Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง สารบัญบทความ การดูแลผู้ป่วยกลุ่มจิตเวช ทั้งโรควิตกกังวล, โรคซึมเศร้า หรือ ซึมเศร้าเรื้อรัง และ
ทำความเข้าใจใหม่ ยาแก้อักเสบ ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อ ใช้ผิดระวังผลข้างเคียง
เชื่อว่ามีหลาย ๆ คนอาจเผลอเรียกยาฆ่าเชื้อเป็นยาแก้อักเสบบ้าง หรือยาแก้อักเสบเป็นยาฆ่าเชื้อบ้าง ซึ่งความเป็นจริงแล้วยาแก้อักเสบกับยาฆ่าเชื้อเป็นยาคนละกลุ่มกัน ทั้งองค์ประกอบของยาและการใช้งานก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง หากใช้งานผิดประเภทอาจเกิดผลข้างเคียงอันตรายขึ้นได้ มาทำความรู้จักว่ายาแก้อักเสบคืออะไร ต่างกับยาฆ่าเชื้ออย่างไร มีวิธีกินยาแก้อักเสบและข้อควรระวังอย่างไรบ้าง พร้อมกับตอบคำถามที่คุณอาจสงสัย
ยาแก้อักเสบ คืออะไร?
ยาแก้อักเสบ หรือ ยาต้านการอักเสบ คือตัวยาที่ออกฤทธิ์ระงับหรือลดอาการอักเสบ (inflammation) ภายในร่างกาย ซึ่งกระบวนการอักเสบอาจเกิดขึ้นได้จากการบาดเจ็บหรือการตายของเซลล์ และยังเกิดขึ้นได้จากการถูกกระตุ้นด้วยสิ่งแปลกปลอมที่บุกรุกเข้ามา เช่น จุลินทรีย์ เชื้อก่อโรค เป็นต้น โดยร่างกายมีจุดประสงค์ในการกำจัดสิ่งแปลกปลอมรวมถึงกำจัดเนื้อเยื่อและเซลล์ที่ถูกทำลาย เพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์หรือเนื้อเยื่อนั้น ๆ ทำงานผิดปกติ
อย่างไรก็ตาม กระบวนการอักเสบที่เกิดขึ้นนั้นหากมีมากไปก็อาจทำให้เซลล์อื่น ๆ ถูกทำลายและทำงานผิดปกติไปด้วยเช่นกัน
ดังนั้นการใช้ยาแก้อักเสบจะเข้าไปลดกระบวนการอักเสบที่ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งเร้า ทำให้อาการปวด บวม ร้อน แดง ที่เกิดขึ้นจากการอักเสบลดลงได้ แต่ยาแก้อักเสบไม่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อจึงไม่สามารถใช้ฆ่าเชื้อในผู้ที่มีอาการอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้ โดยตัวยาแก้อักเสบที่ใช้กันสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ดังนี้
1. ยาแก้อักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
ยาแก้อักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroid anti-inflammatory drugs) เป็นยาแก้อักเสบที่นิยมใช้บ่อย ออกฤทธิ์ไว ผลข้างเคียงน้อยกว่ายาแก้อักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ สามารถหาซื้อได้โดยการปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อ ตัวยามีฤทธิ์ลดการอักเสบ บรรเทาอาการปวด บวม ร้อน แดง จากการอักเสบ และสามารถใช้ลดไข้ได้อีกด้วย ยากลุ่มนี้มักใช้ในผู้ที่มีอาการปวดจากการอักเสบของร่างกายที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงอาการปวดศีรษะไมเกรน และอาการปวดประจำเดือน
ตัวอย่างยาที่นิยมใช้ เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen), เมเฟนามิค แอซิด (Mefenamic acid), ไดโคลฟีแนค (Diclofenac), นาพรอกเซน (Naproxen) เป็นต้น
2. ยาแก้อักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid)
ยาแก้อักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ (steroid) เป็นยาแก้อักเสบที่มีทั้งรูปแบบฉีดและรับประทาน ซึ่งมักนิยมใช้เมื่อมีการอักเสบรุนแรงหรือเรื้อรัง ที่เกิดจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่มากเกินไป โดยตัวยาจะไปกดภูมิคุ้มกันและช่วยลดอาการอักเสบที่เกิดขึ้นทั่วร่างกาย แต่ยากลุ่มนี้เป็นยาอันตรายที่มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
ปรึกษาเรื่องยาแก้อักเสบกับเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวันถึงเที่ยงคืน ไม่มีค่าปรึกษา
ยาแก้อักเสบ VS ยาฆ่าเชื้อ เหมือนกันไหม?
จากตารางจะเห็นได้ว่า ยาแก้อักเสบมีฤทธิ์ในการบรรเทาอาการปวด บวม แดง และเป็นไข้จากการอักเสบของร่างกาย แต่สำหรับยาฆ่าเชื้อนั้นจะมีฤทธิ์เพียงการฆ่าเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น โดยตัวยาฆ่าเชื้อจะใช้เมื่อมั่นใจว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อจริงและเป็นการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ไม่ใช่ติดเชื้อจากไวรัส ยาฆ่าเชื้อจำเป็นต้องรับประทานต่อเนื่องจนครบโดส และยังมีผลข้างเคียงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้หากรับประทานไม่ถูกต้องและ ไม่ควรรับประทานโดยไม่จำเป็นเพราะอาจเกิดปัญหาเชื้อดื้อยาได้
สรรพคุณของยาแก้อักเสบ
ยาแก้อักเสบมีสรรพคุณมากมาย ดังนี้
- บรรเทาอาการปวดจากการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ เช่น อาการปวดคอ, อาการปวดไหล่
- บรรเทาอาการปวดข้อ
- บรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน
- บรรเทาอาการปวดฟัน
- บรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรน อาการปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์
- ลดไข้
ยาแก้อักเสบควรรับประทานเมื่อไร?
ก่อนจะเริ่มรับประทานยาแก้อักเสบควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อให้มั่นใจว่าอาการปวด บวม ร้อน แดงนั้นเกิดจากการอักเสบจริง ๆ การรับประทานยาแก้อักเสบจะต้องรับประทานหลังอาหารทันที และดื่มน้ำตามมาก ๆ เนื่องจากตัวยาแก้อักเสบและ Steroids มีฤทธิ์ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหารได้ ในบางรายที่เสี่ยงต่อโรคกระเพาะอาหาร แพทย์อาจพิจารณาให้รับประทานยาลดกรดในกระเพาะอาหารเพื่อป้องกันการระคายเคืองจากยาเพิ่มเติม
ทั้งนี้แนะนำให้รับประทานยาแก้อักเสบในระยะสั้น ควรรับประทานเมื่อมีอาการเท่านั้น และห้ามรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน
ผู้ที่ไม่ควรใช้ยาแก้อักเสบ
ยาแก้อักเสบเป็นกลุ่มยาที่มีผลข้างเคียงต่ออวัยวะหลายส่วนในร่างกาย ทำให้อาจไม่เหมาะในผู้ป่วยบางราย เช่น ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ หรือความดันโลหิตสูง และห้ามใช้ยาแก้อักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์กับผู้ที่มีอาการแพ้ยาแก้อักเสบกลุ่มดังกล่าวมาก่อน รวมถึงกรณีผู้ป่วยเตรียมตัวผ่าตัด หรือมีภาวะเลือดออกผิดปกติ คุณแม่ตั้งครรภ์ และผู้ที่เคยผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ เนื่องจากยาแก้อักเสบกลุ่มนี้ส่งผลให้เกิดภาวะเลือดหยุดไหลยาก ทั้งนี้ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์หากมีความจำเป็นต้องใช้
ผลข้างเคียงของยาแก้อักเสบมีอะไรบ้าง?
- ระคายเคืองในกระเพาะอาหาร เป็นผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ที่ใช้ยาแก้อักเสบ
- แผลในกระเพาะอาหาร หากการระคายเคืองมากเกินไปก็สามารถทำให้เกิดแผลภายในกระเพาะอาหารได้
- อาการบวมน้ำ
- กล้ามเนื้อลีบอ่อนแรง
- ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
- เป็นพิษต่อตับ ทำให้ตับ ไต ทำงานหนักขึ้น
ผลข้างเคียงของยาแก้อักเสบอาจรุนแรงขึ้นหากคุณมีภาวะดังต่อไปนี้
- มีโรคประจำตัว เช่น โรคกรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหาร โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต เป็นต้น
- กำลังตั้งครรภ์หรือกำลังวางแผนมีบุตร
- อายุต่ำกว่า 12 ปี และอายุมากกว่า 65 ปี
- กำลังใช้ยาตัวอื่น โดยเฉพาะยาที่มีส่วนผสมของยาแก้อักเสบอยู่ด้วย
- ภาวะขาดน้ำ
ปรึกษาเรื่องยาแก้อักเสบกับเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวันถึงเที่ยงคืน ไม่มีค่าปรึกษา
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการใช้ยาแก้อักเสบ
- ยาแก้อักเสบจัดเป็นยาอันตราย ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
- ผู้ที่กำลังรับประทานยาตัวอื่นร่วมด้วย ผู้ที่กำลังใช้วิตามิน อาหารเสริม ก่อนใช้ยาแก้อักเสบจำเป็นจะต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง
- ผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น แพ้ยาแก้ปวด โรคเลือดไหลหยุดยาก โรคหัวใจ โรคตับโรคไต โรคความดันโลหิตสูง และโรคประจำตัวอื่น ๆ จะต้องแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนทุกครั้ง
- ควรใช้ยาแก้อักเสบให้ตรงกับอาการ หากมีอาการปวดศีรษะเพียงเล็กน้อยการเลือกใช้ยาแก้ปวดกลุ่มพาราเซตามอลจะเหมาะสมกว่า หรือหากมีอาการอักเสบติดเชื้อก็ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อให้ผลการรักษาเป็นไปอย่างเหมาะสม
การใช้ยาแก้อักเสบอย่างถูกวิธีจะช่วยให้อาการเจ็บป่วยหายเร็วขึ้นโดยที่ได้รับผลข้างเคียงจากยาน้อยที่สุด
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับยาแก้อักเสบ
1. ยาแก้อักเสบควรรับประทานก่อน หรือหลังอาหาร?
ยาแก้อักเสบเป็นยาที่จำเป็นต้องรับประทานหลังมื้ออาหารทันที เนื่องจากมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการระคายเคืองกระเพาะอาหาร
2. ห้ามรับประทานยาแก้อักเสบกับอะไร?
ห้ามรับประทานยาแก้อักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์คู่กับยาแก้อักเสบชนิดสเตียรอยด์ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยารักษาอาการซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิต เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
3. ยาแก้อักเสบกินได้นานแค่ไหน?
กรณีที่กินยาแก้อักเสบเพื่อลดไข้ ไม่ควรจะใช้ยาติดต่อกันนานเกิน 3 วัน และสำหรับผู้ที่กินยาแก้อักเสบเพื่อลดการอักเสบ บรรเทาอาการปวด ไม่ควรจะใช้ยาติดต่อกันนานเกิน 10 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของยาและความรุนแรงของโรค หากใช้ยาแก้อักเสบแล้วอาการต่าง ๆ ยังไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์
สรุปยาแก้อักเสบ
ยาแก้อักเสบเป็นยาที่ใช้รักษาอาการอักเสบภายในร่างกาย ไม่ว่าจะเกิดจากการติดเชื้อหรือเกิดจากการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อและเซลล์ก็ตาม แต่ยาแก้อักเสบไม่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ จึงไม่สามารถใช้ทดแทนยาฆ่าเชื้อได้ หากมีอาการอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย จำเป็นต้องได้รับยาฆ่าเชื้อเพื่อรักษาปัญหาที่ต้นเหตุ เพื่อความปลอดภัยไม่ควรใช้ยาแก้อักเสบหรือยาฆ่าเชื้อด้วยตนเอง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง
ปรึกษาหมอออนไลน์ พยาบาล หรือปรึกษาเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เรามีแพทย์ พยาบาล และเภสัชกรพร้อมให้คำปรึกษาและจัดส่งสินค้าถึงมือ เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
ภญ.วรรณพร เกตุเลิศประเสริฐ
เภสัชกร
Anti-inflammatory medicines (NSAIDs). (n.d.). Healthdirect. https://www.healthdirect.gov.au/anti-inflammatory-medicines
Cleveland Clinic medical professional. (2020, January 20). Corticosteroids. Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/drugs/4812-corticosteroids
Ghlichloo I, Gerriets V. (2023, May 1). Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs (NSAIDs). In: StatPearls [Internet]. StatPearls Publishing. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK547742/