลดน้ำหนัก” จริง ๆ แล้วปากกาลดความอ้วนหรือที่หลายคนเรียกว่าปากกาผอมหรือปากกาจิ้มพุงนี้คืออะไร ปลอดภัยไหม และสามารถช่วยในการควบคุมน้ำหนักได้จริงหรือไม่ ?
ปากกาลดน้ําหนัก คืออุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างหนึ่งที่ใช้ในการฉีดเข้าร่างกายเพื่อช่วยในการลดน้ำหนัก ปากกาลดน้ำหนักจะบรรจุยาที่ชื่อว่า “Liraglutide” คือยาชนิดหนึ่งซึ่งจะช่วยควบคุมความอยากอาหารและทำให้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น ยี่ห้อของปากกาลดน้ําหนักที่นิยมใช้ในตลาด เช่น Saxenda และ Victoza
ปัจจุบันปากกาลดน้ำหนักได้ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ว่าปลอดภัย สามารถใช้ในการลดน้ำหนักสำหรับผู้ที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์หรือผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยการใช้ปากกาลดน้ำหนักควบคู่ไปกับการออกกำลังกายและการควบคุมอาหาร แต่สิ่งสำคัญ คือ การใช้ปากกาลดน้ำหนัก ควรอยู่ในการดูแล และสั่งจ่ายยาโดยแพทย์เท่านั้น เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงหรือความเสี่ยงต่อสุขภาพหากใช้ไม่ถูกต้อง
แบบไหนถึงเรียกว่าอ้วน วัดจากอะไร?
แล้วเมื่อไหร่ที่เราควรใช้ปากกาลดน้ำหนัก? โดยมาตรฐานทางการแพทย์แล้วเราใช้ค่าดัชนีมวลกาย หรือ Body Mass Index (BMI) เพื่อประเมินภาวะน้ำหนักเกินและภาวะอ้วนในผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป โดยมีวิธีการคำนวณคือ
ค่าดัชนีมวลกาย = น้ำหนักตัว [กิโลกรัม] ÷ ส่วนสูง [เมตร] ยกกำลังสอง
ตัวอย่างเช่น ผู้หญิง น้ำหนัก 50 กิโลกรัม ส่วนสูง 160 เซนติเมตร
ดัชนีมวลกาย (BMI) = 50 ÷ (1.60 * 1.60)
ดัชนีมวลกาย (BMI) = 50 ÷ 2.56
ดัชนีมวลกาย (BMI) = 19.5
ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) | การแปลผล |
ต่ำกว่า 18.5 | น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ |
18.5-22.90 | น้ำหนักปกติ สมส่วน |
23-24.90 | น้ำหนักเกินมาตรฐาน |
25-29.90 | อ้วนระดับ 1 |
มากกว่า 30 ขึ้นไป | อ้วนระดับ 2 |
BeDee Tips: รู้จักการลดน้ำหนักแบบ IF แต่ละรูปแบบ เหมาะกับใครบ้าง ? อ่านเลย
ปรึกษาเรื่องน้ำหนักเบื้องต้นกับ Weight Guru ที่แอป BeDee ได้ทุกวัน ไม่มีค่าใช้จ่าย!
หลักการทำงานของปากกาลดน้ำหนักเป็นอย่างไร
หลักการทำงานของปากกาลดน้ำหนักหรือปากกาคุมหิวคือภายในปากกาจะบรรจุยาที่ชื่อว่า “Liraglutide” ซึ่งเป็นตัวยาที่ใช้กันมากที่สุดในปัจจุบัน และเป็นยากลุ่มควบคุมพิเศษที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ ยาLiraglutide เป็นยาในกลุ่ม GLP-1 receptor agonists (glucagon-like peptide-1 receptor agonists) ที่ออกฤทธิ์โดยการเลียนแบบการทำงานของฮอร์โมน GLP-1 ในร่างกายซึ่งมีบทบาทในการควบคุมความหิวและทำให้ความอยากอาหารลดลง เมื่อฉีดยาเข้าสู่ร่างกายตัวยาจะเลียนแบบฮอร์โมน GLP-1 ซึ่งจะส่งสัญญาณไปยังสมองเพื่อลดความอยากอาหาร ทำให้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้นและกินน้อยลง จนทำให้น้ำหนักตัวลดลง เป็นตัวช่วยในการลดน้ำหนักในผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน หรือผู้ป่วยโรคเบาหวาน
นอกจากนี้ปากกาลดน้ำหนักสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เช่นกัน เนื่องจากตัวยาจะช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน ซึ่งช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากรับประทานอาหาร ดังนั้นจึงมีประโยชน์ต่อผู้ที่มีภาวะเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วย บางคนจึงเรียกปากกาลดน้ำหนักว่ายาฉีดเบาหวานลดน้ําหนัก
อย่างไรก็ตามการใช้งานปากกาลดน้ำหนักจะได้ผลดีที่สุดเมื่อมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย เช่น การควบคุมอาหาร ทานอาหารคลีน การพักผ่อนที่เพียงพอ และการออกกำลังกายที่เหมาะสมเป็นประจำ นอกจากนี้ยังควรใช้ปากกาลดน้ำหนักที่จ่ายและควบคุมการใช้โดยแพทย์เท่านั้นเพื่อให้ได้รับโดสยาที่เหมาะสมและปลอดภัย
ปากกาลดน้ำหนักเหมาะกับใคร และใครบ้างที่ไม่ควรใช้
เช็กลิสต์ก่อนใช้! ปากกาลดน้ำหนักว่าเหมาะกับใคร และไม่เหมาะกับใครบ้าง ดังนี้
ผู้ที่เหมาะกับปากกาลดน้ำหนัก
- ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือมีโรคอ้วน ปากกาลดน้ำหนักเหมาะสำหรับผู้ที่มีค่า BMI สูงกว่า 27 หรือ 30 ขึ้นไป ซึ่งแสดงถึงภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน
- ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับน้ำหนัก เช่น เบาหวานชนิดที่ 2 ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจ สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการลดน้ำหนัก ซึ่งการใช้ปากกาลดน้ำหนักอาจช่วยได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคนด้วย ควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม
- ผู้ที่ไม่สามารถลดน้ำหนักได้ด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเยอะมากจนไม่สามารถทำให้ออกกำลังกายได้
ผู้ที่ไม่ควรใช้ปากกาลดน้ำหนัก
- ผู้ที่มีประวัติแพ้ส่วนประกอบในปากกาลดน้ำหนัก
- ผู้ที่มีประวัติภาวะน้ำตาลต่ำ
- ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1
- ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไต หรือโรคตับ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ปากกาลดน้ำหนัก
- ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารและลำไส้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ปากกาลดน้ำหนัก
- ผู้ที่วางแผนมีบุตร ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร การใช้ปากกาลดน้ำหนักในช่วงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรอาจมีผลต่อทารกในครรภ์หรือเด็กทารก
- ผู้ที่มีประวัติความผิดปกติทางจิตเวช การใช้ปากกาลดน้ำหนักอาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้าหรือความผิดปกติทางจิตเวชอื่น ๆ ดังนั้นหากมีความกังวลเรื่องอาการทางจิตเวชควรหลีกเลี่ยงการใช้
- เด็กและวัยรุ่น การปากกาลดน้ำหนักในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 75 ปี
เนื่องจากตัวยา Liraglutide อาจทำปฏิกิริยาต่อยา สมุนไพร วิตามิน หรืออาหารเสริมบางชนิด จนตัวยามีประสิทธิภาพลดลงหรือเกิดผลข้างเคียงขึ้นได้ ผู้ที่จะเริ่มใช้ปากกาลดน้ำหนักจึงควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับยาหรือผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ด้วย
BeDee Tips: ดูไอเดีย 10 เมนู อาหารลดน้ำหนัก อร่อย ทำง่าย อิ่มท้อง
ปากกาลดน้ำหนักวิธีใช้ทำอย่างไร ปรึกษาคุณหมอที่แอป BeDee ได้เลย
วิธีการใช้ปากกาลดน้ำหนักที่ถูกต้องควรใช้อย่างไร
วิธีใช้ปากกาลดน้ำหนักที่ถูกต้อง มีวิธีดังนี้
- ก่อนที่เริ่มใช้ปากกาลดน้ำหนักควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ทราบว่าร่างกายของเราเหมาะกับการใช้ปากกาลดน้ำหนักหรือไม่ แพทย์จะกำหนดขนาดยาและความถี่ในการใช้ตามสภาพร่างกายและเป้าหมายการลดน้ำหนัก
- อ่านฉลากและคำแนะนำบนบรรจุภัณฑ์
- ล้างมือให้สะอาดก่อนใช้ปากกาลดน้ำหนัก
- ตรวจสอบปากกาลดน้ำหนักว่าอยู่ในสภาพดี ไม่มีการชำรุดหรือหมดอายุ
- เขย่าปากกาเบา ๆ เพื่อให้ตัวยากระจายตัวอย่างทั่วถึง
- เลือกตำแหน่งฉีด โดยทั่วไปแล้วแนะนำให้ฉีดปากกาลดน้ำหนักเข้าสู่ชั้นใต้ผิวหนัง บริเวณหน้าท้อง ต้นขา หรือหลังแขน หลีกเลี่ยงการฉีดใกล้กับรอยแผลหรือบริเวณที่มีการระคายเคือง
- ทำความสะอาดบริเวณที่จะฉีดยาด้วยแอลกอฮอล์
- นำเข็มปากกาลดน้ำหนักจ่อกับผิวหนังและฉีดยาโดยกดปุ่มบนปากกาให้สุด
- ถือปากกาลดน้ำหนักค้างไว้ไว้อย่างน้อย 10 วินาทีเพื่อให้ตัวยาเข้าสู่ร่างกาย
- ดึงเข็มออกและทิ้งเข็มในถังขยะติดเชื้อ
วิธีเก็บรักษาปากกาลดน้ำหนักควรเก็บอย่างไร
นอกจากวิธีการใช้ที่ต้องรู้แล้ว อีกหนึ่งเรื่องสำคัญของปากกาลดน้ำหนักที่ต้องให้ความใส่ใจนั่นก็คือการเก็บรักษา ซึ่งการเก็บรักษาก็มีวิธีการเก็บที่ไม่ยาก ดังนี้
- ก่อนเปิดใช้: ควรเก็บปากกาลดน้ำหนักในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส โดยเก็บไว้ในชั้นวางของตู้แช่ ไม่วางไว้ที่ประตูตู้เย็นหรือช่องแช่แข็ง
- หลังเปิดใช้: ปากกาลดน้ำหนักบางรุ่นสามารถเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องไม่เกิน 25-30 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ควรอ่านฉลากอีกครั้ง ควรหลีกเลี่ยงการเก็บไว้ในที่อุณหภูมิสูงหรือมีแสงแดดจัด
- หลีกเลี่ยงการเก็บปากกาลดน้ำหนักในที่ที่มีความชื้นสูง เช่น ในห้องน้ำ หรือที่ใกล้แหล่งน้ำ
- เก็บปากกาลดน้ำหนักให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ปากกาลดน้ำหนักมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง
ผลข้างเคียงที่อาจพบได้เมื่อใช้ปากกาลดน้ำหนัก ได้แก่
- อาการคลื่นไส้และอาเจียน
- ท้องเสียหรือท้องผูก
- ปวดศีรษะ
- เบื่ออาหาร
- อาจเกิดอาการแพ้ เช่น ผื่นคัน หายใจลำบาก หรือบวมที่หน้าและลำคอ ซึ่งเป็นอาการที่ต้องพบแพทย์ทันที
- อาจเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ หรือ Hypoglycemia ในผู้ที่มีโรคเบาหวาน
- มีอาการซึมเศร้าหรืออารมณ์แปรปรวน
ข้อควรระวังในการใช้ปากกาลดน้ำหนัก
ควรใช้ปากกาลดน้ำหนักด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงและผลข้างเคียงที่อาจส่งผลต่อสุขภาพ สิ่งที่ควรคำถึงเมื่อใช้ปากกาลดน้ำหนัก ได้แก่
- ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้:
- ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนเริ่มใช้ปากกาลดน้ำหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีประวัติการเจ็บป่วย หรือใช้ยารักษาโรคอื่น ๆ อยู่
- ใช้ตามคำแนะนำ:
- ปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้ยาอย่างเคร่งครัด ห้ามเพิ่มหรือลดขนาดยาด้วยตนเอง
- เฝ้าระวังผลข้างเคียง:
- สังเกตอาการที่อาจเกิดขึ้นหลังจากใช้ยา หากมีอาการผิดปกติหรือผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาเจียนหรือคลื่นไส้มากเกินไป หรืออาการแพ้ ควรหยุดใช้และปรึกษาแพทย์ทันที
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว:
- ผู้ที่มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคตับ หรือโรคไต ควรระวังเป็นพิเศษ เพราะยาอาจส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะเหล่านี้
- การใช้ร่วมกับยาอื่น:
- หากกำลังใช้ยารักษาโรคอื่น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะปากกาลดน้ำหนักอาจมีปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นที่กำลังใช้อยู่
- ห้ามใช้ในผู้ที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร:
- หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรไม่ควรใช้ปากกาลดน้ำหนัก เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อทารกได้
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์:
- การดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างใช้ปากกาลดน้ำหนักอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง หรือทำให้การทำงานของยาลดลง
- ติดตามผลและปรับเปลี่ยนตามคำแนะนำของแพทย์:
- ควรติดตามผลการใช้ยาอย่างสม่ำเสมอ และปรับขนาดยาหรือหยุดใช้ตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
- ห้ามใช้เกินระยะเวลาที่กำหนด:
- ปากกาลดน้ำหนักควรใช้ภายในระยะเวลาที่แพทย์กำหนด ห้ามใช้เกินกว่าระยะเวลาที่แนะนำ เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับปากกาลดน้ำหนัก
1. ปากกาลดความอ้วนราคาเท่าไหร่
โดยทั่วไปแล้วราคาปากกาลดน้ำหนักตามท้องตลาดจะมีราคาประมาณ 3,000 – 5,000 บาท / แท่ง สำหรับระยะเวลาในการใช้ปากกาลดน้ำหนักต่อหนึ่งแท่งนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณยาที่ใช้ในแต่ละบุคคลซึ่งจะแตกต่างกันไปตามร่างกายแต่ละคน แพทย์จะเป็นผู้แนะนำปริมาณยาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคน
2. ยาฉีดลดน้ำหนักช่วยให้ผอมได้จริงหรือไม่
ปากกาลดน้ำหนักหรือที่หลายคนเรียกว่ายาฉีดลดน้ำหนักนั้นสามารถช่วยลดความอยากอาหารลงได้ จึงอาจทำให้น้ำหนักลดลง ปากกาลดน้ำหนักเหมาะสำหรับกลุ่มผู้ที่มีค่า BMI สูงกว่า 27 ผู้มีภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน หรือโรคเบาหวาน เป็นต้น อย่างไรก็ตามการใช้ปากกาลดน้ำหนักควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ทุกครั้ง ไม่ควรหาซื้อปากกาลดน้ำหนักมาใช้เองเพราะอาจทำให้ได้โดสยาที่ไม่เหมาะสมได้ อีกทั้งการฉีดปากกาลดน้ำหนักจะต้องมีการปรับขนาดของยาในระยะแรก ดังนั้นผู้ที่ใช้ปากกาลดน้ำหนักจึงควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ตลอดการใช้ยา
ปากกาลดน้ำหนัก ใช้ให้ปลอดภัยต้องปรึกษาแพทย์
ถึงแม้ว่าปากกาลดน้ำหนักจะมีส่วนช่วยในการลดน้ำหนักได้แต่ก็อาจไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน การใช้ปากกาลดน้ำหนักจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าปากกาลดน้ำหนักจะเหมาะสมกับร่างกายของเราโดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว นอกจากนี้ควรซื้อปากกาลดน้ำหนักจากโรงพยาบาลที่เชื่อถือได้เท่านั้น
ปรึกษาหมอออนไลน์ พยาบาล หรือปรึกษาเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เป็นส่วนตัวสูง พร้อมจัดส่งสินค้าถึงมือ เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
ระวีวรรณ ลาภพิเชษฐไพบูลย์
นักกำหนดอาหาร
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
Victoza (liraglutide): Uses, Side Effects, Interactions, Pictures, Warnings & Dosing – WebMD. (n.d.). https://www.webmd.com/drugs/2/drug-153566/liraglutide-subcutaneous/details
Liraglutide (Subcutaneous route). (2024, May 2). https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/liraglutide-subcutaneous-route/proper-use/drg-20073828
What is Liraglutide? It is used in self injection pens for weight Loss. (n.d.). WebMed Pharmacy – FREE Next Day UK Delivery. https://webmedpharmacy.co.uk/blog/liraglutide-saxenda?srsltid=AfmBOoqCVDVJLKA5annEptrDM0OdjoJWpb10Bjlwj5CNx27r8V-A8z1b