ในกระแสสังคมปัจจุบันนั้น มักมีอะไรมากมายที่ทั้งกดดันและสร้างความเครียดให้ทุกคนไม่เว้นวัน สอดคล้องกับสถิติขององค์กรอนามัยโลก (WHO) ที่ชี้ว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5% และมีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกๆวัน เช่นเดียวกับในสังคมไทยที่ในช่วงไม่กี่ปีมาน
13 อาการแพนิค เช็กสัญญาณเตือนภาวะทางจิต ตื่นตระหนกจัดการได้
โรคแพนิคเป็นภาวะทางจิตอย่างหนึ่งซึ่งกระทบถึงสุขภาพจิตและการทำงานในชีวิตประจำวัน โรคแพนิคเป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาทอัตโนมัติที่ทำงานผิดปกติ ไม่ได้เกิดจากโรคทางกายอื่น ๆ ดังนั้นโรคนี้ไม่เป็นอันตราย ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะไม่เสียชีวิตจากโรคนี้ แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยแยกโรคทางกายออกก่อนที่จะวินิจฉัยโรคแพนิคจริง ๆ เนื่องจากโรคหัวใจ หรือโรคปอด ที่อาจมีอาการคล้ายกันนี้ อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้ ส่วน13 อาการแพนิคที่เราควรต้องสังเกตมีอะไรบ้าง และรับมืออย่างไร มาดูกันเลย
โรคแพนิค คืออะไร
“โรคแพนิค” (Panic Disorder) หรืออาการตื่นตระหนกจัดเป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง เกิดจากการที่ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ อาการแพนิคที่เกิดขึ้นคือผู้ป่วยมักจะรู้สึกกลัว วิตกกังวล กระวนกระวายใจ ตื่นตระหนกตกใจขึ้นมาทันทีโดยไม่มีสาเหตุ ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยมักมีอาการกลัวถึงขีดสุดภายใน 10 นาที และอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น มักจะคงอยู่ไม่เกิน 20 – 30 นาที
13 อาการแพนิคที่สามารถสังเกตได้ด้วยตัวเอง
ปัจจุบันมีการพูดถึงโรคแพนิคบ่อยครั้งจนอาจทำให้เราสับสนได้ว่าอาการแบบไหนกันแน่จึงจะเรียกว่าเป็นอาการของโรคแพนิค สำหรับ 13 อาการแพนิคในกลุ่มโรค Panic Disorder ที่สังเกตได้ด้วยตัวเองมีดังนี้
- ใจสั่น หัวใจเต้นแรง หรือหัวใจเต้นเร็ว
- เหงื่อแตก
- ตัวสั่น
- มีความรู้สึกเหมือนหายใจไม่ออก หายใจไม่สุด
- รู้สึกเหมือนจะสำลัก
- เจ็บแน่นหน้าอก
- คลื่นไส้ หรือไม่สบายท้อง
- รู้สึกเวียนศีรษะ หวิวๆ เหมือนจะเป็นลม
- หนาวสั่น หรือรู้สึกร้อน
- ตัวชา เป็นได้ทั้งอาการตึง ๆ ไม่รู้สึกอะไร หรือซ่า ๆ
- รู้สึกเหมือนไม่ใช่ตัวเอง รู้สึกเหมือนไม่ได้อยู่ในความเป็นจริง
- กลัวที่จะเสียการควบคุม รู้สึกเหมือนจะเป็นบ้า
- กลัวตาย
หากไม่แน่ใจอาการของตนเองว่าอาการแบบนี้เสี่ยงต่อโรคแพนิคหรือไม่สามารถทำแบบประเมินได้เลยที่นี่ โรคแพนิค แบบทดสอบ หรือพูดคุยปรึกษาจิตแพทย์เพิ่มเติม
วิธีจัดการกับ 13 อาการแพนิคด้วยตัวเอง
โรคแพนิคอาจเกิดขึ้นเองโดยที่เราไม่รู้ตัว วิธีเอาชนะแพนิคด้วยตัวเอง สามารถฝึกปฏิบัติได้ด้วยตัวเองเมื่อเกิด 13 อาการแพนิคขึ้น ดังนี้
- เข้าใจตัวโรค
ผู้ป่วยจะต้องยอมรับและเข้าใจอาการแพนิคเสียก่อน ผู้ป่วยโรคแพนิคอาจไม่ทราบว่าตนเองมีอาการแพนิคและเข้าใจว่าเป็นปัญหาทางสุขภาพ แล้วเข้ารับการตรวจสุขภาพหรือรักษาอย่างไรก็ไม่หายสักทีจนเกิดความกังวล ทำให้อาการแพนิคยิ่งแย่ลงไปอีก หากเปิดใจและเข้ารับการรักษาโดยจิตแพทย์ ก็สามารถแก้อาการแพนิคของผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้
- การฝึกควบคุมการหายใจ
อาการแพนิคมักทำให้ผู้ป่วยหายใจเร็วและมีอาการตึงเครียดยิ่งขึ้น หากเกิดอาการแพนิคให้ค่อย ๆ หายใจช้า ๆ ลึก ๆ ให้รู้สึกว่าลมหายใจเข้าไปเต็มปอดเสียก่อน แล้วค่อย ๆ ปล่อยลมหายใจออกมาช้า ๆ หรือจะหายใจแบบ 4-7-8 ซึ่งเป็นวิธีหายใจแบบผ่อนคลาย โดยให้หายใจเข้าไป 4 วินาที กลั้นลมหายใจไว้ 7 วินาที ก่อนจะปล่อยลมหายใจออกช้า ๆ เป็นเวลา 8 วินาทีก็ได้เช่นกัน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
การนอนหลับให้เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย ลดระดับความตึงเครียดลงได้ดี การนอนที่เพียงพอควรนอน 6-8 ชั่วโมงต่อวัน และควรเป็นการนอนที่มีคุณภาพ หลับสนิทตลอดคืน หรือหากตื่นกลางดึกก็สามารถหลับต่อเองได้
- อาการแพนิคเป็นเพียงอาการชั่วคราวที่ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต
ผู้ป่วยควรเข้าใจว่าอาการแพนิคเป็นเพียงอาการชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งอาการแพนิคโดยทั่วไปจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 3-10 นาทีและหายเองได้ ซึ่งอาการจะคงอยู่ชั่วคราวเพียง 10-15 นาทีเท่านั้นหรือในบางรายอาจนานถึง 30 นาที -1 ชั่วโมง แต่จะหายได้เองทุกครั้ง หากมีความกังวลเกี่ยวกับอาการสามารถปรึกษานักจิตวิทยากับจิตแพทย์ได้
- ตั้งสติ
ขณะมีอาการแพนิคต้องรีบตั้งสติไว้ให้ได้ ไม่ปล่อยให้สติหลุดจนควบคุมตัวเองไม่ได้ โดยให้จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น การโฟกัสกับโต๊ะ นาฬิกา ภาพวาดว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร มีสีแบบไหน เพื่อไม่ให้เกิดการโฟกัสกับความคิดของตนเอง หรือหากบรรยากาศภายนอกเป็นสิ่งเร้าที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพนิคให้ทำการหลับตาเพื่อปิดการรับรู้สิ่งเร้าและโฟกัสกับการหายใจของตนเอง
- ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย ขจัดความเครียด และช่วยให้เราสามารถพักผ่อนได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
- หลีกเลี่ยงคาเฟอีนและไม่ใช้สารเสพติด
คาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท และทำให้การเต้นของหัวใจเร็วกว่าปกติ ซึ่งอาจเป็นสิ่งเร้าให้เกิดอาการแพนิคขึ้นง่าย สำหรับผู้ป่วยแพนิคควรจะหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ โกโก้ ชา หรือน้ำอัดลม
นอกจากนี้ยังไม่ควรใช้สารเสพติด หลายคนอาจหันไปพึ่งพานิโคตินจากบุหรี่หรือแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลดอาการเครียด ตื่นตระหนก แต่สิ่งเหล่านี้จะยิ่งทำให้เกิดอาการแพนิคมากขึ้นหากสารกระตุ้นหมดฤทธิ์
- พูดคุยกับผู้ที่อยู่ใกล้ชิด
อาการแพนิคกะทันหันหลายครั้งมักเกิดขึ้นเมื่อเจอสิ่งกระตุ้นเดิม ๆ หรือสถานการณ์กระตุ้นเดิม ๆ หากผู้ป่วยได้บอกให้คนรอบข้างรับรู้ จะช่วยป้องกันการเกิดอาการแพนิคได้ และหากผู้ป่วยเกิดอาการแพนิคขึ้น ผู้คนที่อยู่รอบข้างก็จะสามารถเข้าใจและรับมือกับผู้ป่วยได้ดี
- ค่อย ๆ ปรับตัวกับสิ่งกระตุ้นหรือเหตุการณ์กระตุ้นอาการแพนิค
ไม่หลีกหนีและเข้าเผชิญหน้ากับปัญหา เช่น หากเกิดอาการแพนิคขณะอยู่ในที่มืดก็ค่อย ๆ ปรับตัวอยู่ในที่มืดค่อย ๆ ฝึกอย่างสม่ำเสมอจนสามารถรับมือกับสิ่งกระตุ้นได้เช่นเดียวกับคนปกติ
ปรึกษาจิตแพทย์เรื่องอาการแพนิคหรือปัญหาทางด้านจิตใจอื่น ๆ ที่แอป BeDee สะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ 13 อาการแพนิค
1. โรคแพนิค กับ Panic attack ต่างกันอย่างไร?
อาการแพนิคแอทแท็ค (Panic Attack) มีความแตกต่างจากโรคแพนิค คนที่มีอาการแพนิคแอทแท็คไม่จำเป็นต้องเป็นโรคแพนิคเสมอไป อาการนี้สามารถพบได้ในโรคต่างๆ นอกจากโรคแพนิคได้ เช่น โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder) โรคกลัวสังคม (Social Anxiety Disorder) โรค กลัวเฉพาะอย่าง (Specific Phobia) โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เป็นต้น
นอกจากนี้ อาการแพนิคแอทแท็คยังอาจเป็นจากโรคทางกาย เช่น โรคหอบหืด โรคหัวใจ ความผิดปกติของระดับแคลเซียม ระดับน้ำตาลในเลือด ต่อมไทรอยด์ ต่อมไร้ท่ออื่น ๆ หรือการอยู่ในวัยหมดประจำเดือน เป็นต้น ดังนั้นผู้ที่มีอาการแพนิคแอทแท็คจึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจประเมินโดยแพทย์ เพื่อที่จะได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และรักษาได้ทันท่วงที
2. โรคแพนิคอันตรายไหม?
โรคแพนิคเป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาทอัตโนมัติที่ทำงานผิดปกติ ไม่ได้เกิดจากโรคทางกายอื่น ๆ ดังนั้นโรคนี้ไม่เป็นอันตราย และผู้ป่วยจะไม่เสียชีวิตจากโรคนี้ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรได้รับการตรวจจากแพทย์เพื่อวินิจฉัยแยกโรคทางกายออกก่อนที่จะวินิจฉัยโรคแพนิคจริง ๆ เนื่องจากมีโรคทางกายจำนวนมากที่ทำให้มีอาการแพนิคได้ เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคทางต่อมไร้ท่อ ไทรอยด์ ระดับแคลเซียมผิดปกติ ระดับน้ำตาลผิดปกติ เป็นต้น โรคเหล่านี้หากไม่ได้รับการรักษาอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้ และหมั่นสังเกต 13 อาการแพนิคของตัวเองว่ามีลักษณะอาการเป็นอย่างไร
สรุป 13 อาการแพนิครีบเช็กตัวเองด่วน
ถึงแม้ว่าโรคแพนิคจะไม่ใช้โรคร้ายแรงที่ทำให้อันตรายถึงชีวิตแต่ก็สร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก หากผู้ป่วยจัดการศึกษา 13 อาการแพนิคและฝึกรับมืออาการด้วยตัวเองแล้วพบว่ายังไม่ดีขึ้น สามารถปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพิ่มเติมได้ทันทีที่แอป BeDee
ไม่แน่ใจเรื่อง 13 อาการแพนิคหรือปัญหาด้านจิตเวชอื่น ๆ ปรึกษาหมอออนไลน์ พยาบาล หรือปรึกษาเภสัชกรแบบไม่มีค่าใช้จ่ายที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เรามีจิตแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิก และเภสัชกรพร้อมให้คำปรึกษาและจัดส่งสินค้าถึงมือ เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
พญ.อธิชา วัฒนาอุดมชัย
จิตแพทย์
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
NHS. (2021, February 16). Panic disorder. Nhs.uk. https://www.nhs.uk/mental-health/conditions/panic-disorder/
Cleveland Clinic. (2023, February 12). Panic Attacks & Panic Disorder. Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/4451-panic-attack-panic-disorder
American Psychological Association. (2008). Answers to your questions about panic disorder. Https://Www.apa.org. https://www.apa.org/topics/anxiety/panic-disorder