Key Takeaways โรคลมหลับเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทที่มีลักษณะเด่นคือการง่วงนอนมากเกินไปในเวลากลางวัน ผู้ป่วยจะมีอาการวูบหลับนั่งหลับหลับกลางอากาศ หรือหลับแบบไม่รู้ตัว ผู้ป่วยโรคลมหลับบางรายมีอาการ Cataplexy คืออาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย มักเ
ผีอำเกิดจากอะไร? รู้จักอาการ “ผีอำ” และวิธีป้องกันในทางการแพทย์
Key Takeaways
- Sleep Paralysis หรือที่เราเรียกกันว่า “ผีอำ” คือ อาการที่เกิดขึ้นในช่วงที่กล้ามเนื้ออยู่ในภาวะอัมพาตชั่วคราวตามธรรมชาติ แต่สมองยังมีการทำงานจึงรู้สึกตัว ทำให้มีอาการรู้สึกเหมือนถูกบางอย่างกดทับร่างกายอยู่ ไม่สามารถขยับร่างกาย
- “ผีอำ” ไม่ได้เกิดจากปัจจัยทางไสยศาสตร์ แต่เกิดจากภาวะทางด้านร่างกาย เช่น ปัญหาทางสุขภาพจิต การพักผ่อนไม่เพียงพอ ตารางเวลาการนอนไม่สม่ำเสมอ ภาวะผิดปกติทางการนอน ยารักษาโรคบางอย่าง หรือ การใช้สารเสพติด
- วิธีป้องกันอาการ Sleep Paralysis หรืออาการผีอำเบื้องต้นคือการสร้างการนอนหลับที่ดีทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ
ผีอำคืออะไร?
อาการ Sleep Paralysis หรือที่เราเรียกกันว่า “ผีอำ” คือ อาการที่เกิดขึ้นในช่วงที่กล้ามเนื้ออยู่ในภาวะอัมพาตชั่วคราวตามธรรมชาติ เพื่อป้องกันการเคลื่อนไหว (Dream Enactment) ที่อาจเป็นอันตรายได้ในขณะที่เรานอนหลับ แต่สมองยังมีการทำงานจึงรู้สึกตัวทำให้มีอาการรู้สึกเหมือนถูกบางอย่างกดทับร่างกายอยู่ ไม่สามารถขยับร่างกาย หรือไม่สามารถพูดได้ จนอาจทำให้กลัว หรือตกใจ มักจะเกิดขึ้นในช่วงกึ่งหลับกึ่งตื่น เช่น ช่วงใกล้หลับ หรือ ช่วงใกล้ตื่น
นอนไม่หลับ หรือมีปัญหาการนอน ปรึกษาคุณหมอที่แอป BeDee ได้ทุกวัน สะดวก เป็นส่วนตัว ส่งยาถึงที่
ผีอำแบ่งออกเป็นกี่ประเภท?
อาการ Sleep Paralysis หรือการโดนผีอำที่หลายคนเรียกนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท โดยมีรายละเอียดดังนี้
Predormital Sleep Paralysis
อาการอัมพาตที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างที่ร่างกายกำลังเข้าสู่การนอนหลับ (ช่วงใกล้หลับ) หรือช่วง Hypnagogic State ในช่วงนี้กล้ามเนื้อจะเริ่มคลายตัวเพื่อเข้าสู่สภาวะการนอนหลับลึก แต่สมองยังคงทำงานอยู่บ้าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือจะรู้สึกว่าร่างกายขยับไม่ได้ หรือพูดไม่ได้จึงรู้สึกว่าโดนผีอำ
Postdormital Sleep Paralysis
อาการอัมพาตขณะหลับที่เกิดขึ้นในช่วงกำลังตื่นจากการนอนหลับ (ช่วงใกล้ตื่น) หรือช่วง Hypnopompic State ในช่วงนี้ร่างกายกำลังเตรียมเข้าสู่การตื่นนอน หรืออยู่ในระยะ Rapid Eye Movement (REM Sleep) ช่วงนี้สมองและร่างกายอาจยังทำงานไม่สอดคล้องกัน โดยสมองทำงาน ในขณะที่ร่างกายถูก “ล็อค” หรืออยู่ในภาวะอัมพาตชั่วคราว ทำให้รู้สึกเหมือนถูกบางอย่างกดทับร่างกาย และไม่สามารถขยับร่างกายได้ เป็นที่มาของอาการ “ผีอำ” ที่หลายคนเข้าใจ
ในกรณีที่มีอาการ Sleep Paralysis หรือการนอนผิดปกติ แพทย์อาจแนะนำการทำ Sleep Test เพิ่มเติม
สาเหตุของอาการผีอำเกิดจากอะไร?
ในทางวิทยาศาสตร์แล้วนั้นอาการ “ผีอำ” ไม่ได้เกิดจากปัจจัยทางไสยศาสตร์ แต่เกิดจากภาวะทางด้านร่างกาย โดยเบื้องต้นแล้วอาการผีอําทางการแพทย์เกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
- ปัญหาทางสุขภาพจิต เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder)
- การพักผ่อนไม่เพียงพอ อดนอน ทำให้วงจรการนอนไม่คงที่และเพิ่มโอกาสการเกิดอาการ
- ตารางเวลาการนอนไม่สม่ำเสมอ เช่น การนอนดึกหรือตื่นนอนต่างเวลาทุกวัน
- ภาวะผิดปกติทางการนอน เช่น โรคลมหลับ (Narcolepsy) ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea)
- ยารักษาโรคบางอย่าง เช่น ยาที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้น
- การใช้สารเสพติด
BeDee Tips: ดูวิธี เอาชนะอาการนอนไม่หลับ ไม่ต้องพึ่งยา อ่านเลย
วิธีป้องกันอาการผีอำสามารถทำได้อย่างไร?
วิธีป้องกันอาการ Sleep Paralysis หรืออาการผีอำเบื้องต้นคือการสร้างการนอนหลับที่ดีทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ซึ่งสามารถทำได้โดยวิธีดังนี้
- ตื่นและเข้านอนเป็นเวลา พยายามเข้านอนและตื่นเป็นเวลาเดิม
- จัดระเบียบห้องนอนเพื่อเพิ่มคุณภาพการนอนหลับ เช่น สีผ้าปูที่นอนที่นุ่มสบาย ม่านกันแสง รวมถึงอุณหภูมิในห้องนอนควรจะเย็นพอดี ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อช่วยทำให้นอนหลับอย่างมีคุณภาพ
- ฝึกผ่อนคลายก่อนนอน เช่น การกำหนดลมหายใจ ฟังเพลงบรรเลงผ่อนคลาย อาบน้ำอุ่น หรือการใช้กลิ่นช่วยผ่อนคลาย เช่น กลิ่นลาเวนเดอร์
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อหนักหรือรสจัดก่อนนอน
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติด
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาการผีอำ
1. อาการผีอำอันตรายไหม?
อาการ Sleep Paralysis หรืออาการผีอำนั้นไม่ได้ส่งผลอันตรายต่อร่างกาย แต่อาจทำให้เกิดความรู้สึกกลัว กังวล และตกใจ เพราะขยับร่างกายไม่ได้ อย่างไรก็ตามหากพบว่ามีภาวะอัมพาตขณะหลับบ่อย หรือมีปัญหาด้านการนอนหลับ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม
2. วิธีแก้ผีอำทำอย่างไร?
วิธีการแก้อาการผีอำนั้นจะเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนหลับในถูกสุขลักษณะมากขึ้น เช่น เข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลา หลีกเลี่ยงความเครียด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และอื่น ๆ เพื่อสร้างการนอนหลับที่ดีทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ
ผีอำคืออาการอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนอนหลับ
ผีอำคือกลไกทางร่างกายอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในช่วงการนอนหลับเพื่อป้องกันไม่ให้เราเกิดอันตรายจากการขยับกล้ามเนื้อ แต่หากพบว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นผิดปกติ เกิดขึ้นบ่อย หรือทำให้ตกใจกลัวอย่างมากควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม
ปรึกษาหมอออนไลน์ นักกำหนดอาหาร พยาบาล และปรึกษาเภสัชกรแบบไม่มีค่าใช้จ่ายบนแอป BeDee ได้ทุกวัน ส่งยาและสินค้าถึงที่ สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
พญ.สุชานัน แก้วสุข
แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวผู้สูงอายุ
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
REM sleep behavior disorder – Symptoms and causes. (n.d.). Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/rem-sleep-behavior-disorder/symptoms-causes/syc-20352920
Sleep paralysis. (2017, September 12). Stanford Health Care. https://stanfordhealthcare.org/content/shc/en/medical-conditions/sleep/nighttime-sleep-behaviors/sleep-paralysis.html/
Restivo, J. (2023, October 20). Sleep paralysis: Causes, symptoms, and treatments. Harvard Health. https://www.health.harvard.edu/diseases-and-conditions/sleep-paralysis-causes-symptoms-and-treatments